ครม.วุ่นแผนรถไฟฟ้าป่วน ยื้อต่อสัญญา BTS

ครม.วุ่นแผนรถไฟฟ้าป่วน ยื้อต่อสัญญา BTS

ครม.ตีกลับต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวอีกรอบ หลังมหาดไทยชงวาระเข้าพิจารณา “กฤษฎีกา” ห่วงขัด พ.ร.บ.ร่วมทุน “กรมราง” ระบุค่าโดยสารต่ำกว่า 65 บาทได้

การต่ออายุสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส ยืดเยื้อมากว่า 1 ปี หลังจากคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.) เห็นชอบเมื่อเดือน พ.ย.2562 และมีการเสนอ ครม.พิจารณาหลายครั้งแต่ถูกตีกลับ รวมถึงการประชุมล่าสุดวานนี้ (17 พ.ย.) ที่ ครม.ตีกลับอีกครั้ง

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า การประชุม ครม.วานนี้ (17 พ.ย.) นายอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เสนอร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้ ครม.พิจารณาเป็นวาระจร

ร่างสัญญาดังกล่าวกรุงเทพมหานครจะขยายสัมปทานให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส ในฐานะผู้บริการรายเดิมต่ออีก 30 ปี จากเดิมที่สิ้นสุดปี 2572 เป็นสิ้นสุดปี 2602 และให้คิดอัตราค่าโดยสารไว้ที่ 65 บาทตลอดสาย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : เตรียมหยุดเดิน 'รถไฟฟ้า' สายสีเขียว ส่วนต่อขยาย กทม. อ่วม! แบกหนี้ 'บีทีเอส' 8 พันล้าน!

“เมื่อถึงการนำเสนอเรื่องนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานได้แสดงความเห็นหลากหลายทั้งกระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยหน่วยงานส่วนใหญ่ที่คัดค้านการนำวาระนี้เข้ามาสู่การพิจารณาระบุว่ายังไม่ได้ให้ความเห็นประกอบการพิจารณาของ ครม.อย่างครบถ้วนทำให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรีขอนำวาระนี้ออกก่อนแล้วจะขอความเห็นให้ครบถ้วนก่อนจะบรรจุเข้าสู่การประชุม ครม.อีกครั้ง”แหล่งข่าว กล่าว

“กฤษฎีกา”ห่วงขัด พรบ.ร่วมทุน

สำหรับการถกเถียงส่วนใหญ่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ซึ่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีการะบุว่าการต่อสัญญาสัมปทานออกไปอาจขัดข้อกฎหมาย ขณะที่กระทรวงมหาดไทยยืนยันว่าเรื่องนี้ได้ส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความแล้ว 4 รอบ ถ้าต้องส่งไปอีกจะเป็นครั้งที่ 5 ไม่รู้จะได้ข้อสรุปหรือไม่

นอกจากนี้กรมการขนส่งทางรางได้พิจารณาข้อเท็จจริงแล้วแล้วจึงขอเสนอความเห็นเพิ่มเติมประกอบการพิจารณาว่า จากคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ได้ยกเว้นการหลักการ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน แต่ไม่ได้ให้ยกเว้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับวินัยการเงินการคลัง

"กรมราง"ตั้งคำถามที่มาค่าโดยสาร

ขณะเดียวกันกรุงเทพมหานคร (กทม.) และบีทีเอสไม่สามารถหาที่มาของการจัดเก็บค่าโดยสารที่ 65 บาทตลอดสาย เพื่อแลกสัญญาสัมปทานได้ว่ามีที่มาจัดเก็บค่าโดยสารอย่างไร และมีการวิเคราะห์โครงการในเชิงผลประโยชน์ตอบแทนทางเศรษฐกิจ (ERR) และอัตราผลตอบแทนทางด้านการเงิน (FRR) รวมทั้งแหล่งที่มาของเงินทุน ปริมาณผู้โดยสาร และราคาค่าโดยสารที่เหมาะสมและเป็นธรรมกับประชาชนอย่างไร

ส่วนประเด็นอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมเป็นธรรมแก่ประชาชนผู้ใช้บริการ ปรากว่าร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวมีระยะทาง 15 กิโลเมตร กำหนดให้มีอัตราค่าโดยสารไม่เกิน 65 บาทตลอดสาย ซึ่งเมื่อมีการเปรียบเทียบกับอัตราค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินในปัจจุบันมีราคาค่าโดยสารที่สูงกว่า ขณะที่มีระยะทางให้บริการถึง 50 กิโลเมตร แต่เก็บค่าโดยสารเพียง 42 บาท 

ดังนั้นกระทรวงคมนาคมเห็นว่าการคิดอัตราค่าโดยสารควรที่จะมีความเหมาะสมและเป็นธรรมแก่ประชาชนผู้ใช้บริการ และจากการศึกษาพบว่าปัจจุบันผู้มีรายได้น้อยต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางรถไฟฟ้า 130 บาทต่อวัน ซึ่งคิดเป็น 35% ของค่าแรงขั้นต่ำ ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบราคาค่าโดยสารระหว่างสายสีน้ำเงินในปัจจุบันกับสายสีเขียวที่จะหมดสัญญาสัมปทานระหว่างบีทีเอสกับภาครัฐจะหมดลงในอีก 9-10 ปีข้างหน้า จึงไม่มีความจำเป็นที่จะขยายสัญญาสัมปทานให้เอกชนอีก 30 ปี

ชี้ค่าโดยสารต่ำกว่า65บาทได้

ทั้งนี้ จากเงื่อนไขร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ควบคุมอัตราค่าโดยสารไม่เกิน 65 บาทตลอดสาย โดยกระทรวงมหาดไทยใช้ข้อมูลปี 2562 เป็นฐานในการเปรียบเทียบและคำนวณ ซึ่งกรมขนส่งทางรางเห็นว่าในอนาคตเมื่อปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้น ประกอบกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวเป็นเส้นทางหลักของเส้นทางรถไฟฟ้าสายอื่น ย่อมส่งผลให้ลดค่าโดยสารลงได้มากกว่า 65 บาท 

ดังนั้น การควบคุมอัตรค่าโดยสารไม่เกิน 65 บาทตลอดสาย จึงถือเป็นการดำเนินการที่สมควรวิเคราะห์ต้นทุนที่แท้จริงเป็นหลักและลดหรืองดกรณีการเชื่อมต่อค่าแรกเข้า กำหนดเป็นเงื่อนไขเมื่อมีการเดินทางเปลี่ยนสายทางเพื่อลดภาระให้แก่ประชาชนด้วย

นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางรางระบุว่า จากการพิจารณาอัตราค่าโดยสารเมื่อเปรียบเทียบกับรถไฟฟ้าสายอื่น พบว่า ปัจจุบันสายสีเขียว เปิดให้บริการมากว่า 20 ปี ซึ่งผ่านจุดคุ้มทุนแล้ว มีผู้โดยสาร 800,000-1,00,000 คนต่อวัน (สถิติประมาณการก่อนวิกฤติโควิด) และมีอัตราค่าโดยสารไม่เกิน 65 บาทตลอดสาย

ขณะที่สายสีน้ำเงินมีผู้โดยสาร 300,000 คนต่อวัน และมีค่าโดยสารไม่เกิน 42 บาทตลอดสาย แต่ยังดำเนินกิจการได้จึงเห็นว่ารถสายสีเขียวกำหนดราคาค่าโดยสารที่เป็นธรรมและถูกลงกว่า 65 บาทได้