ปูทางยื้อแก้รัฐธรรมนูญ ไปจบที่ศาล...ไม่ใช่สภา

ปูทางยื้อแก้รัฐธรรมนูญ  ไปจบที่ศาล...ไม่ใช่สภา

การเมืองว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เริ่มชัดเจนมากขึัน แต่เป็นในแง่ของการ "ยื้อ" ภายหลังเริ่มมีการตั้งประเด็นเกี่ยวกับการทำประชามติ ซึ่งมีแนวโน้มว่าอาจจะต้องไปสู้และจบกันที่ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่รัฐสภา

เรื่องยื้อ “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ”  ดูเหมือนจะยิ่งชัดเจนมากขึ้นและมีความเป็นไปได้ที่อาจต้องสู้กันในศาลรัฐธรรมนูญ ภายหลังคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาเสนอความเห็นในประเด็นข้อกฎหมาย ของ กมธ. พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ.​... ซึ่งมี “วิเชียร ชวลิต” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธาน อนุฯ ตั้งประเด็นให้ศึกษาใน 6 เรื่องสำคัญ ดังนี้

1.ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ในญัตติที่ 1-2 ว่าด้วยแก้ไขมาตรา 256 และให้มี สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)  ทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ขัดกับมาตรา 256 และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 18-22/2555 ที่สรุปสาระได้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับต้องทำประชามติถามความเห็นประชาชนก่อน หรือไม่

2.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และตั้งส.ส.ร. นั้นต้องออกเสียงประชามติก่อนหรือไม่ และต้องเสียงประชามติทั้งหมดกี่ครั้ง

3.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในญัตติที่ 3 - 6 ว่าด้วยแก้ไขเป็นรายมาตรานั้น ขัดกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตามญัตติที่ 1-2 หรือไม่ เพราะมีข้อพิจารณาคือ ทำให้เกิดองค์กรร่างรัฐธรรมนูญหรือแก้ไขเพิ่มเติม 2องค์กรในเวลาเดียวกัน

4.ตรวจสอบสิทธิของส.ส. ที่ร่วมลงลายมือชื่อในญัตติแก้รัฐธรรมนูญ ทำได้มากกว่าหนึ่งญัตติหรือไม่

5.การตั้งสมมติฐาน กรณีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ รายมาตรา ไม่ถูกรับหลักการ แต่ร่างว่าด้วยตั้งส.ส.ร. ผ่าน สิทธิของส.ส.ร. จะนำรายมาตราที่ไม่ผ่านเสียงรับหลักการมาพิจารณาได้อีกหรือไม่

แม้การตั้งประเด็นทั้งหมดที่ว่ามานี้จะถูกอธิบายความในที่ประชุมคณะอนุกมธ.ว่า มาจากการตั้งคำถามในการอภิปรายต่อที่ประชุมรัฐสภา และเป็นความคาใจ ที่ต้องการไขให้กระจ่าง ผ่านนักกฎหมายและผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ หาใช่การวินิจฉัยความที่นำไปสู่การตั้งธงตามความเห็นของสมาชิกรัฐสภา ที่ไม่ต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ  แต่ความเข้าใจของ “ฝ่ายอยากแก้รัฐธรรมนูญ” มองออกว่า นี่คือ ความพยายามจะทำให้ความจริงของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถอยห่างออกไปจากการปฏิบัติของฝ่ายนิติบัญญัติ 

ทั้งนี้ เป็นเพราะการตั้งประเด็นนั้นก่อให้เกิดการตีความเรื่องเชิงเทคนิคมากกว่าการพิจารณาทำความเข้าใจเนื้อหาที่เสนอแก้ไข  ซึ่งถ้าพูดกันแบบภาษาชาวบ้าน คือ ฝ่ายที่ไม่อยากแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องไปให้เรื่องไปถึงและจบที่ศาลรัฐธรรมนูญมากกว่าจะให้จบที่รัฐสภา

หากเป็นเช่นนั้นหมายความว่าอาจทำให้การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีบันไดทอดยาวออกไปอีก จากเดิมที่รัฐสภาควรได้ลงมติในวาระที่ 1 ในเดือนพ.ย.นี้

ยิ่งในภาวะที่มีการชุมนุมเรียกร้อง ให้ รัฐสภา แก้รัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อเปิดทางให้มี “ส.ส.ร.” และรัฐบาลปัจจุบันยุบสภาฯ เลือกตั้งใหม่ กลายเป็นสิ่งที่เหมาะเจาะ ที่จะประวิงเวลา ให้รัฐบาลปัจจุบันอยู่ในตำแหน่งได้ยาวอีกหน่อย เพราะผลของการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ผูกพันกับสถานะเจียนอยู่ เจียนไปของรัฐบาล

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นมีการวิเคราะห์กันว่า หากยื้อเวลาออกไปจนครบปีที่ 3 ของรัฐบาลนี้ การยุบสภา เพื่อเลือกตั้งใหม่ โดยไม่รอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จ สิ้น เพื่อให้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่มีกลไกสืบทอดอำนาจได้อยู่ใช้บังคับต่อ และเป็นโอกาสที่จะได้  "รัฐบาลตัวแทนทหาร” เข้ามาบริหารประเทศอีกครั้ง