"วิษณุ" เผย "นายกฯ" สนใจข้อเสนอ "ทำประชามติ"ถามประชาชน

"วิษณุ" เผย "นายกฯ" สนใจข้อเสนอ "ทำประชามติ"ถามประชาชน

"วิษณุ" บอกนายกฯสนใจหลายข้อเสนอ พร้อม ยุบสภา หากส.ส.แจ้งความต้องการ

     เมื่อเวลา 15.51 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม  ชี้แจงต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภา สมัยวิสามัญ   เพื่ออภิปรายทั่วไป โดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ   มาตรา 165 ว่า รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาให้มากที่สุด ส่วนข้อเสนอให้ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ นั้น มีขั้นตอนที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ คือ หากนายกฯ​ลาออก คณะรัฐมนตรีต้องพ้นไปทั้งคณะ แต่ต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อจนกว่าจะได้คณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่เข้ารับหน้าที่  ส่วนการเลือกนายกฯ​ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญคือใช้ที่ประชุมของรัฐสภา และใช้เสียงของส.ส. และส.ว. ลงมติเกินกึ่งหนึ่ง ส่วนกรณียุบสภา ทำให้สถานภาพของส.ส.สิ้นสุดลง ซึ่งตนไม่แน่ใจว่าพวกท่านต้องการหรือไม่ ส่วนแนวทางของการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องเป็นไปตามขั้นตอน 
       จากนั้น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ​ ชี้แจงต่อการเสนอญัตติ ว่า เนื้อหาที่ขอรับฟังความเห็นนั้นไม่ใช่มี 3 ประเด็น แต่เป็นเนื้อหาที่ไล่เรียงสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดคำถามย้อนกลับต่อการเสนอให้ที่ประชุมรัฐสภาเสนอความเห็น ตามรัฐธรรมนูญ​มาตรา 165  ส่วนข้อเรียกร้องของกลุ่มชุมนุมในระเด็นต่างๆ ที่รัฐบาลสามารถรับไปพิจารณาและดำเนินการได้  อาทิ เปิดประชุมรัฐสภา สมัยวิสามัญ, ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง รัฐบาลได้ดำเนินการแล้ว ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ​โดยพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอ ผ่านไอลอว์ นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ ทั้งนี้จะนำบรรจุพร้อมกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ​ทั้ง 6 ญัตติที่ค้างหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของประธานรัฐสภา ทั้งนี้เหตุผลที่ในการประชุมรัฐสภา สมัยวิสามัญ ไม่บรรจุเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะรอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเสนอพิจารณาพร้อมกัน
       นายวิษณุ ชี้แจงถึงขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้วยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ​จำเป็นต้องทำประชามติ โดยขณะนี้ต้องรอการตรากฎหมายดังกล่าว ทั้งนี้คาดว่าภายในเดือนธันวาคม 2563 หรือเดือนมกราคม 2564 จะแล้วเสร็จ จากนั้นต้องนำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ โดยมีกำหนดเวลาภายใน 90 วัน จากนั้นนำร่างรัฐธรรมนูญ ไปออกเสียงประชามติภายในเวลาที่กำหนด  ทั้งนี้ร่างกฎหมายประชามติที่รัฐบาลเสนอคือ ภายใน 90 วัน และหากดำเนินการส่วนของกฎหมายประชามติแล้วเสร็จ คือ ต้องมี ส.ส.ร. และเลือกส.ส.ร.ตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขกำหนดอีกครั้ง 
       “ข้อเสนอ 3 ข้อที่ไม่ได้ทำ คือ นายกฯ​ลาออก, ยุบสภา และปฏิรูปสถาบัน ซึ่งรัฐบาลไม่เข้าใจต่อการปฏิรูปสถาบัน จึงอยากฟังสมาชิกรัฐสภา ส่วนข้อเสนอให้ยุบสภา พิจารณาเนื้อหาแล้วตามหลักการการยุบสภา ต้องมีความขัดแย้ง  แต่หากเป็นความประสงค์นายกฯ พร้อมจะรับการหารือ ส่วนการลาออกนั้น ต้องเป็นไปตามมาตรา 172 โดยมีเงื่อนไขสำคัญ คือ นายกฯ ต้องมาจากรายชื่อเสนอโดยพรรคการเมือง และขณะนี้มีผู้มีสิทธิ์  5 คน และตามเงื่อนไขผู้ที่สนับสนุนต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา คือ 366 เสียงจากสมาชิกรัฐสภาที่มีทั้งหมด 732 เสียง และหากให้ ส.ว.งดออกเสียงทั้งหมดตามเรียกร้อง ต้องหาเสียงให้ได้ 366 เสียงหากไม่ได้ จะถึงทางตัน” นายวิษณุ กล่าว 
       นายวิษณุ กล่าวด้วยว่า มีผู้เสนอนายกฯ ให้บอกใช้เสียงของพรรคพลังประชารัฐ​รวมถึงพรรคฝ่ายค้าน เพื่อเลือกนายกฯ  ถือเป็นความคิด แต่เมื่อพิจารณาอีกครั้ง พบว่ามีเสียงสนับสนุนนายกฯ ห้ามลาออก ทั้งนี้การลาออกหรือไม่เป็นดุลยพินิจของนายกฯ  ส่วนข้อเสนอของพรรคฝ่ายค้าน, พรรคร่วมรัฐบาลและส.ว. ที่เสนอให้ถามประชาชน นายกฯ บอกว่าเป็นข้อเสนอที่ใคร่ครวญได้ แต่ มีข้อกำหนดห้ามถามตัวบุคคล ดังนั้นหากมีกระบวนการตั้งคำถามที่เหมาะสมเชื่อว่าอาจทำได้ 
     ผู้สื่อข่าวรายงานว่าตอนหนึ่งของการชี้แจงของนายวิษณุ ซึ่งอธิบายความต่อข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม ได้ยกตัวอย่าง คือข้อเรียกร้องให้ฮ่องกงเป็นอิสรภาพ รัฐบาลไม่สามารถดำเนินการได้ พบการประท้วงของ นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้ถอนคำพูดประเด็นเรียกร้องอิสระภาพให้ฮ่องกง เนื่องจากไม่ใช่ข้อเรียกร้องหลักของกลุ่มคณะราษฎร ทั้งนี้ยอมรับว่าอาจเป็นความเห็นส่วนตัวของผู้ร่วมชุมนุมในจำนวนหลักแสนคนเท่านั้น 
      ทั้งนี้การประท้วงดังกล่าวถูกตอบโต้ โดยนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ว่า การประท้วงของนางอมรัตน์ มีลักษณะเหมือนแกนนำม็อบ ต่อมาได้แก้ไขว่าเป็นผู้ควบคุมม็อบ เพราะมีคลิปวีดีโอที่พบการขึ้นปราศรัยบนรถเครื่องเสียง.
160370441681