14ต.ค.แสดงพลังประกาศชัย แต่ฝันยังไม่เป็นจริง

14ต.ค.แสดงพลังประกาศชัย  แต่ฝันยังไม่เป็นจริง

แม้จะการประกาศชัยชนะเชิงนามธรรมกลางถนนราชดำเนินเหมือนกับ 20 ก.ย.กลางสนามหลวง จะเกิดขึ้น แต่ความฝันที่จะบินให้สูงเสียดฟ้านั้นยังต้องตะเกียกตะกายต่อไป

ในที่สุดก็มาถึงวันนัดชุมนุมอีกครั้ง '14 ตุลาคม' ตามกำหนดกลุ่มคณะราษฎรจะนัดรวมตัวกันบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในเวลา 14.00น. ซึ่งการชุมนุมในครั้งนี้บรรดาแกนนำมั่นใจว่าจะไม่สั้นเหมือนเมื่อครั้ง 19 ก.ย.ที่ผ่านมา

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเวลาเกือบหนึ่งเดือนที่ผ่านมานับตั้งแต่ 19 ก.ย.เกิดความเปลี่ยนแปลงในกลุ่มของนักศึกษามากมาย โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงระบบการจัดรูปขององค์กรจากเดิมที่ผูกขาดไว้เฉพาะกลุ่ม 'ธรรมศาสตร์และการชุมนุมมาสู่การผนึกกำลังในนาม 'คณะราษฎร 2563' พร้อมกับวางเป้าหมายให้ทะลุเพดานสูงเสียดฟ้ามากที่สุด

ในทางการเมืองแล้วการเปลี่ยนชื่อกลุ่มหรือองค์กรเพื่อการเคลื่อนไหวลักษณะนี้ อาจเรียกได้ว่ามาถูกทางก็คงไม่ผิดนัก เพราะการเน้นใช้ชื่อที่มีคำว่า 'ธรรมศาสตร์' นำอยู่เช่นนี้ แน่นอนว่านักศึกษาที่ไม่ได้มีสีเสื้อเหลืองแดงหรือมีเพลงยูงทองก้องอยู่ในหู ย่อมรู้สึกถูกแปลกแยก อีกทั้งหากไปเข้าร่วมย่อมถูกมองว่าอยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุมไปโดยปริยาย

ดังนั้น การเปลี่ยนชื่อองค์กรให้มีลักษณะกลางๆ เพื่อให้เกิดความรู้สึกร่วมกัน ย่อมจะเป็นผลดีมากกว่า เพราะจะทำให้เห็นว่าไม่มีใครนำใครแต่จะเป็นการนำมวลชนไปพร้อมๆกัน ซึ่งชื่อ 'คณะราษฎร' ในมุมของกลุ่มนักศึกษาย่อมตอบโจทย์การเคลื่อนไหวเพราะเป็นผู้ปักหมุดก่อร่างสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในประเทศไทย

รูปแบบของการรวมกลุ่มเช่นนี้ก็คล้ายกับเมื่อครั้งที่จะมีการประกาศชุมนุมแบบสู้ไม่ถอยของทั้งกลุ่มเสื้อเหลืองและเสื้อแดงเมื่อกว่า 10 ปีที่ผ่านมา โดยในส่วนของกลุ่มเสื้อเหลืองนั้นกว่าจะเป็นเสื้อเหลืองที่ชุมนุมสร้างสถิติได้เดิมทีการเคลื่อนไหวก็มีแต่เพียงการนำของ 'สนธิ ลิ้มทองกุล' ผ่านการจัดเวที 'เมืองไทยรายสัปดาห์' เท่านั้น ก่อนที่จะเล็งเห็นว่าการจะล้มมหาอำนาจอย่าง 'ทักษิณ ชินวัตร' ให้สำเร็จได้นั้นย่อมต้องมีพันธมิตร จึงเป็นที่มาของการดึงแกนนำภาคประชาชนและสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจหลายกลุ่มมาร่วมด้วยกัน จนเกิดเป็น 'พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย'

ไม่ต่างอะไรกับคนเสื้อแดง เดิมทีก็เคลื่อนไหวกันกระจัดกระจาย แต่ที่ดูจะเป็นรูปเป็นร่างที่สุด คือ "กลุ่มพีทีวี' ที่นำโดย 'วีระ-จตุพร-ณัฐวุฒิ' แม้จะมีสามแม่เหล็กเป็นตัวชูโรง แต่ก็ยังไม่พอที่จะสู้กับฝ่ายตรงข้ามที่มีกองทัพคอยหนุนหลัง สุดท้ายต้องไปดึงเอาแนวร่วมที่ต่อต้านการรัฐประหารหลายๆกลุ่มมาอยู่ด้วยกันและกำเนิดมาเป็น 'นปช.'

อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างที่สุดที่กลุ่มคณะราษฎรมี คือ ข้อเรียกร้องทางการเมืองที่ทะลุเพดาน ไปไกลเกินกว่าทุกกลุ่มการเมืองนอกสภาที่เคลื่อนไหว

คณะราษฎรพยายามนำเอาความทะลุเพดานมาเป็นประเด็นสาธารณะ มีหลายเวทีทางวิชาการได้หยิบประเด็นข้อเรียกร้องของกลุ่มคณะราษฎรนอกเหนือไปจากการยุบสภา แก้ไขรัฐธรรมนูญ ไล่นายกรัฐมนตรี มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเชิงวิชาการอยู่พอสมควร แม้จะยังไม่แพร่หลายก็ตาม

แต่ถึงกระนั้น หากมองกันตามความเป็นจริงข้อเรียกร้องที่ทะลุเพดานนั้นจะขึ้นไปได้สูงแค่ไหน เนื่องจากเป็นประเด็นที่แหลมคมและยังยากต่อการหาข้อสรุปเพื่อนำไปสู่การหาฉันทามติร่วมกันของสังคมในเร็ววัน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีกลุ่มคนที่มีอีกชุดความคิดที่มีคำอธิบายเช่นกันว่าเหตุใดถึงไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอทะลุเพดานเช่นว่านั้น

จุดอ่อนของการพยายามจะทะลุเพดานนั้นทำให้ข้อเรียกร้องที่น่าจะมีความเป็นไปได้และสร้างแนวร่วมให้มาอยู่กับตัวเองได้มากขึ้น ทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือ การยุบสภา ถูกลดน้ำหนักลง ประกอบกับ แรงสนับสนุนจากภาคการเมืองโดยแท้อย่างพรรคการเมือง ก็ลดน้อยลงเพราะไม่ต้องการถูกเหมารวมไปด้วย แม้ว่าจะเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องอื่นๆก็ตาม

เมื่อประกาศขึ้นหลังเสือเพื่อขึ้นที่สูง เป็นเรื่องยากที่จะลงจากหลังเสือได้ ไม่เพียงแต่ลงมาไม่ได้แล้วยังมีราคาที่ต้องจ่ายด้วย

ดังนั้น ภาพของการชุมนุม 14 ต.ค. อาจจะได้เห็นมหาประชาชนมาชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก็จริง แต่สิ่งที่กลุ่มคณะราษฎรหวังจะได้เห็นคนเรือนแสนแน่นถนนราชดำเนินเหมือนเมื่อ 47 ปีที่แล้ว อาจไม่ได้เป็นดั่งหวัง

การประกาศชัยชนะเชิงนามธรรมกลางถนนราชดำเนินเหมือนกับ 20 ก.ย.กลางสนามหลวง แม้จะเกิดขึ้น แต่ความฝันที่จะบินให้สูงเสียดฟ้านั้นยังต้องตะเกียกตะกายต่อไป ไม่ต่างอะไรกับการวิ่งมาราธอน ถ้าอึดพอก็อาจไปถึงเส้นชัย แต่หากไม่เป็นเช่นนั้น ย่อมไม่อาจหลีกเลี่ยงผลที่จะตามมาได้เช่นกัน