"ประยุทธ์" ดึงเกม ไม่ลาออก อำนาจในมือ...เอาให้เขาทำไม

"ประยุทธ์" ดึงเกม ไม่ลาออก  อำนาจในมือ...เอาให้เขาทำไม

แม้จะประกาศขอถอยคนละก้าว และได้เริ่มถอยแล้ว แต่ดูเหมือนเป็นไปเพื่อรักษาอำนาจและเก้าอี้นายกรัฐมนตรีเสียมากกว่า

เมื่อวิกฤติศรัทธานำมาซึ่งวิกฤติทางการเมืองพุ่งมาที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดูเหมือนปัจจัยหลายอย่างไม่ได้ส่งผลให้สถานการณ์ดีขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญแต่อย่างใด

การออกแถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ของ "พล.อ.ประยุทธ์" ที่ระบุสาระสำคัญคือการ "ถอยคนละก้าว" นั้น ดูเผินๆ อาจจะรู้สึกว่าฝ่ายรัฐได้ถอยแล้วหลายก้าว  เนื่องจากเผชิญแรงกดดัน

ตั้งแต่การยกเลิกการบังคับใช้ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กทม. ตามที่ผู้ชุมนุมราษฎรเรียกร้อง ไปจนถึงการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ ทั้งที่ในอีกไม่อีกวันก็จะถึงวันเปิดสภาสมัยสามัญแล้ว รวมถึงการทยอยปล่อยตัวแกนนำผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมด้วยข้อหาต่างๆ โดยมีการวางเงื่อนไขให้ประกันตัว หรือแม้แต่กระแสต่อต้านเรื่องการสั่งปิดช่องทางการนำเสนอของสื่อมวลชนที่ถูกมองว่าอยู่ตรงข้ามรัฐบาล "พล.อ.ประยุทธ์" ก็ได้สั่งให้ผู้เกี่ยวข้องทบทวน โดยให้คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ยกเว้นแต่กรณีที่ตั้งใจบิดเบือนข้อเท็จจริง ยุยง ปลุกปั่นเท่านั้น

ทั้งนี้ พูดได้ว่าการรับมือผู้ชุมนุมของฝ่ายรัฐในยุคที่โซเชียลมีเดียทรงอิทธิพลนั้นทำได้ยากกว่าสมัยอะนาล็อกอย่างตอนที่กลุ่ม "แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ" (นปช.) หรือคนเสื้อแดงเคลื่อนไหว สมัยกลุ่มเสื้อแดงที่มีการใช้โทรทัศน์ทีวีดาวเทียม และวิทยุชุมชน เป็นช่องทางการสื่อสารหลัก ฝ่ายรัฐสามารถไล่ปิดช่อง หรือลุยยึดอุปกรณ์การจัดรายการวิทยุชุมชนตามต่างจังหวัดได้ เพราะในสมัยนั้น ฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาลมีตัวตนชัดเจนอยู่เป็นหลักแหล่ง ต่างจากปัจจุบันที่อยู่ในโลกเสมือนขนาดใหญ่ อย่างโซเชียลมีเดีย ที่ลำพังฝ่ายรัฐยากจะก้าวทัน

แล้วการที่ "พล.อ.ประยุทธ์" ต้องการให้ฝ่ายผู้ชุมนุมถอยนั้น ต้องการให้ถอยในประเด็นใด ความจริงก็ควรระบุให้ชัดๆ ไปเลยว่า ขอให้ถอยเรื่องนั้นเรื่องนี้ได้หรือไม่

ส่วนเป้าหมายของผู้ชุมนุมที่ชัดเจนคือ 1.ให้ "พล.อ.ประยุทธ์" ลาออก 2.ให้สภารับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และ3.ปฏิรูปสถาบัน โดยน้ำหนักการเรียกร้องช่วงหลังมานี้คืออยู่ที่ข้อแรก แต่ถ้า "พล.อ.ประยุทธ์" ลาออกแล้ว ทาง "พรรคพลังประชารัฐ" ยังเสนอชื่อ "พล.อ.ประยุทธ์" กลับมาอีก และหากเสียงในสภายังยกมือสนับสนุนให้เป็น "นายกฯ" ต่อ ผู้ชุมนุมจะว่าอย่างไร

ถึงจะมีข้อเรียกร้องชัดเจน แต่ท่าทีของ "พล.อ.ประยุทธ์" นั้นชัดเจน โดยได้พูดถึง 2 ครั้งว่า "ไม่ลาออก" ส่งผลให้ผู้ชุมนุมยิ่งเปิดเกมรุกเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น การแก้เกมของพล.อ.ประยุทธ์ เวลานี้ จึงต้องพยายามพิงเชือกแล้วเด้งออกมาจากมุมเพื่อดึงเวลาของ "รัฐบาล" หวังยื้อให้อยู่ในอำนาจนานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ดังจะได้ยินไอเดียของ "วิปรัฐบาล" ที่เตรียมจะตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการเมือง ประกอบด้วย ครม. , พรรคร่วมรัฐบาล , พรรคร่วมฝ่ายค้าน , ส.ว. และ บุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางออกของปัญหา

ตรงนี้เองที่เป็นเคล็ดไม่ลับของผู้มีอำนาจ ตามที่มีเสียงเล่าลือว่า "สุเทพ เทือกสุบรรณ" ตั้งแต่สมัยเป็นรองนายกฯ ใน "รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ซึ่งถูกกลุ่มคนเสื้อแดงขับไล่อย่างหนัก ได้ถ่ายทอดวิชาให้คนใกล้ชิด ซึ่งปัจจุบันก็กลายมาเป็นคนใกล้ชิดของ "พล.อ.ประยุทธ์" เช่นเดียวกัน และเป็นไปได้ว่าเวลานี้ "พล.อ.ประยุทธ์" อาจท่องคอนเซ็ปต์ที่ส่งต่อกันมาได้ขึ้นใจก็คือ  "อำนาจอยู่ในมือ จะเอาไปให้เขาทำไม"

เมื่อ "รัฐบาล" เปิดเกมยื้อ ย่อมส่งให้ผู้ชุมนุมเร่งเกมรุกไล่ และสิ่งที่น่าเป็นห่วงตามมาคือ การที่ฝ่ายผู้ชุมนุมและฝ่ายที่เห็นต่างจากผู้ชุมนุมมีโอกาสเผชิญหน้ากันมากขึ้นๆ จนเกิดการบาดเจ็บ สูญเสีย เหมือนหนังม้วนเก่า ที่นำมาฉายซ้ำ