สบส.เผยรายได้ 4 เดือนจากสถานที่กักกันโควิดแบบASQ-ALQ

สบส.เผยรายได้ 4 เดือนจากสถานที่กักกันโควิดแบบASQ-ALQ

อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เผยผลการดำเนินการสถานกักกันโรคแห่งรัฐทางเลือก ช่วง 4 เดือน สร้างรายได้เข้าประเทศมากกว่า 1,200 ล้านบาท ย้ำทุกแห่งต้องคงมาตรฐานใน 6 หมวด หากพบแห่งใดหย่อนมาตรฐานมีโทษตั้งแต่ลดจำนวนห้องพักหรือสั่งพักการให้บริการ

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสุนนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศสามารถเดินหน้า ควบคู่ไปกับการดูแล ป้องกัน มิให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออันตรายนั้น สถานกักกันโรคแห่งรัฐทางเลือก (Alternative State Quarantine - ASQ) ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล และสถานที่ควบคุมโรคทางเลือกในระดับจังหวัด (Alternative Local Quarantine - ALQ) จึงเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการ และประเทศไทย ซึ่งในช่วง 4 เดือนที่มีการดำเนินโครงการฯ ASQ และ ALQ ก็สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศมากกว่า 1,200 ล้านบาท

โดยการประยุกต์โรงแรมสู่
ASQ และ ALQ จะต้องผ่านการตรวจมาตรฐานอย่างรัดกุมใน 6 หมวด จากกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงกลาโหม ซึ่งประกอบด้วย 1.โครงสร้างอาคารและวิศวกรรม : มีสภาพอาคาร ระบบความปลอดภัยพร้อมใช้งาน แต่ละห้องพักมีระบบปรับอากาศแยกส่วน มีระบบสื่อสารทางไกลทางการแพทย์ (Telemedicine) 2.บุคลากร : มีพยาบาลอยู่ประจำ 24 ชั่วโมง มีแพทย์ให้คำปรึกษากับผู้เข้าพักผ่านระบบการแพทย์ทางไกล 3.วัสดุ อุปกรณ์สำนักงานและอื่นๆ : มีวัสดุอุปกรณ์สำหรับผู้ปฏิบัติงาน และสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้เข้าพักอย่างเพียงพอ

4.เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล
: มีเวชภัณฑ์ อาทิ แอลกอฮอล์เจล หน้ากากอนามัย ปรอทวัดไข้ ฯลฯ พร้อมให้บริการ 5.การจัดการสิ่งแวดล้อมและเป็นมิตรกับชุมชน : มีระบบการจัดการขยะติดเชื้อ/บำบัดน้ำเสียที่ได้มาตรฐาน อีกทั้งก่อนจะได้รับการอนุญาตให้จัดตั้งเป็นสถานกักกันฯ จะต้องมีการสร้างความเข้าใจและให้การยอมรับจากชุมชนโดยรอบ 6.โรงพยาบาลคู่สัญญาปฏิบัติการร่วมและความสะดวกสบายเพิ่มเติม

และ
ในส่วนของการพัฒนามาตรฐานของสถานกักกันฯในขั้นต่อไปนั้น คณะกรรมการฯ ก็ได้มีมติให้เข้มงวดและวางมาตรการให้ชัดเจนสำหรับประชาชนผู้เข้ากักกัน ในการใช้พื้นที่ผ่อนคลายและพื้นที่ออกกำลังกายเพื่อไม่ให้ผู้เข้ากักตนเกิดความเครียด โดยแบ่งผู้เข้ากักกันออกเป็น 4 ประเภทตามความเสี่ยงของประเทศต้นทางสำหรับการเข้าใช้พื้นที่อนุโลม และผู้เข้ากักตนรวมถึงผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามมาตรการอย่างรัดกุม ให้มีความปลอดภัย ไม่แพร่โรคระบาดสู่บุคคลอื่น โดยมีการออกการติดตามประเมินผลสถานกักกันโรคแห่งรัฐทางเลือกเป็นระยะจากคณะกรรมการผู้อนุมัติ

ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวต่อว่า ในส่วนของพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล พนักงานเจ้าหน้าที่ของกรม สบส.จะเป็นผู้ประเมินโรงแรมที่สมัครเข้าร่วมเป็น ASQ และในส่วนภูมิภาคเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งพิจารณาอนุมัติโดยคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดจะเป็นผู้ประเมินโรงแรมที่สมัครเข้าร่วมเป็น ALQ โดยขณะนี้มี ASQ ที่ผ่านการอนุมัติจำนวน 108 แห่ง และ ALQ ที่ผ่านการอนุมัติจำนวน 32 แห่ง สามารถตรวจสอบรายชื่อสถานกักกันโรคแห่งรัฐทางเลือกทั้ง ASQ และ ALQ ที่ผ่านการอนุมัติได้ที่หน้าเว็บไซต์ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินโควิด-19 กรม สบส. (http://www.hsscovid.com)

ทั้งนี้ หากพบว่า
ASQ หรือ ALQ แห่งใดหย่อนมาตรฐาน ทางคณะกรรมการผู้อนุมัติจะมีการสั่งการให้ลดจำนวนห้องพักหรือสั่งพักไม่ให้โรงแรมเปิดให้บริการ แล้วแต่กรณีความผิด หากทุกแห่งมีการรักษามาตรฐานอย่างเคร่งครัด ก็จะเป็นส่วนช่วยป้องกันมิให้เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 และสร้างความเชื่อมั่นให้พี่น้องประชาชนในภาพรวม ที่สำคัญยังเป็นช่องทางในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ ดึงรายได้เขาสู่ประเทศอีกทางหนึ่ง