'สภาพัฒน์' จับตาการเมือง ตัวแปรใหม่เศรษฐกิจปี 64

'สภาพัฒน์' จับตาการเมือง ตัวแปรใหม่เศรษฐกิจปี 64

สศช.มอนิเตอร์สถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง ชี้มีความเสี่ยงมากขึ้นต้องจับตาดู

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองและการประท้วงที่เกิดขึ้นว่า ถ้าสถานการณ์สงบ มีความนิ่งทางการเมือง เศรษฐกิจก็เดินได้ แต่ถ้ามีเรื่องที่เป็นปัญหาทางการเมืองเกิดขึ้นว่าจะส่งผลอย่างไร

ทั้งนี้ที่ผ่านมา สศช.ยังไม่ได้ประเมินความเสี่ยงทางการเมืองว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจในปีนี้อย่างไร แต่เมื่อมีความเสี่ยงมากขึ้นต้องจับตาดูว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจหรือไม่

“4-5ปี ที่ผ่านมา บ้านเมืองสงบ ช่วงก่อนโควิด-19 เศรษฐกิจเดินได้ระดับหนึ่ง ซึ่ง สศช.ไม่ได้ประเมินความเสี่ยงเรื่องการเมืองว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจปีนี้อย่างไร เมื่อเกิดสถานการณ์ขึ้นต้องจับตาดูใกล้ชิด ต้องมอนิเตอร์อีกทีตอนนี้ยังคงบอกอะไรไม่ได้ชัดเจนว่าจะเกิดผลกระทบอย่างไร”นายดนุชา กล่าว

นายสุพันธ์ุ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคเอกชนไม่กังวลสถานการณ์การการชุมนุมทางการเมืองขณะนี้ เพราะเหตุการณ์ยังไม่ยืดเยื้อรุนแรง แต่ต้องการให้รัฐบาลติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดอย่าให้เกิดความรุนแรงหรือถ้าเกิดขึ้นต้องระงับเหตุการณ์ให้ได้รวดเร็วอย่าให้เกิดเหตุการณ์กระทบความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจหรือกระทบตลาดเงินตลาดทุน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การชุมนุมในแต่ละกลุ่มที่เกิดขึ้นขณะนี้ หากสถานการณ์ไม่ยืดเยื้อ และชุมนุมแบบค้างคืนไม่นาน เป็นการชุมนุมแบบแฟล็ชม็อบ รวมถึงไม่เกิดการปะทะที่รุนแรงหรือบานปลาย คาดว่าจะไม่กระทบต่อภาพรวมความเชื่อมั่นของภาคประชาชนและภาคธุรกิจแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ต้องติดตามหากการชุมนุมยืดเยื้อไม่จบหรือเกิดการปะทะรุนแรงและเกิดการชุมนุมในทุกพื้นที่ไปทั่วและยาวนานจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมดัชนีความเชื่อมั่นมากกว่านี้ หากประเมินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มองว่าการเมืองเป็นปัจจัยเชิงลบหลักที่มีความห่วงใยมาก เพราะมีการชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองในพื้นที่กรุงเทพฯ ส่วนภาคอื่นให้น้ำหนักกับมาตรการดูแลของภาครัฐ อาทิ สภาพคล่อง หนี้ การจ้างงาน และกำลังซื้อเท่านั้น ทำให้ปัจจัยการเมืองไทยถือเป็นปัจจัยบั่นทอนอย่างแท้จริง” นายธนวรรธน์ กล่าว

ส่วนการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่จะมีขึ้นช่วงปลายเดือน ธ.ค.นี้ คาดว่าจะมีเม็ดเงินในการหาเสียงสู่ระบบถึง 3 หมื่นล้านบาท เพราะมีการแข่งขันสูงระหว่างพรรคการเมืองที่ต่างส่งตัวแทนลงเลือกตั้ง เพราะ อบจ.เป็นฐานเสียงสำคัญ ซึ่งจะช่วยกระตุกเศรษฐกิจในปีนี้ได้อีก 

จากนั้นในช่วงต้นปี 2564 จะมีการเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ซึ่งคาดว่าจะสร้างเม็ดเงินสะพัดเพิ่มขึ้นอีก อีก 2-3 หมื่นล้านบาทเช่นกัน ซึ่งจะเพิ่มเข้าไปรวมกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ จึงน่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 2564 มีโอกาสกลับมาเป็นบวกได้