“เฟรเซอร์ส โฮม”พลิกเกมสู่“ซิตี้โฮม” จับกำลังซื้อตลาดกลาง-บน

“เฟรเซอร์ส โฮม”พลิกเกมสู่“ซิตี้โฮม”   จับกำลังซื้อตลาดกลาง-บน

จากวิกฤติโควิด19 ทำให้หนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้น สวนทางกำลังซื้อโดยเฉพาะระดับฐานรากยังคงชะลอตัว ส่งผลให้ “การปฏิเสธสินเชื่อที่อยู่อาศัย” สูงขึ้น เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮม ปรับแผนขยายพอร์ตซิตี้โฮม -คอนโดระดับลักชัวรี่ ดักกำลังซื้อกลาง-บน

หลังจากการควบรวมกิจการระหว่าง “บริษัทแผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ โกลเด้นแลนด์”และ “เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย” เข้าด้วยกัน ทำให้เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย กลายเป็นอสังหาริมทรัพย์ครบวงจรของประเทศไทย ครอบคลุมอสังหาริมทรัพย์ทั้ง 3 ประเภท คือ อสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัย อุตสาหกรรม และพาณิชยกรรม โดยมีมูลค่าทรัพย์สินรวมกว่า 100,000 ล้านบาท ภายใต้การกุมบังเหียนของ “ปณต สิริวัฒนภักดี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด

“แสนผิน สุขี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮม (ประเทศไทย) ในกลุ่มเฟรเซอร์สฯ ดูแลกลุ่มธุรกิจที่อยู่อาศัย กล่าวว่า ปัจจุบันมีโครงการที่พักอาศัยรวม 60 โครงการ ครอบคลุมทุกระดับราคา ตั้งแต่ 2 ล้านบาท จนถึง 100 ล้านบาท ภายใต้แบรนด์ “โกลเด้น” มีความแข็งแกร่งมากขึ้นทั้งแบรนด์ เงินทุน ที่เข้ามาสนับสนุนหลังจากเข้ามาอยู่ภายใต้เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ทำให้สามารถเพิ่มพอร์ตสินค้าหลากหลายขึ้นไม่ว่าจะเป็นซิตี้โฮมและคอนโดมิเนียม

อย่างไรก็ตาม จากวิกฤติโควิด19 ทำให้หนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้น สวนทางกำลังซื้อโดยเฉพาะระดับฐานรากยังคงชะลอตัว ส่งผลให้ “การปฏิเสธสินเชื่อที่อยู่อาศัย” ในภาพรวมปรับตัวสูงขึ้น ล่าสุดลูกค้าบริษัทมียอดการปฏิเสธสูงขึ้นเป็น 32% จากเดิม 30% ด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้นักพัฒนาอสังหาฯหลายราย รวมทั้งเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮม ขยับพอร์ตสินค้าเพื่อจับกลุ่มกลาง-บนมากขึ้น เนื่องจากยังเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ

โดยเฉพาะการเปิดตลาด “ซิตี้โฮม” ในรูปแบบบ้านแฝด หรือบ้านเดี่ยว 3 ชั้น ระดับราคา 15-40 ล้านบาท จำนวน 2 โครงการเพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าที่เคยอยากซื้อคอนโดมิเนียมลักชัวรี่ทำเลในเมือง เริ่มอยากได้บ้านในเมืองมากกว่าคอนโดมิเนียมหลังจากเกิดโควิด-19 เพื่อรองรับไลฟ์สตล์การทำงานบ้านเพิ่มขึ้น รวมถึงคอนโดมิเนียมระดับลักชัวรี่ในปี 2564 อีก1-2โครงการ

“ในปี2564เศรษฐกิจปีน่าจะเติบโตกว่าปีนี้ แต่ตลาดยังแข่งขันสูง โปรโมชั่นยังคงดุเดือด เพราะทุกบริษัทต้องการเติบโต ดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต่ำ จะเป็นตัวส่งเสริมความต้องการซื้ออย่างต่อเนื่องขณะที่ หนี้สินครัวเรือนยังคงสูง “

นอกจากนี้ สถานการณ์โควิด-19 ยังทําให้เกิดความไม่แน่นอน ทําให้ลูกค้าเกิดการชะลอซื้อ สภาวะแบบนี้ ผู้ประกอบการจึงต้องมีความรอบคอบและแม่นยำในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ต้องปรับตัวและตอบรับให้ทันกับทุกสถานการณ์ เป็นยุคของมืออาชีพอย่างแท้จริง

สำหรับแผนธุรกิจในปี 2564 บริษัทวางแผนเปิดโครงการใหม่ 27โครงการ มูลค่า 35,000ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการทาวน์โฮม 9 โครงการ มูลค่า 9,700 ล้านบาท โครงการนีโอ โฮม บ้านแฝด 5 โครงการ มูลค่า 7,000 ล้านบาท โครงการบ้านเดี่ยว 7 โครงการ มูลค่า 11,000 ล้านบาท และโครงการต่างจังหวัด 3 โครงการ มูลค่า 2,100 ล้านบาท คอนโด5,000 ล้านบาท

โดยกลุ่มทาวน์โฮม ขยายไปในทำเลใหม่ ทีที่มีศักยภาพและออกแบบฟังก์ชั่นเด่น นีโอ โฮม เป็นบ้านแฝด ที่เน้นทำเลใกล้เมือง ฟังก์ชั่นระดับบ้านเดี่ยว และราคาไม่แพง ขณะที่บ้านเดี่ยว ออกผลิตภัณฑ์ที่มีความหรูหรา ให้เป็นที่รู้จักในตลาดต่างจังหวัด เน้นทําเลในเมืองสำหรับโครงการต่างจังหวัดนอกจากนี้ ยังจะพัฒนาออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ครอบคลุมทุกเซ็กเมนต์ ทุกระดับความต้องการของลูกค้า

ในปี2564 บริษัทตั้งเป้ารายได้ 16,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับปีนี้ มีสัดส่วนรายได้จากทาวน์โฮม 42% นีโอ โฮม บ้านแฝด 23% บ้านเดี่ยว 21% และโครงการต่างจังหวัด 14% โดยมีแผนจัดซื้อที่ดินประมาณ 20 แปลง ในงบประมาณ 10,720 ล้านบาท

ในส่วนของพันธกิจของบริษัท ยังคงตั้งเป้าหมายาภายใน 3 ปี(2564-2566) จะก้าวขึ้นเป็นอันดับ 3 ของผู้นำตลาดอสังหาฯ ด้านรายได้และเป็นแบรนด์ทาวน์โฮมที่อยู่ในใจของลูกค้าอันดับต้นๆและเป็นอันดับที่ 1 ในการทำบ้านแฝด ภายใต้แบรนด์นีโอ โฮมพร้อมกับเป็นผู้นำตลาดต่างจังหวัดด้านยอดขายสูงสุด

สำหรับผลการดำเนินงานในเดือน ม.ค.-ก.ย. ปีนี้ มียอดรับรู้รายได้ 10,894 ล้านบาท ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจในสถานการณ์ โควิด-19 คาดว่าจะมียอดรับรู้รายได้ในปีนี้ 15,000 ล้านบาททั้งนี้ในไตรมาสที่ 4 ปีนี้ บริษัทได้เปิดโครงการใหม่ 3 โครงการ ได้แก่นีโอ โฮม บ้านแฝด 2 โครงการ และทาวน์โฮม 1 โครงการ มูลค่ารวม 3,050 ล้านบาท