GULF เปลี่ยนโลกร้อนด้วยความรับผิดชอบ

GULF เปลี่ยนโลกร้อนด้วยความรับผิดชอบ

เผยผลลัพธ์ของพันธกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม การดำเนินธุรกิจพลังงานของ “กลุ่มบริษัทกัลฟ์” ที่มาพร้อมความรับผิดชอบ ต่อกรกับวิกฤต “โลกร้อน”

ปัญหาภาวะโลกร้อนกำลังเดินทางมาถึงจุดอันตราย ทุกพื้นที่ทั่วโลกได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตั้งแต่ชนเผ่าอินูท์ในทวีปอาร์กติกตอนเหนือ ไปจนถึงชาวเกาะใกล้เส้นศูนย์สูตร ทุกคนกำลังเผชิญวิกฤตการณ์เดียวกัน

  • สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง’ วิกฤตที่ทำให้โลกเปลี่ยนไป

จากข้อมูลของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) คาดว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ.2533 เป็นต้นมา เกิดการละลายของน้ำแข็งในทวีปกรีนแลนด์ถึง 7 ครั้งใหญ่ เหมือนจะห่างไกลแต่เกี่ยวพันกับหลายพันล้านชีวิตและเป็นสัญญาณอันตรายของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

ทำนองเดียวกับ Center for Climate and Energy Solutions (CCES.) เปิดเผยข้อมูลว่าการที่อุณหภูมิโลกสูงขึ้นยิ่งทวีความรุนแรงของภัยแล้ง เพราะเมื่อน้ำระเหยขึ้นไปในปริมาณที่มากเกิน เป็นสาเหตุให้น้ำในดินหายไปจนเกิดความแห้งแล้ง แล้วยังสอดคล้องกับการเกิดไฟป่าที่เผาผลาญสิ่งมีชีวิตและทรัพยากรธรรมชาติไปอย่างน่าเสียดายด้วย แม้จะไม่ใช่สาเหตุเดียวของการเกิดไฟป่า ทว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงอย่างมาก

ในรายงานการประชุมของสหภาพธรณีวิทยาอเมริกา (The American Geophysical Union ระบุถึง ‘วิกฤต’ ที่กำลังยกระดับเป็น ‘วิบัติ’ โดยมีคำสำคัญหนึ่งคำที่น่าสนใจคือ สภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้ว (Extreme Weather Event) ซึ่งหลายคนอาจคุ้นกับคำว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change มากกว่า แน่นอนว่านี่คือเส้นตายที่ธรรมชาติกำลังทำให้รู้ว่าผลลัพธ์จากการทำร้ายธรรมชาตินั้นรุนแรงแค่ไหน ผลกระทบดังกล่าวจึงรุนแรงและบ่อยขึ้น ทั้งคลื่นความร้อน ภัยแล้ง พายุฝน ฯลฯ

  • ปัญหาโลกร้อน รอไม่ได้

วิกฤตการณ์โลกร้อนเป็นเรื่องของประชาชาติ แม้ประเทศไทยจะไม่ใช่ประเทศผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ แต่ทุกประเทศที่ลงนามในความตกลงปารีส (Paris Agreement) อันเป็นการจับมือกันต่อกรกับวิกฤตโลกร้อน เมื่อปี พ.ศ.2558 ต้องมีส่วนร่วมเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงไปกว่า 1.5 องศาเซลเซียส นับตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม

สำหรับในประเทศไทย ภาคอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมพลังงาน อุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ล้วนเป็นภาคส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันดับต้นๆ การเป็น Carbon Majors ของบริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลก จึงจำเป็นต้องมีความรับผิดชอบที่มากขึ้น โดยที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 11-20 เปอร์เซ็นต์ ในภาคพลังงานและขนส่ง และจะขยับขึ้นเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ ทุกภาคส่วนในปี พ.ศ.2573

160265338543

  • GULF กับพันธกิจพิชิตโลกร้อน

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้หลายองค์กรต้องขยับปรับตัวให้การดำเนินธุรกิจไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือกระทบน้อยที่สุด อย่างเช่น กลุ่มบริษัทกัลฟ์ บริษัทด้านพลังงานที่เดินหน้าบริหารจัดการและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรมสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Goals : SDGs) จนได้รับประกาศนียบัตร ฉลากคาร์บอน – คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization: CFO) และประกาศนียบัตร ฉลากคาร์บอน – คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint of Products: CFP) ในฐานะองค์กรแบบอย่างด้านการบริหารจัดการและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศ ประจำปี 2563 จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ในงาน ‘ร้อยดวงใจ ร่วมใจลดโลกร้อน’

สำหรับ “ฉลากคาร์บอน – คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization: CFO)” นั้น คำนวณจากปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่างๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อมทั้งองค์กร ซึ่งทางกลุ่มบริษัทฯ ได้รับรางวัลนี้ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ในปีนี้ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าของกลุ่มบริษัทกัลฟ์ 20 แห่ง ในพื้นที่ 7 จังหวัด คือ จ.ปทุมธานี จ.ฉะเชิงเทรา จ.ปราจีนบุรี จ.สระบุรี จ.พระนครศรีอยุธยา จ.ระยอง และจ.ยะลา ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าโคกแย้ 1 โรงไฟฟ้าโคกแย้ 2 โรงไฟฟ้าตาสิทธิ์ 1 โรงไฟฟ้าตาสิทธิ์ 2 โรงไฟฟ้าตาสิทธิ์ 3 โรงไฟฟ้าตาสิทธิ์ 4 โรงไฟฟ้าตลิ่งชัน โรงไฟฟ้านครเนื่องเขต โรงไฟฟ้าหนองละลอก โรงไฟฟ้าหนองละลอก 2 โรงไฟฟ้านนทรี โรงไฟฟ้าเชียงรากน้อย โรงไฟฟ้าบ้านเลน โรงไฟฟ้าหนองแค 2 โรงไฟฟ้าบ้านโพธิ์ โรงไฟฟ้าหนองแซง โรงไฟฟ้าอุทัย โรงไฟฟ้ายะลา กรีน โรงไฟฟ้าวังตาผิน และโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2

ส่วนประกาศนียบัตร “ฉลากคาร์บอน – คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint of Products: CFP)” จากโรงไฟฟ้านนทรี โรงไฟฟ้าบ้านเลน โรงไฟฟ้าบ้านโพธิ์ และโรงไฟฟ้าหนองละลอก 2 ทำให้ในภาพรวม โรงไฟฟ้ากลุ่มบริษัทกัลฟ์รวม 22 แห่งได้รับประกาศนียบัตรฉลากคาร์บอน – คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์แล้ว

นอกจากนี้กลุ่มบริษัทกัลฟ์ยังได้รับประกาศนียบัตร วอเตอร์ฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ (Water Footprint of Product) รวม 5 ใบจากสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในงานสัมมนาวิชาการ ‘Eco Innovation Forum 2020’ ยืนยันถึงศักยภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยั่งยืนตามมาตรฐานสากล

กัลฟ์มีมาตรการให้โรงไฟฟ้าทุกแห่งที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ครบ 1 ปี ต้องเข้าร่วมโครงการประเมินวอเตอร์ฟุตพริ้นท์ ซึ่งกระบวนการนี้ทำให้ทราบว่าแต่ละโรงไฟฟ้าใช้น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงใดในทุกขั้นตอนของการผลิตไฟฟ้า ส่งผลให้แผนการใช้น้ำเป็นไปอย่างยั่งยืน และลดความเสี่ยงของปัญหาการขาดแคลนน้ำได้ โดยในปีนี้มีโรงไฟฟ้าของกลุ่มบริษัทกัลฟ์รวม 5 แห่ง คือ โรงไฟฟ้าตาสิทธิ์ 1-4 และโรงไฟฟ้าวังตาผิน จ.ระยองที่ผ่านการรับรองการประเมิน “วอเตอร์ฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์” โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 มีโรงไฟฟ้าของกลุ่มบริษัทฯ และภายใต้การบริหารของกลุ่มบริษัทฯ รวม 19 แห่ง ที่ได้รับประกาศนียบัตรนี้แล้ว

ด้วยการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม ตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ “กลุ่มบริษัทกัลฟ์” เป็นส่วนสำคัญของการขับเคลื่อนมาตรการแก้ไขปัญหาโลกร้อน ให้คนไทยยังมีธรรมชาติที่สมบูรณ์ มีอากาศที่บริสุทธิ์ได้หายใจ เป็นพลังงานขับเคลื่อนโลกนี้ต่อไป

ภาพประกอบจาก Pixabay