หัวเว่ยทุ่ม 700 ล.ปักธงดาต้าเซ็นเตอร์ในไทยปี 64

หัวเว่ยทุ่ม 700 ล.ปักธงดาต้าเซ็นเตอร์ในไทยปี 64

รับเทรนด์เอไอ ไอโอที 5จี

หัวเว่ย หนุนไทยสู่ผู้นำในภูมิภาค ช่ี้ทำธุรกิจมา 21 ปีเห็นศักยภาพรอบด้าน ระบุปีนี้ฉีดเม็ดเงินเข้าอุตฯอีก 700 ล้านบาท สร้าง ดาต้า เซ็นเตอร์ อีกแห่งรองรับเทรนด์เทคโนโลยีและช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล ชี้ภายในปี 2573 จะมีสัดส่วนจีดีพีถึง 30% ด้านดีอีเอสเอาด้วยผุดไอเดียให้ทีโอที-กสทฯสร้างดาต้าเซ็นเตอร์รองรับทราฟฟิกจากอีอีซี

นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัททำธุรกิจอยู่ในประเทศไทยมานานกว่า 21 ปี ได้มองเห็นศักยภาพของประเทศไทยที่ค่อนข้างได้เปรียบกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เนื่องจากประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการนำเทคโนโลยีคลาวด์,เอไอ,และ 5จี มาประยุกต์ใช้เป็นอันดับต้น ๆ ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีพื้นฐานที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจดิจิทัล ดังนั้น หัวเว่ย ยังคงลงทุนในประเทศไทยต่อเนื่อง ซึ่งภายในปี 2564 หัวเว่ยเตรียมเงินลงทุนอีก 700 ล้านบาท ในการสร้าง ดาต้า เซ็นเตอร์ เพิ่มอีก 1 แห่ง ช่วยสร้างมูลค่าที่จะเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีที่เป็นเทรนด์ในอนาคต

อย่างไรก็ดี เพื่อทำให้วิสัยทัศน์ดังกล่าวเป็นจริง ทางหัวเว่ยจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยให้เกิดความเป็นเลิศใน 4 ด้านหลัก และจะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจดิจิทัลมีสัดส่วนในจีดีพีของประเทศไทยมากถึง 30% ภายใน พ.ศ. 2573 อันได้แก่ 1.Connectivity Excellence Hub การผลักดันเทคโนโลยีโครงข่าย 5จีและเครือข่ายอัลตราบรอดแบนด์เพื่อเป็นศูนย์กลางด้านโครงข่ายการเชื่อมต่อ 2. Data Center Excellence Hub สรรค์สร้างความเป็นเลิศด้านคลาวด์และแพลตฟอร์มดิดิทัลผ่านการสร้างศูนย์ข้อมูลในประเทศไทยเพื่อให้บริการด้าน CLOUD กับองค์กรในประเทศไทยโดยเฉพาะ 

3.Digital Ecosystem Excellence Hub ผ่านโครงการ 5จีและศูนย์นวัตกรรมในนิคมอุตสาหกรรมในอีอีซี และ4. ICT Talent Excellence Hub ผ่านโครงการสนับสนุนทรัพยากรบุคคลด้านไอซีที ในประเทศไทย เพื่อ อาทิเช่น โครงการ Huawei Academy หรือโครงการการจับมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในไทย เพื่อเพิ่มบุคลากรด้านไอซีทีรวมทั้งเพิ่มศักยภาพของแรงงานด้าน 

ด้านนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า กระทรวงได้มอบหมายให้บมจ.ทีโอทีศึกษาแผนธุรกิจในการสร้าง ดาต้า เซ็นเตอร์ ในพื้นที่ อีอีซี รองรับความต้องการของลูกค้าในพื้นที่ด้วย หลังจากที่เมื่อวันที่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมาทีโอที ได้ลงนามความร่วมมือในการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมในพื้นที่อีอีซี ซึ่งทีโอที ต้องคิดแผนและวางงบประมาณของตนเองว่าจะทำอย่างไรบ้าง ขณะที่บมจ.กสท โทรคมนาคมมีหน้าที่ในการทำดาต้า เซ็นเตอร์ ภาครัฐ แล้ว ซึ่งมีงานที่ต้องทำมากอยู่แล้ว และเมื่อทั้ง ทีโอที และ กสท โทรคมนาคม รวมกันเป็น บริษัท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที ก็จะทำให้ดาต้า เซ็นเตอร์ของเอ็นที พร้อมให้บริการ 3 แห่ง คือ ของทีโอที 1 แห่ง และ ของ กสท โทรคมนาคม 2 แห่ง

“ตอนนี้รัฐบาลต้องเร่งวางโครงสร้าง 5จี ให้เร็วที่สุุด แม้ว่าประเทศไทยคือประเทศที่ประมูล 5จี ก่อน แต่หากไม่รีบทำให้เกิดเป็นรูปธรรม อาจถูกประเทศเพื่อนบ้านแซงได้ จึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมกระทรวงดีอีเอส ต้องให้ ทีโอที และ กสท โทรคมนาคม ประมูลคลื่น 5จี หากไม่ประมูล 5จี จะทำให้ผู้ให้บริการ 5จี ตกอยู่ในมือเอกชนทั้งหมด และเมื่อต้องการใช้งานเพื่อประโยชน์ของสังคม จึงต้องให้ ทั้งสองหน่วยงานนี้ดำเนินการ”

เขา เสริมว่า สำหรับการใช้งานฐานข้อมูลหรือบิ๊ก ดาต้าให้เป็นประโยชน์ รัฐบาลได้พัฒนาระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC) เพื่อทำหน้าที่ปกป้องข้อมูลของประชาชน รวมถึงการออก พ.ร.บ.การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลคลาวด์กลางของภาครัฐ ซึ่งจะรวบรวมข้อมูลของรัฐทั้งหมดเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์เพื่อให้บริการ ตั้งแต่ปี 2564 ข้อมูลของรัฐจะมาอยู่ที่ GDCC ทั้งหมด ปัจจุบันมีการขอใช้งานแล้วกว่า 22,000 วีเอ็มมากกว่าที่ประมาณการไว้ที่ 8,000 วีเอ็ม