'ธนาคารกรุงไทย' พ้นสภาพ 'รัฐวิสาหกิจ' เช็คสถานะ ส่องประวัติ และผู้ถือหุ้นใหญ่

'ธนาคารกรุงไทย' พ้นสภาพ 'รัฐวิสาหกิจ' เช็คสถานะ ส่องประวัติ และผู้ถือหุ้นใหญ่

เปิดข้อมูลล่าสุด "ธนาคารกรุงไทย" พ้นสภาพ "รัฐวิสาหกิจ" เช็คสถานะ ส่องประวัติ และผู้ถือหุ้นใหญ่

กลายเป็นกระแสความสนใจของประชาชน กรณี ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งผลจาก สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่า ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ไม่มีลักษณะเป็นบริษัทหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่เป็นรัฐวิสาหกิจ 

ต่อมา ธนาคารกรุงไทย ยื่นหนังสือแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า กำลังศึกษาผลความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ในประเด็นด้านคุณสมบัติของกรรมการและผู้บริหารสูงสุดของธนาคารจนได้ข้อยุติว่า โดยผลของความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ประกอบกับการมีผลบังคับใช้ของพระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแลและการบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2562 

"ส่งผลทำให้กรรมการ ผู้บริหารสูงสุด ตลอดจนพนักงานของธนาคาร ไม่อยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานของกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518" 

ขณะที่ นายประภาส คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้รับคำตอบว่า สคร. ในฐานะที่กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ ซึ่งธนาคารกรุงไทย ก็เป็นหนึ่งในรัฐวิสาหกิจที่ สคร.ดูแล แต่ในขณะนี้เมื่อทางกฎหมาย กรุงไทยได้พ้นความเป็นรัฐวิสาหกิจ แล้ว ทราบว่าทางกรมบัญชีกลางจะออกระเบียบใหม่ เพื่อให้หน่วยงานราชการยังสามารถทำธุรกรรมการเงินกับธนาคารกรุงไทยได้ต่อไป โดยไม่ผิดระเบียบแต่อย่างใด

สถานะ ธนาคารกรุงไทย ยอดสินเชื่อ 2 ล้านล้านบ. - กำไร 9 เดือนปีนี้ 68,023 ล้านบ.


น่าสนใจว่า ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 3/2563 เท่ากับ 16,572 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.0 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

ธนาคารกรุงไทย มีกำไรจากการดำเนินงาน 9 เดือนปี 2563 เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเท่ากับ 68,023 ล้านบาท ขยายตัวขึ้นร้อยละ 0.6 ท่ามกลางสภาวะดอกเบี้ยนโยบายที่ถูกปรับลดจนต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และข้อมูลล่าสุด ธนาคารกรุงไทย มียอดสินเชื่อและดอกเบี้ยค้างรับสุทธิ 2,149,620 ล้านบาท

11 ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ธนาคารกรุงไทย

ข้อมูลจาก set.or.th ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผย 11 ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ดังนี้
1. กองทุน เพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 55.07% 
2. บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด 5.97% 
3. STATE STREET EUROPE LIMITED 2.60%
4. สหกรณ์ออมทรัพย์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จำกัด 2.33%
5. กองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) 2.19%
6. กองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน) 2.19%
7. SOUTH EAST ASIA UK (TYPE C) NOMINEES LIMITED 1.45%
8. ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด 1.42%
9. ธนาคารออมสิน 0.81.
10.THE BANK OF NEW YORK MELLON 0.71.
11. BNY MELLON NOMINEES LIMITED 0.70%

ประวัติ ธนาคารกรุงไทย อายุ 54 ปี

ปี 2509 “ธนาคารกรุงไทย” เริ่มเปิดดำเนินกิจการ ก่อตั้ง “ธนาคารกรุงไทย จำกัด” สาขาแรก โดยรวม 2 ธนาคาร ที่รัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในขณะนั้น ได้แก่ ธนาคารเกษตร จำกัด และ ธนาคาร มณฑล จำกัด สำนักงานตั้งอยู่บนถนนเยาวราช ถนนสายเศรษฐกิจเส้นสำคัญในขณะนั้น ทั้งนี้เพื่อให้มีฐานะทางการเงินที่มั่นคงสามารถคุ้มครองผู้ฝากเงิน และบริการลูกค้าได้กว้างขวางและมีบทบาทช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้มากขึ้นด้วย

ปี 2525 ธนาคารกรุงไทยย้ายสำนักงานใหญ่มาอยู่ถนนสุขุมวิท ย้ายสำนักงานใหญ่มาอยู่ ณ อาคารเลขที่ 35 ถนนสุขุมวิท จนถึงปัจจุบัน

ปี 2530 ธนาคารกรุงไทยได้รับมอบหมาย ให้ช่วยบริหารงาน “โครงการ 4 เมษา” ต่อจากธนาคารแห่งประเทศไทย โดยเน้นในเชิงธุรกิจ ซึ่งเท่ากับว่าธนาคารกรุงไทยมีบทบาทสำคัญในการช่วยแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจครั้งสำคัญครั้งหนึ่งของไทย จากนั้นเดือนสิงหาคมในปีเดียวกัน ธนาคารกรุงไทยได้รับโอนทรัพย์สินและหนี้สินของธนาคารสยาม จำกัด ที่กำลังมีปัญหาจากการควบรวมครั้งนี้ ทำให้ธนาคารกรุงไทยเป็นธนาคารที่มีทรัพย์สินมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ และแสดงบทบาทความเป็น “ธนาคารนำ” (Lead Bank)

ปี 2532-2537 หุ้นของธนาคารกรุงไทยเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อีกก้าวที่สำคัญเกิดขึ้นเมื่อได้นำหุ้นของธนาคารเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจแห่งแรก โดยเริ่มเปิดให้มีการซื้อ-ขายหุ้นของธนาคารในตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2532 และในวันที่ 24 มีนาคม 2537 ธนาคารกรุงไทยเปลี่ยนเป็นบริษัทมหาชน ภายใต้ชื่อ “ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า “Krung Thai Bank Public Company Limited”

ปี 2540-2547 ธนาคารกรุงไทยฝ่าฟันอุปสรรคด้วยความมุ่งมั่นในปี 2540 สถาบันการเงินส่วนใหญ่ประสบปัญหาการขาดความเชื่อมั่น ในสถาบันการเงิน แต่ธนาคารกรุงไทยก็ยังสามารถฟันฝ่าอุปสรรคในช่วง ที่มีสภาวะเศรษฐกิจ และการเงินของประเทศแทบจะล้มละลายมาได้

ปี พ.ศ. 2546 ธนาคารกรุงไทยเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรก ที่สามารถจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้ และยังเป็นผู้นำในการรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก เป็นธนาคารพาณิชย์แห่งสุดท้าย ที่ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลง และก็ยังเป็นผู้นำในการรณรงค์ให้ประชาชนหันมารักษาและเปิดเผยข้อมูลเครดิตของตนเองเพื่อประโยชน์ในการขอสินเชื่อ ปลายปี พ.ศ. 2547 บริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยคลื่นยักษ์สึนามิใน 6 จังหวัดภาคใต้ เป็นจำนวนเงิน 100 ล้านบาท

ปัจจุบัน ธนาคารกรุงไทย เปลี่ยนจาก "ธนาคารแสนสะดวก" หรือ "The Convenience Bank" ที่ถือเป็นมาตรฐานบริการของธนาคารในปัจจุบัน สู่แนวคิด "Growing Together" หรือ "กรุงไทย เคียงข้างไทย เคียงข้างคุณ" 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ที่มาข้อมูลจาก https://krungthai.com/