‘ซีเมนส์’ เปิดวิชั่น ‘เมืองอัจฉริยะ’ มหานครแห่งโลกอนาคต

‘ซีเมนส์’ เปิดวิชั่น ‘เมืองอัจฉริยะ’ มหานครแห่งโลกอนาคต

ปีนี้อุปกรณ์มากกว่า 5 หมื่นล้านชิ้น จะเชื่อมต่อกันได้ และ 1 ใน 5 ของอุปกรณ์เหล่านี้จะถูกใช้อยู่ภายในอาคาร

สมาร์ทกริด คือ การเชื่อมต่อระหว่างระบบพลังงานอัจฉริยะกับผู้บริโภค อนาคตผู้ใช้ไฟฟ้าจะเป็นเป้าการทำดิจิทัลไลเซชันของการใช้พลังงาน สมาร์ทกริดจะเริ่มจากบ้านเรือน ใช้เซ็นเซอร์อำนวยความสะดวก นำเทคโนโลยีไอโอทีควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้า เราสามารถเฝ้าติดตามการเปิดปิดอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านผ่านโทรศัพท์มือถือได้

"เมื่อสมาร์ทกริด ติดตั้งครบถ้วน ระบบจะรู้ได้ว่ามีปัญหาไฟฟ้าเกิดขึ้นที่บริเวณใด หรือบ้านหลังไหนผ่านทางมิเตอร์ที่ติดหน้าบ้าน และจะส่งข้อมูลไปยังระบบควบคุมว่าสามารถจ่ายไฟจากวงจรข้างเคียงมาทดแทนได้หรือไม่ รวมถึงส่งข้อมูลไปยังทีมงานที่ดูแลการแก้ไขปัญหาให้เข้ามาดำเนินการแก้ไขได้รวดเร็ว หรืออีกแนวทางหนึ่ง คือ การใช้ระบบแก้ไขอัตโนมัติ นำไปใช้ในอาคารที่ขนาดใหญ่ขึ้นได้ เช่น ในอาคารอัจฉริยะ" 

 หัวใจสำคัญของสมาร์ทกริด คือ ทำให้พลังงานสะอาด นำมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ประหยัดที่สุดและยั่งยืนที่สุด ภายใต้แนวคิดพลังงานไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์

อาคารอัจฉริยะที่สื่อสารได้

ผู้บริหาร ซีเมนส์ ระบุว่า อนาคตอาคารมีหน้าที่ปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมของผู้อาศัย หัวใจสำคัญ คือ ทำอย่างไรอาคารจึงสามารถบริหารพลังงานที่สร้างขึ้น ด้วยค่าใช้จ่ายต่ำที่สุด แต่ยังใช้ประโยชน์สูงสุดได้ อาคารอัจฉริยะต้องคำนวณค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้แม่นยำ แม้แต่ในสภาพอากาศแปรปรวนก็ไม่กระทบต่อคุณภาพของพลังงาน นี่คือผลที่ได้รับจากการประมวลผลของเทคโนโลยีพยากรณ์อากาศ บวกการวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมของผู้พักอาศัย อาคารจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบพลังงานในเมืองอัจฉริยะ

เทคโนโลยีดิจิทัลทวิน (Digital Twins) จะมีบทบาทสำคัญในการบริหารอาคาร การออกแบบเสมือนจริงก่อนการก่อสร้างช่วยให้เจ้าของอาคารเห็นภาพจำลองดิจิทัลอาคารล่วงหน้าทุกมิติ อาคารสามารถคาดการณ์ปัญหาต่างๆ ได้ล่วงหน้า ทำให้ต้นทุนบริหารอาคารลดลง

ซีเมนส์เป็นหนึ่งในทีมที่ร่วมสนับสนุนโครงการ Aspern Smart City Research ประเทศออสเตรีย ซึ่งนับเป็นเมืองอัจฉริยะที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป และเป็น Living Lab หรือห้องวิจัยที่เก็บตัวอย่างจากการใช้งานในชีวิตจริง ที่ใช้เพื่อพัฒนาโซลูชั่นพลังงานสำหรับเมืองแห่งอนาคต

"สำหรับไทย นโยบายการผลักดันเมืองอัจฉริยะของรัฐบาล นับเป็นทิศทางที่ถูกต้อง แต่เรื่องนี้ใหญ่เกินกว่าจะเป็นภาระของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ภาครัฐบาลมีบทบาทสนับสนุนเรื่องกฎหมายและการลงทุน ภาคเอกชนช่วยได้เรื่อง Know-how เทคโนโลยี เพื่อนำมาช่วยการเพิ่มประสิทธิภาพทางพลังงานและลดเกิด CO2  ทุกฝ่ายต้องทำงานประสานกัน นำเทคโนโลยีมาปรับใช้ รวบรวม วิเคราะห์ แยกแยะข้อมูลอย่างเหมาะสม อันนำไปสู่ความเข้าใจ วางแผน ปรับปรุง สร้างสรรค์ร่วมกัน"