'ซีพีออลล์' เฟ้นสุดยอดนวัตกรรม ‘เซเว่น อินโนเวชั่น อวอร์ดส์ 2020'

'ซีพีออลล์' เฟ้นสุดยอดนวัตกรรม ‘เซเว่น อินโนเวชั่น อวอร์ดส์ 2020'

“ซีพีออลล์”หนุนผู้ประกอบการนวัตกรรมหน้าใหม่ฝ่าวิกฤตโควิด-19 เปิดม่าน“เซเว่น อินโนเวชั่น อวอร์ดส์ 2020”โชว์ผลงานนวัตกรรมจากธุรกิจขนาดเล็กที่มีศักยภาพโดดเด่น ให้ก้าวสู่ตลาดพร้อมเปิดพื้นที่ให้วางจำหน่ายผ่านร้านค้าในเครือ ออลล์ออนไลน์-ทเวนตี้โฟร์ช้อปปิ้ง

“ปทุมรักษา” เพิ่มโอกาสรักษามะเร็งเต้านมจาก ม.ขอนแก่น ควงคู่ “แคลเซียมจากก้างปลา” ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากโรงงานลูกชิ้นปลา คว้ารางวัลสุดยอดนวัตกรรม “เซเว่น อินโนเวชั่น อวอร์ดส์ 2020” 

นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารออลล์ ออนไลน์และเซเว่น อีเลฟเว่น เปิดเผยว่า บริษัทฯ พร้อมด้วย 10 หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิเช่น กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประกาศผลรางวัลสุดยอดนวัตกรรม “เซเว่น อินโนเวชั่น อวอร์ดส์” ปีที่ 7 ภายใต้โครงการความร่วมมือขับเคลื่อนนวัตกรรมสำหรับประเทศ

160035810976

ปีนี้มีผู้ประกอบการส่งผลงานเข้าประกวดรวม 152 ผลงาน และ มีผลงานที่ผ่านการตัดสินให้ได้รับรางวัล 39 ผลงาน แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ รางวัลนวัตกรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ ครอบคลุมด้านผลิตภัณฑ์ ด้านการบริการ หรือ ด้านกระบวนการ 24 ผลงาน และ รางวัลนวัตกรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการศึกษารวมถึงด้านโครงการเพื่อความรับผิดชอบต่อสังคม (ซีเอสอาร์) 15 ผลงาน

โครงการประกวดดังกล่าวนี้ มุ่งเฟ้นหาสินค้านวัตกรรมจากบริษัทเอสเอ็มอีหรือสตาร์ทอัพสัญชาติไทย ที่มีความคิดสร้างสรรค์และศักยภาพโดดเด่น สามารถต่อยอดให้เป็นสินค้านวัตกรรมที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายในระดับประเทศหรือระดับโลก อีกทั้งเพื่อเป็นการเปิดทางให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ทดสอบสิ่งใหม่ๆ กับผู้บริโภคได้อย่างถูกต้อง ซึ่งสามารถนำไปสู่การยกระดับขีดความสามารถด้านนวัตกรรมของประเทศ

160035816751

ผู้ชนะการประกวดจะได้รับโอกาสในการต่อยอดความสำเร็จทางธุรกิจ ผ่านช่องทางจัดจำหน่ายอันหลากหลาย ได้แก่ ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ที่มีสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศ ช่องทางออลล์ ออนไลน์ ในแอพพลิเคชั่น 7- Eleven และ ทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง รวมถึงบริษัทในเครือข่ายของความร่วมมือ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ช่วยขยายศักยภาพทางการแข่งขันของสินค้านวัตกรรมในประเทศอย่างก้าวกระโดด

“เรามุ่งมั่นในการสนับสนุนให้มีการพัฒนาผลงานสินค้านวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นให้เกิดแรงผลักดันทั้งภายในและระหว่างองค์กรในการคิดค้นสินค้านวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะมาพลิกโฉมและก่อประโยชน์ให้กับประเทศทั้งในแง่เศรษฐกิจและสังคม ให้เกิดการพัฒนาต่อยอดไปสู่ผลงานนวัตกรรมที่สูงขึ้นในระดับประเทศ” นายก่อศักดิ์ กล่าว

‘โควิด’กระตุ้นเอกชนทำวิจัย

นายพูลสวัสดิ์ เผ่าประพัธน์ กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการตัดสินรางวัล กล่าวเสริมว่า สภาวการณ์ที่เกิดขึ้นมองว่า “โควิด” เป็นเครื่องกระตุ้นให้บริษัทต่างๆ เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ เห็นความสำคัญของนวัตกรรมมากยิ่งขึ้น และสามารถสร้างสรรค์ผลงานเพื่อผลักดันให้ผ่านวิกฤติไวรัสในครั้งนี้ไปสู่โลกในยุคนิวนอร์มอลได้เข้มแข็ง ดังนั้น เราต้องต่อสู้กับวิกฤติโดยอาศัยองค์ความรู้ของวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

โครงการนี้จึงเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะส่งเสริมผู้ประกอบการ พร้อมยกระดับเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมาสู่ปกติสุข โดยซีพีออลล์ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมเงินทุนและกำลังคนในทุกๆ ก้าวของโอกาส ได้ให้การสนับสนุนตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ เริ่มตั้งแต่รับสมัคร ให้คำแนะนำ ส่งผลงานและมีผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาด้านงานวิจัย การผลิต การตลาด ตลอดจนสนับสนุนแหล่งทุน เพื่อสร้างระบบนิเวศให้เกิดชุมชนผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม (IDE community) ที่จะส่งต่อไปสู่ IPO ของตลาดหลักทรัพย์ซึ่งจะส่งเสริมให้เกิดสตาร์ทอัพหรือเอสเอ็มอีพันธุ์ใหม่ที่ไม่กลัวการแข่งขันและวิกฤติต่างๆ

160035818566

ส่วนเกณฑ์การคัดเลือกได้มีการตัดสินจาก "สินค้า" หรือ "บริการ" ว่าตอบโจทย์แและเป็นที่ต้องการของตลาดหรือไม่ อีกทั้งสิ่งเหล่านั้นมีจุดเด่นหรือเอกลักษณ์ที่สามารถสร้างจุดยืนและเลียนแบบได้ง่ายหรือไม่ เนื่องจากความเป็นนวัตกรรมจะต้องมีความ "แตกต่าง" และยากทีจะ "ลอกเลียน" แบบเมื่อ "สินค้า" หรือ "บริการ" เหล่านั้นตอบโจทย์ จึงถือได้ว่ามีความเหมาะสมกับการเป็นสินค้านวัตกรรมที่สมบูรณ์แบบ

“ผลงานในปีก่อนๆ มีหลายชิ้นที่ประสบความสำเร็จและเติบโตต่อเนื่องทุกปี โดยเฉพาะระยะหลังมีหลายหน่วยงานให้ความสนใจและร่วมผลักดันมากขึ้น ส่วนปีนี้ผลงานมากกว่า60% เป็นอาหารและเครื่องดื่ม รองลงมาคือเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ยาและบริการทางการแพทย์ รวมกว่า 20% และมีผลงานจากสตาร์ทอัพ 4 ราย คาดว่าในปีถัดไปจะมีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมไม่น้อยกว่า 150 ผลงาน”

นวัตกรรมเพื่อคุณภาพชีวิต

สำหรับผลงานชนะเลิศด้านสังคม “กล่องปทุมรักษา” พัฒนาโดยคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เป็นนวัตกรรมเก็บรักษาชิ้นเนื้อผู้ป่วยมะเร็งเต้านม เพื่อให้เซลล์คงสภาพและสมบูรณ์ที่สุด ส่งผลให้การวินิจฉัยโรคได้แม่นยำและนำไปสู่การวางแผนรักษาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

1600358201100

โจทย์ปัญหามาจากการจัดเก็บชิ้นเนื้อผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ซึ่งก่อนหน้านี้หลังผ่าตัดเต้านม เจ้าหน้าที่จะนำชิ้นเนื้อแช่ในฟอร์มาลีนเก็บไว้ในถุงพลาสติกก่อนจะนำส่งห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจวินิจฉัย ซึ่งมีข้อจำกัดด้านเวลา รวมถึงการขนส่ง ทำให้ชิ้นเนื้อของผู้ป่วยบางครั้งไม่คงสภาพ ส่งผลต่อการตรวจวินิจฉัยโรค ก่อนจะมีการคิดค้นกล่องปทุมรักษาซึ่งเป็นนวัตกรรมเก็บรักษาชิ้นเนื้อผู้ป่วยมะเร็งเต้านม เพื่อให้เซลล์คงสภาพและสมบูรณ์ที่สุด

ปัจจุบัน กล่องปทุมรักษาถูกนำไปใช้ในโรงพยาบาล 14 แห่งทั่วประเทศ พบว่าหลังการใช้กล่องปทุมรักษาทำให้การตรวจเซลล์มะเร็งเต้านมได้ผลอย่างแม่นยำ ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยาที่เหมาะสม มีอัตราการรอดชีวิตเพิ่มขึ้น โดยในอนาคตทีมนักวิจัยอยากให้มีการขยายผลและต่อยอดนวัตกรรม เพื่อให้การวินิจฉัยเชื้อมะเร็งเต้านมได้ผลแม่นยำและผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

160035821557

ส่วนผลงานชนะเลิศด้านเศรษฐกิจ “ยูเอ็นซี แคลเซียม” บริษัท ยู้ ฟิชบอล จำกัด เป็นการสร้างมูลค่าให้กับส่วนที่เหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตลูกชิ้นปลา เช่น ก้างปลาและอื่นๆ ซึ่งมีมากประมาณ 3-4 ตัน มาต่อยอดในเชิงงานวิจัย ได้รับการสนับสนุนจากโครงการคูปองนวัตกรรมของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (เอ็นไอเอ)