ออม ‘ศิลป์’ ให้เป็นทรัพย์ กับ ก้องเกียรติ โอภาสวงการ

ออม ‘ศิลป์’ ให้เป็นทรัพย์ กับ ก้องเกียรติ โอภาสวงการ

งานศิลปะดีราคาไม่มีตก ออมอย่างไรให้'ศิลป์'กลายเป็นทรัพย์ที่ทรงคุณค่า 'ก้องเกียรติ โอภาสวงการ' แนะวิธี ออม’ศิลป์’อย่างมีศิลปะ

“ขึ้นเร็วกว่าอัตราเงินเฟ้อ พุ่งแรงกว่าตลาดหุ้น” ทว่าการออมเงินทุนด้วยงานศิลปะจะเริ่มต้นกันอย่างไร ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด กล่าวถึงกฎสั้นๆข้อแรก คือ “ต้องชอบ ถ้าไม่ชอบถึงมีสตางค์ก็ไม่ประโยชน์”

ความสนใจในงานศิลปะของก้องเกียรติ เริ่มต้นมาตั้งแต่อายุ 7 ขวบ

160053353623

“พ่อผม (ไพจิตร โอภาสวงการ) เป็นช่างภาพ และเป็นกรรมการสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทำให้ผมมีโอกาสติดตามพ่อไปถ่ายภาพ ไปเป็นกรรมการตัดสินภาพถ่ายบ่อยๆ ทำให้ผมรู้ว่าภาพถ่ายที่เข้ารอบและตกรอบเป็นอย่างไร

ช่วงทำงานที่ธนาคารกสิกรไทย ก็แวดล้อมไปด้วยงานศิลปะ เพราะอดีตประธานกรรมการ คุณบัญชาล่ำซำ เป็นผู้สนับสนุนวงการศิลปะไทย พอไปเรียนต่างประเทศมีโอกาสไปเห็นพิพิธภัณฑ์ระดับโลกหลายแห่ง ทั้งหมดเป็นจุดเริ่มต้นที่จุดประกายให้ผมเป็นนักสะสมในวันนี้” ก้องเกียรติ ย้อนถึงที่มาของความสนใจเพื่อโยงถึงกฎข้อแรกอันเป็นที่มาของ ความชอบ’

“กว่าจะเข้ามาในวงการศิลปะก็ลองผิดลองถูกอยู่หลายครั้ง ภาพเขียนชิ้นแรกที่ผมซื้อเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ผมเชื่อว่าวันนี้ราคายังคงเหมือนเดิม เพราะอะไร เปรียบเทียบง่ายๆเหมือนกับการซื้อที่ดิน ถ้าซื้อผิดทำเล ต่อให้เวลาผ่านไปนานแค่ไหนราคาก็ไม่ขึ้น งานศิลปะก็เหมือนกัน

แต่ประสบการณ์จะช่วยสอนเรา ผมได้รับเชิญให้ไปตัดริบบิ้นเปิดนิทรรศการให้ศิลปินไทยไม่ต่ำกว่า 50 คน และผมจะซื้อผลงานของศิลปินทุกครั้ง นอกจากเป็นการให้กำลังใจแล้ว ผมยังได้เรียนรู้และทำความเข้าใจว่างานศิลปะเป็นอย่างไร ฝรั่งคิดอย่างไร คนไทยคิดอย่างไร ศิลปินคนไหนที่มีแวว ภาพแนวไหนที่น่าสนใจ”

เมื่อสะสมในสิ่งที่ชอบแล้ว สิ่งนั้นต้อง เปลี่ยนมือง่ายราคาไม่ตก

“ไม่ว่าเราจะสะสมอะไรก็แล้วแต่ นอกจากชอบแล้ว ต้องเป็นของที่เปลี่ยนมือได้ง่าย ราคาไม่ตกเพราะถือว่าเป็นการลงทุน แต่ไม่ได้หมายความว่าผมซื้อมาเพื่อที่จะไปเทรด เท่าที่ผ่านมามีงานศิลปะในครอบครองกว่า 400 ชิ้น ไม่เคยคิดจะนำออกมาเปลี่ยนเป็นเงิน เว้นแต่นำออกประมูลเพื่อหารายได้ให้กับการกุศล เราเก็บสักวันหนึ่งถ้าส่งต่อไปให้ลูกหลานมูลนิธิหรืออะไรก็แล้วแต่เขาสามารถนำไปขายทำประโยชน์ได้เปลี่ยนเป็นเงินทองได้”

160053387054

ผลงานของนที อุตฤทธิ์ ศิลปินไทยที่นักสะสมชาวไทยและต่างประเทศต่างจับตามอง

นอกจากนี้นักสะสมชั้นนำของวงการยังกล่าวว่า การสะสมงานศิลปะไม่มีสูตรตายตัว สิ่งที่เราเข้าใจอาจไม่ใช่สิ่งที่ชอบของตลาด ความรอบรู้ต้องมี ศิลปิน อาจารย์สอนศิลปะ และแกลลอรีเป็นที่ปรึกษาที่ดี ที่สำคัญ ต้องมีสภาพคล่อง

“สำหรับมือใหม่ มี budget เท่าไหร่ ผมแนะนำให้ซื้อชิ้นเดียวพอ หลายคนบอกว่ามีเงิน 1 ล้านบาทให้ซื้อภาพเขียน 20 รูปเลยแต่ผม แต่ผมมองว่าถ้าผ่านไปอีก 10 ปีรูปนั้นมันก็ยังคงรูปละ 50,000 บาท ซื้อมาสเตอร์พีซรูปเดียว 1 ล้านบาทไม่ดีกว่าเหรอ ซื้อเพชร ซื้อที่ดินก็เหมือนกัน ผมใช้คอนเซ็ปต์เดียวกันหมด”

อย่าลืมว่า “ของดีราคาไม่ตก โดยเฉพาะงานศิลปะ ราคาขึ้นเร็วกว่าอัตราเงินเฟ้อ เร็วกว่าตลาดหุ้น” อ้างอิงจากสถิติ 33 ปีย้อนหลัง (1985-2018)

 “ผลตอบแทนต่อปีโดยประมาณ 3.3 เปอร์เซ็นต์ สำหรับ Cash ตอนนี้ return คือ 0 ในอดีตมีช่วงดอกเบี้ยสูงต่ำแต่เฉลี่ยแล้วโดยประมาณ 3.3 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าเป็นงานศิลปะจะอยู่ที่ 5.3 เปอร์เซ็นต์ งาน contemporary Art สูงกว่าถึง 7.5 เปอร์เซ็นต์ ส่วนหุ้นอยู่ที่ 9.8 เปอร์เซ็นต์ของตลาดที่พัฒนาแล้วอย่างอเมริกา ส่วนตลาดเกิดใหม่อย่างไทย จีน อยู่ที่ 10.8 เปอร์เซ็นต์ ยกตัวอย่างให้เห็นเป็นภาพรวม” ก้องเกียรติกล่าว

 เมื่อถามถึงศิลปินที่น่าจับตามองในสายตาของนักสะสม ชื่อของ ถวัลย์ ดัชนี ยังคงยืนหนึ่ง

“ผมชอบถวัลย์ ดัชนี เพราะว่าผลงานของเขามีความเป็นอินเตอร์ และมีคาแรคเตอร์ ส่วนเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ น่าจะเหมาะกับนักสะสมคนไทยมากกว่า ส่วนรุ่นใหม่ๆ นที อุตฤทธิ์ ที่กำลังตามงานเขาอยู่

ประเทือง เอมเจริญ ศิลปินที่เรียนรู้ด้วยตัวเองเป็นอีกคนที่ผมชอบ ผมมีงานของเขาหลายชิ้น สถาบันการประมูลคริสตี้ส์จีบผมมาเหมือนกันแต่ผมยังไม่ปล่อย ส่วนศิลปินต่างประเทศผมชอบ แอนดี้ วอร์ฮอล

ส่วนเทคนิคในการเลือกซื้อผลงานศิลปะ สำหรับมือใหม่ ก้องเกียรติ แนะนำว่า ถ้าไม่รู้จักศิลปินให้ดูจากประวัติก่อน จากนั้นดูที่ฝีแปรง เนื้อหาของภาพที่ต้องการสื่อสาร อย่าลืมว่าต้องซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ในราคาที่เหมาะสม

“ถ้าไม่รู้จักใครเลย ให้ไปแกลลอรี เพราะสามารถติดตามประวัติของภาพได้”

160053410687

ก้องเกียรติ โอภาสวงการ และผู้เข้าร่วมคอร์สแบ่งปันประสบการณ์การลงทุนเพื่อต่อยอดการลงทุน ทางรอดฝ่าวิกฤตกับทรัพย์สินทางเลือก Alternative Investment ‘ARTS’ จัดโดย กรุงเทพธุรกิจ