วิกฤติ ‘หนี้ครัวเรือน' อีกความเปราะบางเศรษฐกิจไทย

วิกฤติ ‘หนี้ครัวเรือน' อีกความเปราะบางเศรษฐกิจไทย

วิกฤติเศรษฐกิจไทยจากพิษโควิด-19 ต้องบอบช้ำมากขึ้นจาก "หนี้ครัวเรือน" ที่สูงสุดในรอบ 18 ปี สะท้อนจากสถิติ Q2/63 แบงก์ชาติชี้สูงถึง 84% ของจีดีพี ขณะที่ตลาดแรงงานในระยะข้างหน้ายังน่าห่วง ดังนั้นจึงนับเป็นหนึ่งในความเปราะบางทางเศรษฐกิจที่ต้องเฝ้าจับตา

วิกฤติโรคระบาดที่เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ “โควิด-19” ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง และสร้างความเปราะบางในหลายๆ ภาคส่วนเศรษฐกิจ โดยหนึ่งในภาคส่วนเศรษฐกิจที่มี “ความเปราะบาง” เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และกำลังถูกวิกฤติครั้งนี้เข้ามา “ซ้ำเติม” ทำให้ปัญหาดูหนักหนามากขึ้น คือ “หนี้” ของภาคครัวเรือน

ข้อมูล “หนี้ครัวเรือน” ล่าสุด ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2563 ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานออกมา คือ 84% ต่อตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เป็นตัวเลขที่สูงสุดในรอบ 18 ปี นับตั้งแต่เก็บสถิติ หรือหากจะบอกว่าเป็นตัวเลขที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ก็ดูจะไม่ผิดนัก ...ในภาคการคลัง เราบอกว่า กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ดีระดับหนี้ “ไม่ควรเกิน” 60% ต่อจีดีพี หากเอานิยามนี้มาใช้กับ “ภาคครัวเรือน” คงต้องยอมรับว่า หนี้ครัวเรือนของไทยเลยจุดนั้นมาไกลมากแล้ว

ระดับของหนี้ครัวเรือนดังกล่าว ถ้าดูจาก “มูลหนี้” ไม่ได้ขยายตัวมากนัก ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2563 มูลค่าหนี้รวมอยู่ที่ 13.5 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเพียง 3.8% ดังนั้นสาเหตุที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นจนแตะระดับ 84% จึงมาจากการที่ “จีดีพี” ปรับตัวลดลง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ “น่ากังวล” เพราะการลดลงของจีดีพี ย่อมหมายถึง “รายได้” ของประชาชนที่ลดลง สวนทางกับระดับหนี้ที่เพิ่มขึ้น ที่น่าห่วงกว่า คือ เวลานี้คนจำนวนไม่น้อย เผชิญกับการ “ว่างงาน” หรือไม่ก็ “ถูกลด” ชั่วโมงการทำงาน กระทบต่อรายได้โดยตรง

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ ธปท. หยิบมารายงาน สะท้อนความน่าเป็นห่วงของ “ตลาดแรงงาน” ในระยะข้างหน้า ซึ่งอาจสั่นสะเทือนไปถึง “การชำระหนี้" ของภาคครัวเรือนด้วย โดยในช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวแตะระดับ 7.5 แสนคน ที่น่าห่วงกว่า คือ จำนวนผู้เสมือนว่างงาน กล่าวคือ เป็นกลุ่มที่ยังมีงานทำ แต่ทำงานน้อยกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน เพิ่มขึ้นแตะ 5.4 ล้านคน แม้ว่าหลังคลายล็อกดาวน์ จำนวนผู้เสมือนว่างงานจะลดลงมาเหลือ 2.6 ล้านคน แต่จำนวนผู้ว่างงานยังคงอยู่ระดับสูงถึง 7.2 แสนคน ซึ่งไม่ได้ลดลงมากนักเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา

มองไปข้างหนี้ จำนวนผู้ว่างงานยังน่าเป็นห่วง โดยศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ รายงานว่า “การปิดกิจการ” ของภาคธุรกิจยัง “เพิ่มขึ้น” ต่อเนื่อง โดยในช่วง 28 วันแรกของเดือน ส.ค. พบว่าภาคธุรกิจมีจำนวนการปิดกิจการเพิ่มขึ้นถึง 34% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนถึงภาวะการจ้างงานที่ยังไม่คลี่คลาย... “หนี้ครัวเรือน” จึงถือเป็นหนึ่งในความเปราะบางทางเศรษฐกิจที่ต้องเฝ้าจับตา แม้ ธปท.จะออกมาตรการต่างๆ มาช่วยดูแลไม่ว่าจะเป็นการพักชำระหนี้ การลดอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำ หรือแม้แต่การรวมหนี้ แต่ด้วยระดับหนี้ต่อรายได้ที่สูงขึ้นจนมาจ่อที่คอหอย ทำให้สถานการณ์เหล่านี้ยังไม่อาจวางใจได้ ยังต้องติดตามดูอย่างใกล้ชิดต่อไป