เช็ค 'เงินประกันรายได้เกษตรกร' ข้าว-ยางพารา-ข้าวโพด เงื่อนไขเป็นอย่างไร ที่เดียวครบ!

เช็ค 'เงินประกันรายได้เกษตรกร' ข้าว-ยางพารา-ข้าวโพด เงื่อนไขเป็นอย่างไร ที่เดียวครบ!

รวมมิตรโครงการ "ประกันรายได้เกษตรกร" ข้าว ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ใครได้สิทธิ์บ้าง? มีหลักเกณฑ์อย่างไร?

หนึ่งมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรจากภาครัฐที่ทุ่มงบลงมา หวังช่วยเหลือให้เกษตรกรทั้งผู้ปลูกข้าว ยางพารา และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีรายได้ และป้องกันความเสี่ยงด้านราคา และไม่ให้ประสบปัญหาขาดทุน นั่นคือ "ประกันรายได้เกษตรกร" โดยโครงการนี้ครอบคลุมเกษตรกรทั้งผู้ปลูกข้าว ยางพารา และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยมีรายละเอียดดังนี้

   

ประกันรายได้เกษตรกร "ข้าว"

มาตรการประกันราคาข้าวให้ชาวนา เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรภายใต้กรอบวงเงิน 1.8 หมื่นล้านบาท ครอบคลุมเกษตรกร 4.5 ล้านราย 
โดยเป็นการจ่ายเงินช่วยเหลือผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรงตามช่วงระยะเวลาที่กำหนด (ภายใน 3 วันทำการ) นับตั้งแต่วันที่คณะอนุกรรมการฯ กำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงในแต่ละรอบ

เกษตรกรที่มีสิทธิเข้าร่วมโครงการ ต้องมีคุณสมบัติดังนี้

  • ต้องขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2563/64 (รอบที่ 1) กับกระทรวงเกษตรฯและสหกรณ์ ที่ปลูกข้าวระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 31 ตุลาคม 2563 ยกเว้นภาคใต้ ต้องเป็นผู้ปลูกข้าวระหว่างวันที่ 16 มิถุนายน 2563 – 28 กุมภาพันธ์ 2564
  • เข้าร่วมโครงการได้แปลงละ 1 ครั้งเท่านั้น 
  • - ต้องแจ้งวันที่คาดว่าจะเก็บเกี่ยว เพื่อใช้เป็นข้อมูลช่วงเวลาที่เกษตรกรจะได้รับเงินชดเชย

อ่านข่าว :  ตรวจสอบเงินประกันรายได้เกษตร จ่ายส่วนต่าง 'ประกันราคาข้าว' งวดแรก เช็คที่นี่

สำหรับหลักเกณฑ์ของประกันรายได้ข้าวนั้น ครอบคลุม 5 ชนิด โดยต้องมีความชื้นไม่เกิน 15% ได้แก่

1. ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันตันละ 15,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 14 ตัน
2. ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันตันละ 14,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 16 ตัน
3. ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันตันละ 10,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ตัน
4. ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันตันละ 11,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 25 ตัน
5. ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันตันละ 12,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 16 ตัน

ประกันรายได้เกษตรกร "ยางพารา"

สำหรับโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา ครั้งนี้เป็นระยะที่ 2 วงเงินโครงการรวม 10,042 ล้านบาท ครอบคลุมพื้นที่ปลูกยางพาราราว 18 ล้านไร่ และเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราจะได้รับประโยชน์กว่า 1.8 ล้านราย 

อ่านข่าว ​: เช็คด่วน! 'ประกันรายได้ยางพารา' โอนงวดแรก 26 พ.ย.นี้

ทั้งนี้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จะทำการตรวจสอบและรับรองสิทธิ ประมวลผลส่งไปยัง ธ.ก.ส. เพื่อโอนเงินให้เกษตรกรโดยตรง ส่วนระยะเวลาโครงการ เดือนกันยายน 2563 - กันยายน 2564 (ประกันรายได้ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 - 1 มีนาคม 2564) ซึ่งคาดว่าจะสามารถจ่ายเงินประกันรายได้งวดแรกประมาณต้นเดือนธันวาคม 2563

โดยมีรายละเอียดคุณสมบัติเกษตรกรไว้ดังนี้

  • เกษตรกรต้องขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลพื้นที่การปลูกยางกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2563
  • สวนยางพาราต้องมีอายุ 7 ปีขึ้นไป ที่เปิดกรีดแล้ว รายละไม่เกิน 25 ไร่
  • โดยจะต้องมีการแบ่งสัดส่วนรายได้รายได้เป็น เจ้าของสวนยาง 60% และคนกรีด 40% ของรายได้ทั้งหมด หากเจ้าของสวนยางกรีดเอง จะได้รับส่วนต่างประกันรายได้ทั้งจำนวน

ขณะที่ หลักเกณฑ์ ประกันรายได้ยาง 3 ชนิด ได้แก่

1.ยางแผ่นดิบคุณภาพดี ราคา 60 บาทต่อกิโลกรัม
2.น้ำยางสด (DRC 100%) ราคา 57 บาทต่อกิโลกรัม
3.ยางก้อนถ้วย (DRC 50%) ราคา 23 บาทต่อกิโลกรัม

โดยกำหนดปริมาณผลผลิตยางที่จะประกันรายได้ คือ ผลผลิตยางแห้ง (DRC 100%) จำนวนไม่เกิน 20 กิโลกรัม/ไร่/เดือน และผลผลิตยางก้อนถ้วย (DRC 50%) จำนวนไม่เกิน 40 กิโลกรัม/ไร่/เดือน 

ประกันรายได้เกษตรกร "ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์"

ขณะเดียวกันอีกหนึ่งมาตรการที่ช่วยเหลือเกษตรกร คือ โครงการประกันรายได้เกษตรกรสำหรับผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2563/64 ซึ่งมีการกำหนดว่าจะต้องเป็นข้าวโพดที่มีความชื้น 14.5% ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั่วประเทศ ยกเว้นพื้นที่ที่แจ้งขึ้นทะเบียนปลูกเพื่อเป็นเมล็ดพันธุ์ 

อ่านข่าว : เช็ครายละเอียด ธ.ก.ส.จ่ายเงิน 'ประกันรายได้เกษตรกร' ผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เริ่ม 20 พ.ย.

หลักเกณฑ์เบื้องต้นคือ เกษตรกรต้องขึ้นทะเบียนปลูกข้าวฌพดเลี้ยงสัตว์กับกรมส่งเสริมการเกษตร โดยมีวันเพาะปลูกตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 - 31 พฤษภาคม 2564 รวมถึงต้องเป็นเกาตรกรผู้ปลูกข้าวโพดด้วยตัวเองและกรรมสิทธิ์เป็นของเกษตรกร 

โดยกำหนดราคาประกันรายได้อยู่ที่ 8.50 บาทต่อกิโลกรัม ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่ และไม่ซ้ำแปลง ซึ่งจะเริ่มจ่ายชดเชยได้ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2563 และจ่ายต่อไปทุกวันที่ 20 ของเดือน เป็นระยะเวลา 12 เดือน ซึ่งเกษตรกรสามารถตรวจสอบการโอนเงินได้ผ่านทางแอปพลิเคชัน ธ.ก.ส. A-Mobile ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ