วิธี 'ลาออก' จากการเป็น 'มนุษย์เดือน(ไม่)ชนเดือน'

วิธี 'ลาออก' จากการเป็น 'มนุษย์เดือน(ไม่)ชนเดือน'

เปิดแนวคิด และวิธีที่ทำให้ "มนุษย์เงินเดือน" หลุดจากวงจรการเป็นมนุษย์ "เดือนชนเดือน" ที่ช่วยให้สุขภาพการเงินดีขึ้น และภูมิใจในตัวเองมากขึ้นแบบไม่รู้ตัว

"ช็อตปลายเดือน" "เศรษฐีต้นเดือน" "เงินเดือนชนเดือน" หรือ "เงินเดือนแทบไม่ชนเดือน" สภาวะที่มนุษย์เงินเดือนเกินครึ่งเคยประสบ และเรียกได้ว่าเมื่อเข้าวงการนี้แล้ว ออกยากกว่าวงการไหนๆ 

ในบางครั้งฟังดูเป็นเรื่องขำขัน แบบตลกร้าย แต่คนที่ต้องเผชิญสภาวะนี้นานๆ และสามารถออกจากวงจรนี้ได้จริงๆ คงตลกไม่ออก ยิ่งไปกว่านั้นสภาวะการเงินที่บีบคั้นแบบนี้อาจนำไปสู่ ความรู้สึกที่กดทับความภาคภูมิใจในตัวเองแบบไม่รู้ตัว

ฉะนั้นใครที่รู้ตัวว่ากำลังเป็นหนึ่งในคนที่ประสบปัญหาการเงินในลักษณะนี้ ต้องรีบเตรียมแผน "ลาออก" เสียแต่บัดนี้

..ช้าก่อน! ลาออก ณ ที่นี้ไม่ใช่ลาออกจากงานที่กำลังทำอยู่ แต่หมายถึงการเตรียมแผนลาออกจากการเป็นมนุษย์เงินเดือนชนเดือนให้ได้เร็วที่สุดเป็นเป้าหมายแรก จุดเริ่มต้นของแผนการนี้ต้องเริ่มต้นจากการ "รู้สาเหตุ" ที่ทำให้เงินแทบไม่พอใช้ก่อน

ถ้าถามหา "ต้นเหตุ" ของปัญหา "เงินเดือนไม่ชนเดือน" จากคนที่กำลังประสบปัญหา แต่ละคนคงจะให้เหตุผลต่างกัน รายได้น้อย ค่าใช้จ่ายมาก เป็นหนี้ มีภาระทางบ้านที่ต้องดูแล ฯลฯ ซึ่งหลากหลายเหตุผลเหล่านี้รวมอยู่ในปัญหาหลักคือ “สภาพคล่องทางการเงินน้อย” นั่นหมายความว่าหากเราต้องการเลิกเป็นมนุษย์เงินเดือนไม่ชนเดือนจะต้องจัดการกับสิ่งที่เรียกว่า "สภาพคล่อง" ให้ได้ก่อน 

  • "สภาพคล่องทางการเงิน" คืออะไร?

หากจะอธิบายคำว่า สภาพคล่อง ให้ง่ายที่สุดก็​คือความคล่องตัวในการจัดการเงินทั้งเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งในสภาวะปกติ เหตุการณ์ฉุกเฉินที่ต้องใช้จ่ายมากเป็นพิเศษได้

สินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องที่สุดคือ "เงินสด" ซึ่งหมายความว่า คนที่สภาพคล่องสูง ก็สามารถจัดการเรื่องการเงินต่างๆ ได้สะดวก และพึ่งพาตัวเองได้ ขณะที่คนที่มีสภาพคล่องต่ำ ย่อมติดขัดเรื่องการใช้จ่าย ไม่สามารถจัดการเงินเพื่ออนาคต หรือวางแผนที่จะสร้างความมั่งคั่งทางการเงินได้ยาก 

  • ใช้แต่ละเดือนยังไม่พอ ทำยังไงให้สภาพคล่องเพิ่มขึ้น? 

ทางออกที่ทำให้สภาพคล่องเพิ่มขึ้นได้ มี 2 ทางคือ "ลดค่าใช้จ่าย" และ "สร้างรายได้เพิ่ม" ใครๆ ที่เคยประสบปัญหานี้น่าจะเคยได้รับคำแนะนำแบบนี้มาจนเบื่อ ซึ่งการลดค่าใช้จ่าย และการหารายได้เพิ่ม ไม่ได้มีความหมายตรงตัวเท่านั้น แต่ยังมีรายละเอียดที่ควรทำความเข้าก่อนเริ่มลงมือทำ เพื่อให้สามารถปรับการเงินได้จริงๆ อย่างที่ควรจะเป็น

  •  ทางเลือกที่ 1 : ลดรายจ่าย 

"ลดค่าใช้จ่าย" คำแนะนำที่ฟังดูน่าเบื่อสำหรับใครหลายคนที่อาจเคยผ่านการทดลองทำมาบ้างแล้ว “เคยทำแล้วเงินก็ยังไม่พอใช้อยู่ดี นอกจากไม่ช่วยแก้ปัญหาแล้วยังทำให้ไม่มีความสุขและไม่มีกำลังใจอีกด้วย”

จุดเริ่มต้นของการลดค่าใช้จ่าย ไม่ได้หมายถึงการประหยัดในสิ่งที่ไม่จำเป็นเท่านั้น แต่เริ่มได้จากการทำความเข้าใจ "ค่าใช้จ่าย" 2 ลักษณะ และควบคุมให้เหมาะสม ที่ทำให้คุณสามารถปรับ เพิ่ม-ลด รายจ่ายได้ง่ายขึ้น และไม่ทรมานเกินไป

1. ค่าใช้จ่ายคงที่ คือ ค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายเป็นจำนวนเงินที่แน่นอนทุกเดือน เช่น ค่าผ่อน (เช่า) บ้าน ค่าผ่อนรถ ค่าเบี้ยประกัน ค่าผ่อนสินค้า หรือเงินกู้ต่างๆ ฯลฯ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องวางแผนผ่อนชำระให้ตรงเวลา และต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกเมื่อมีรายได้เข้ามา

2. ค่าใช้จ่ายผันแปร คือ ค่าใช้จ่ายที่มีจำนวนไม่เท่ากันในแต่ละเดือน มีบ้าง ไม่มีบ้าง ไม่แน่นอน ยืดหยุ่นไปตามกิจกรรมที่ทำในเดือนนั้นๆ ส่วนจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับลักษณะการดำรงชีวิตของแต่ละคน เช่น ค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าเสื้อผ้า ค่าเดินทาง ค่ารักษาพยาบาล บันเทิงเริงใจ เงินทำบุญ ฯลฯ ส่วนนี้เป็นค่าใช้ที่สามารถลดได้จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง และต้องถูกจัดความสำคัญไว้รองลงมาจากค่าใช้จ่ายคงที่ 

เช่น หาก นางสาว A เป็นมนุษย์เดือนชนเดือนมาตลอด โดยมีรายได้สุทธิอยู่ที่เดือนละ 15,000 บาท และไม่มีหนี้สินที่เป็นภาระผูกพัน

160430586598

ปัญหาของคนเดือนชนเดือน คือ ใช้เงินไปกับค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นก่อน เมื่อถึงเวลาที่ต้องชำระหนี้ที่จำเป็นจึงใช้วิธีหยิบยืม ใช้บัตรเครดิต หรือกดเงินสด จนทำให้กลายเป็นหนี้โดยไม่จำเป็น และพฤติกรรมนี้เป็นสาเหตุให้หลายคนไม่ใช่แค่เดือนชนเดือน แต่มีหนี้ข้ามปี ทั้งๆ ที่ไม่ใช่หนี้ที่ก่อประโยชน์เลย

สิ่งที่ นางสาว A สามารถปรับในมิติของการลดค่าใช้จ่ายมี 2 ทางเลือก คือ การปรับค่าใช้จ่ายผันแปรลดลง เช่น ลดการใช้จ่ายค่าอาหารที่สูง สลับกินมื้อธรรดา หรือลองปรุงอาหารเองบ้าง เพื่อให้ค่าใช้จ่ายลดลงในส่วนของค่าอาหาร ลดการช้อปปิ้งและการท่องเที่ยว แทนที่จะไปทุกเดือน หรือซื้อของใหม่ๆ ลองหันมาจัดการข้าวของเครื่องใช้ที่มีอยู่เดิมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดก่อน หรือนำของเดิมๆ มาประยุกต์ใช้แบบใหม่ ให้ใช้งานสนุกมากขึ้น

หรืออีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถปรับได้หากมีโอกาส คือ การปรับลดค่าใช้จ่ายคงที่ เช่น ลองปรับลดค่าเช่าห้องลง หรือย้ายไปใกล้ที่ทำงานมากขึ้นเพื่อให้ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เพื่อให้มีเงินเหลือเพิ่มขึ้น

  •  ทางเลือกที่ 2 : สร้างรายได้เพิ่ม

การสร้างรายได้เพิ่ม หลายคนพอเจอคำแนะนำนี้ก็ท้อก่อนเริ่ม เพราะมองว่าการสร้างรายได้เพิ่มยากกว่าการลดรายจ่าย จึงหันไปกระเบียดกระเสียนให้พอใช้เหมือนเดิม แต่หารู้ไม่ว่าสร้างรายได้เพิ่มต่างหากที่จะเป็นทางรอดและโอกาสที่ทำให้คนที่กำลังใช้ชีวิตแบบเดือนชนเดือนมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นได้

มาถึงตรงนี้ก็มักจะมีคำถามที่ว่า "เงินยังไม่พอใช้ จะเอาอะไรไปลงทุนสร้างรายได้" คำตอบคือ "ไอเดีย" แน่นอนว่าการจะสร้างรายได้จากอะไรสักอย่างจะต้องทั้งกำลังกายกำลังใจ แนวคิดใหม่ๆ รวมถึงต้องอาศัยเวลาที่เพิ่มขึ้นด้วย นั่นหมายความว่าเราจะต้องจัดการเวลาใหม่ และยอมเหนื่อยเพิ่มขึ้น เพื่อเปิดประตูให้ตัวเองเจอหนทางที่เดินออกไปจากสภาวะเดือนชนเดือนอย่างที่เป็นอยู่

การเริ่มต้นหารายได้ไม่ง่าย แต่ทุกคนสามารถลองหาโอกาสสร้างรายได้เพิ่มในแบบของตัวเองได้ โดยอาจเริ่มต้นจากการสร้างรายได้แบบที่ใช้ต้นทุน ที่ตัวเองมีอยู่ และความสนใจส่วนตัว เพื่อใช้เงินลงทุนให้น้อยที่สุด เช่น หากมีโทรศัพท์มือถือ สามารถติดต่อเป็นตัวแทนจำหน่ายแบบไม่สต็อกสินค้า สำหรับคนที่มีทักษะในการเขียนหรือเล่าเรื่องราว อาจลองเขียนนิยายขายผ่านแพลตฟอร์มขาย E-book ต่างๆ หรืออาจหาช่องทางาผู้ว่าจ้างในการใช้ทักษะที่ตัวเองมี หรือทักษะที่พอประยุกต์ใช้ได้ เช่น การทำขนม ทำอาหาร เย็บปักถักร้อย วาดภาพ ออกแบบสื่อโฆษณา ฯลฯ ซึ่งการทดลองทำเพื่อหาแนวทางในการสร้างรายได้ จะช่วยให้มองเห็นโอกาสต่างๆ จากการลองผิดลองถูกที่สามารถต่อยอดรายได้ในระยะยาว ไม่ใช่แค่ทำเพื่อเอาตัวรอดเท่านั้น

 

  • รู้แล้ว.. ต้องเริ่มลงมือทำ 

กล่าวโดยสรุป การลดรายจ่าย โดยเฉพาะรายจ่ายผันแปร จะช่วยทำให้รายได้ที่มีอยู่สามารถบริหารจัดการได้ตลอดรอดฝั่ง และมีเหลือมากขึ้นในแต่ละเดือน แต่การหารายได้เพิ่ม คือทางออกที่จะช่วยให้เรามีเงินครอบคลุมค่าใช้จ่ายได้สบาย และมีเงินไว้ "ออม" สำหรับใช้ในกรณีฉุกเฉิน และใช้ต่อในอนาคต ซึ่งเราอาจจะเลือกทำทั้งการลดค่าใช้ และการสร้างรายได้เพิ่มไปพร้อมๆ กันทั้ง 2 อย่าง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้แต่ละคนประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการเงินหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับ "ความรับผิดชอบทางการเงิน" ของแต่ละคน ซึ่งความรับผิดชอบทางการเงินก็คล้ายกับความรับชอบอื่นๆ หากรู้แต่ไม่ลงมือทำก็เปล่าประโยชน์ และแน่นอนว่าไม่มีใครช่วยให้เรา "เลิกเป็นมนุษย์เดือนชนเดือน" ได้เลย ถ้าเราไม่ออกมาเอง เพราะ "ตัวเราเอง" นี่แหละที่มีส่วนมากที่สุด ที่ทำให้ตัวเองเป็นมนุษย์เดือนชนเดือนอย่างที่ผ่านมา