สธ.เผยโควิด-19ระลอกใหม่เกิดเป็นหย่อมๆ

สธ.เผยโควิด-19ระลอกใหม่เกิดเป็นหย่อมๆ

สธ.เผยโควิด-19ระลอกใหม่เกิดเป็นหย่อมๆ ย้ำไม่มีการปิดบ้านปิดเมืองอีก ตั้งเป้าปีแรกวัคซีนครอบคลุม50%ของคนไทย เผยแนวโน้มวัคซีนทำสำเร็จอาจล้นตลาด เหตุหลายบริษัทศึกษาวิจัย 

ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  กล่าวว่า หนึ่งในนโยบายเร่งด่วนที่จะขับเคลื่อน คือการควบคุมสถานการณ์โรคโควิด -19 ได้ตั้งทีมทำงานขึ้นมาเพื่อวิเคราะห์ฉากทัศน์ของโรคโควิด-19ที่อาจจะเกิดขึ้นในระลอกต่อไป ซึ่งไม่แน่ว่าจะขึ้นในช่วงเวลาไหน แต่การระบาดแบบวงกว้างจนควบคุมไม่ได้คงไม่เกิดขึ้น และจะไม่มีการปิดบ้านปิดเมืองเหมือนในระลอกที่ 1  เนื่องจากมีมาตรการทางสังคมต่างๆที่ประชาชนร่วมปฏิบัติมากกว่า 80 % ทำให้สามารถป้องกันได้

      “อาจมีการระบาดเป็นหย่อมๆเกิดขึ้น แต่จะควบคุมสถานการณ์ไม่ให้มีผู้ติดเชื้อและแพร่ระบาดมากขึ้นโดยเร็ว โดยได้มอบให้กรมควบคุมโรคดำเนินการและนำเสนอแผนรายละเอียดและจะแถลงอย่างชัดเจนอีกครั้งภายในสัปดาห์หน้าส่วนของวัคซีนในปีแรกตั้งเป้าให้ครอบคลุม 50
% ของประชากร ซึ่งจะมีการจัดหาจากแหล่งต่างๆ ทั้งนี้ ทีมที่ปรึกษาด้านโควิด-19 มีการคาดการณ์หากมีการพัฒนาวัคซีนได้สำเร็จจริง อาจจะทำให้วัคซีนล้นตลาดเพราะมีบริษัททำวัคซีนมากที่สุด อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันแม้ยังไม่มีวัคซีนแต่คนไทยก็อยู่ได้แค่ใส่หน้ากากอนามัย”นพ.เกียรติภูมิกล่าว

        สำหรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศไทยวันนี้ มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 5 ราย เป็นผู้เดินทางจากต่างประเทศ (ฟิลิปปินส์ 1 ราย, อิหร่าน 1 ราย, อินเดีย 1 ราย, บราซิล 2 ราย) ทุกรายเข้ากักตัวในสถานที่รัฐจัดให้,  สถานกักตัวที่รัฐกำหนด มีผู้ป่วยกลับบ้านได้ 5 ราย ทำให้ผู้ป่วยกลับบ้านสะสม 3,379 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 94.68 ของผู้ป่วยทั้งหมด มีผู้ป่วยที่ยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 131 ราย หรือร้อยละ 3.67 ของผู้ป่วยทั้งหมด ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม รวมผู้เสียชีวิตสะสม 59 ราย ผู้ป่วยสะสมทั้งสิ้น 3,569 ราย

     ผู้ติดเชื้อรายใหม่วันนี้ เป็นผู้ที่เดินทางมาจากฟิลิปปินส์ 1 ราย เป็นเพศชาย อายุ 26 ปี สัญชาติฟิลิปปินส์ เดินทางถึงประเทศไทย วันที่ 23 กันยายน 2563 เข้ากักตัวในสถานที่รัฐกำหนด (Alternative State Quarantine) ในกรุงเทพมหานคร ตรวจหาเชื้อครั้งแรก วันที่ 26 กันยายน 2563 ผลไม่ชัดเจน ตรวจซ้ำวันที่ 29 กันยายน 2563 (วันที่ 6 ของการกักตัว) ผลพบเชื้อไม่มีอาการ เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนที่กรุงเทพมหานคร

        อิหร่าน 1 ราย เป็นเพศชาย อายุ 48 ปี สัญชาติไทย อาชีพรับจ้าง เดินทางถึงประเทศไทยวันที่ 24 กันยายน 2563 เข้ากักตัวในสถานที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) ที่จังหวัดชลบุรี พบเชื้อจากตรวจครั้งแรกวันที่ 29 กันยายน 2563 (วันที่ 5 ของการกักตัว) ไม่มีอาการ เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่จังหวัดชลบุรี

       อินเดีย 1 ราย เป็นเพศชาย อายุ 41 ปี สัญชาติอินเดีย อาชีพค้าขาย เดินทางถึงประเทศไทยวันที่ 25 กันยายน 2563 เข้ากักตัวในสถานที่รัฐกำหนด (Alternative State Quarantine) ในกรุงเทพมหานคร เริ่มป่วยวันที่ 26 กันยายน 2563 ด้วยอาการเจ็บคอ หลังจากนั้นเริ่มมีไข้ พบเชื้อจากการตรวจครั้งแรกวันที่ 29 กันยายน 2563 (วันที่ 4 ของการกักตัว) เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพมหานคร ก่อนหน้านี้พบผู้ติดเชื้อจากเที่ยวบินเดียวกัน 2 ราย  ทุกรายได้เข้าสู่ระบบกักกันและส่งต่อรักษาที่โรงพยาบาล

        บราซิล 2 ราย เป็นสามี-ภรรยา ทั้ง 2 ราย อายุ 28 ปี สัญชาติบราซิล สามีเป็นนักกีฬาวอลเล่ย์บอล ภรรยาเป็นสมาชิกครอบครัว เดินทางถึงประเทศไทยวันที่ 28 กันยายน 2563 เข้ากักตัวในสถานที่รัฐกำหนด (Alternative State Quarantine) ในกรุงเทพมหานคร พบเชื้อจากการตรวจครั้งแรกวันที่ 29 กันยายน 2563 (วันที่ 1 ของการกักตัว) ไม่มีอาการ เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพมหานคร

        ด้านนพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด 19 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อที่ได้รับรายงานมีความเป็นไปได้ว่าน่าจะต่ำกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจริงอยู่หลายเท่า เนื่องจากบางรายไม่แสดงอาการป่วย หรือติดเชื้อแต่ไม่ได้เข้าสู่ระบบเฝ้าระวัง และรักษา
       
       สถานการณ์ของประเทศไทย ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ขณะนี้เป็นผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ และเข้าสู่ระบบการกักตัวเพื่อเฝ้าระวังอาการทุกราย อย่างไรก็ตาม การที่ไม่พบรายงานผู้ติดเชื้อในประเทศไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีผู้ติดเชื้อปะปนอยู่ในสังคม และสถานการณ์ในประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับประเทศไทยยังไม่เป็นที่วางใจมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด ซึ่งหากมีการลักลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย จะเป็นความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดในระลอกใหม่ได้เนื่องจากไม่ได้ผ่านการคัดกรองและเฝ้าระวังโรคตามมาตรการที่กำหนด

         ขอให้ทุกคนในประเทศ อย่าประมาท เคร่งครัดการปฏิบัติตัวตามมาตรการป้องกันตนเอง ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่างระหว่างผู้อื่นเท่าที่จะทำได้ และลงทะเบียนเข้าออกสถานที่ที่ใช้บริการผ่าน “ไทยชนะ” ทุกครั้ง เพราะหากพบผู้ติดเชื้อจะง่ายต่อการติดตามผู้สัมผัสมาตรวจและเฝ้าระวังโรคต่อไป