เมื่อโควิด-19 กวาด 'ตำแหน่งงาน' ทั่วโลกหด ฉากต่อไปจะเป็นอย่างไร?

เมื่อโควิด-19 กวาด 'ตำแหน่งงาน' ทั่วโลกหด ฉากต่อไปจะเป็นอย่างไร?

เมื่อโควิด-19 กวาดตำแหน่งงานหายไปมาก ผลพวงจากเศรษฐกิจทั่วโลกปักหัวลง โดยเฉพาะสหรัฐที่มีการคาดการณ์ว่าจะหายไปถึง 37 ล้านตำแหน่ง ด้านไทยนั้น สอวช.ออกมาแนะ 4 ทักษะสำคัญที่ทำให้คนสามารถรักษางานเอาไว้ได้ ในวันที่ทุกอย่างไม่เหมือนเดิม

หากเป็นละคร ฉากที่ผ่านมาของปีนี้เป็นเสมือนปีที่หายไป หรือ Lost Year สำหรับหลายๆ คน ที่เบาหน่อยก็เพียงแต่รู้สึกไม่ได้ทำอะไรเพิ่มขึ้นมากนักเหมือนที่เคยทำมาในปีอื่นๆ ไปจนถึงที่สาหัสคือ งานหายไป หรือ Job Loss ซึ่งหมายถึงรายได้ขาดหายไป และไม่มีเงินใช้จ่าย

นอกจากการใช้ชีวิตของทุกคนในโลกต้องเปลี่ยนแปลงไปอันสืบเนื่องมาจากโควิด-19 แล้ว การปรับเปลี่ยนทัศนคติ การเรียนรู้ การทำงาน ก็ต้องปรับเปลี่ยนไป “ทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิม” ในฉากต่อไป นโยบาย รูปแบบ และการจัดการธุรกิจ และการบริหารจัดการประเทศ ก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย

โควิด-19 มาพร้อมกับกวาดตำแหน่งงานที่มีอยู่ให้หายไปมากมาย เฉพาะในสหรัฐอเมริกาประเทศเดียว World Economic Forum รายงานว่า จากการศึกษาของคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยคอร์แนลร่วมกับกลุ่มแนวร่วมเพื่ออเมริกาที่รุ่งเรือง คาดการณ์ว่าตำแหน่งงานในสหรัฐอเมริกาจะหายไปถึง 37 ล้านตำแหน่ง เนื่องมาจากผลพวงของโควิดต่อเศรษฐกิจ

ในประเทศกลุ่ม OECD มีการคาดการณ์ว่าอัตราการว่างงานของประเทศในกลุ่ม OECD จะเพิ่มจาก 5.3% ณ สิ้นปี 2562 เป็น 9.4% ในปีนี้ และหากมีการระบาดระลอกสองในปลายปี การว่างงานจะเพิ่มขึ้นเป็น 12.6% โดยผู้อยู่ในกลุ่มฐานะยากจน และคนทำงานเพศหญิงได้รับผลกระทบมากกว่า

ในเยอรมนี สหภาพการค้า IG Metall ซึ่งเป็นตัวแทนของลูกจ้าง 2.3 ล้านคน ได้ออกมาเรียกร้องให้ภาคธุรกิจให้พนักงานทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ เพื่อลดผลกระทบจากโควิด-19 และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของอุตสาหกรรมรถยนต์ เนื่องจากคาดว่าตำแหน่งงานประมาณ 0.3 ล้านตำแหน่งมีโอกาสหายไป

การให้พนักงานทำงานคนละเพียง 4 วันต่อสัปดาห์ จะช่วยทำให้ธุรกิจไม่ต้องปรับลดจำนวนคนไปตามความต้องการสินค้าและบริการที่ลดลง พูดง่ายๆ ก็คือ แบ่งงานเฉลี่ยกันทำ แต่ละคนจะมีรายได้ลดลง ซึ่งก็ยังดีกว่าบางคนมีรายได้ แต่บางคนไม่มีรายได้เลยค่ะ

เมื่อพบกับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน และทุกคนไม่เคยพบมาเลยในช่วงชีวิตนี้ ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ นโยบายต่างๆ ของรัฐและโมเดลธุรกิจต่างๆ ของเอกชน ก็ต้องปรับเปลี่ยนไป เรียกว่าต้องกลับมาลองผิดลองถูก กลับมาคิดต่าง เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจและธุรกิจขับเคลื่อนไปข้างหน้า

เรามีช่วงเวลาที่อัตราเงินเฟ้อขึ้นสูงจนเป็นอันตราย เช่น ช่วงหลังสงครามโลก ช่วงน้ำมันราคาพุ่งสูงในทศวรรษที่ 1970 และเราก็มีช่วงเวลาที่อัตราเงินเฟ้อต่ำเป็นเวลานาน เช่นที่เกิดขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จนอาจจะเกิดอันตราย (แบบที่เคยเกิดที่ประเทศญี่ปุ่นในช่วง “ทศวรรษแห่งการสูญหาย (Lost Decade)” ซึ่งเศรษฐกิจไม่เติบโต เงินเฟ้อต่ำใกล้ศูนย์จนถึงติดลบ)

หลังจากวิกฤติโรคระบาดที่มาจากไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นวิกฤติที่ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกปักหัวลง ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ จึงต้องปรับตัว ปรับนโยบายอัตราดอกเบี้ยกันใหม่ค่ะ โดยล่าสุดประธานของธนาคารสหรัฐ หรือ เฟด คือนายเจอโรม พาวเวล ได้ออกมาประกาศว่า เฟดจะปรับนโยบายอัตราดอกเบี้ย ไปเป็นการใช้ “เป้าหมายเงินเฟ้อเฉลี่ย” แทนที่จะเป็น “เป้าหมายเงินเฟ้อ”

เมื่อโจทย์เปลี่ยน การดำเนินการที่เกี่ยวข้องก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย จะยึดติดกับของเดิมๆ วิธีคิดเดิมๆ ไม่ได้อีกต่อไป

มาถึงของไทยบ้าง ดร.กิติพงศ์ พร้อมวงศ์ เลขาธิการ สำนักงานสภานโยบาย การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สอวช. กล่าวไว้ว่า จากการสำรวจพบว่าทักษะสำคัญที่ทำให้คนสามารถรักษางานเอาไว้ได้มี 4 ทักษะ คือ ทักษะการแก้ไขปัญหา (Problem Solving Skill) ทักษะการบริหารโครงการ (Project Management Skill) ทักษะการวิเคราะห์ (Analytical Skill) และความเป็นผู้นำ (Leadership)

หากท่านใดเริ่มรู้สึกว่างานของเราไม่มั่นคง พยายามเสริมทักษะทั้งสี่อย่างนี้ และพยายามแสดงทักษะเหล่านี้ให้ผู้อื่นเห็นด้วยนะคะ

แผนงานของ สอวช. เพื่อเตรียมตอบโจทย์วิกฤติของประเทศไทยก็น่าสนใจค่ะ

แผนงานมีสี่ระยะ ระยะละ 6 เดือน โดยระยะสุดท้ายจะยาวไป 5 ปี โดยระยะแรกพยายามควบคุมการแพร่ระบาด (Restriction) คาดการณ์ปัญหา เพื่อลดความเสียหายและบรรเทาความเสียหายระยะสั้น

ระยะที่ 2 Reopening ใช้วิธี Reskill/Upskill ให้ต่อยอดใช้จริงได้ ช่วย SME กับผู้ประกอบการ จัดสรรทุนวิจัยและสร้างนวัตกรรม ถ่ายทอดเทคโนโลยี ไปยังผู้ประกอบการอย่างตรงจุด รวมถึงการสร้างตลาด การพัฒนาเชิงพื้นที่

ระยะที่ 3 Recovery เมื่อเศรษฐกิจฟื้นและปรับตัวต้องเสริมความแข็งแกร่งให้กับทุกภาคส่วนทั้งการท่องเที่ยวการผลิตSMEsบริการภาครัฐการศึกษาสุขภาพเศรษฐกิจฐานรากเกษตรต้นน้ำอาหารรวมถึงศิลปวัฒนธรรมและเกษตรสร้างสรรค์ปรับเปลี่ยนและยกระดับทักษะเปลี่ยนผ่านธุรกิจและกิจกรรมสู่ดิจิทัลเพื่อลดต้นทุนเพิ่มประสิทธิภาพใช้ big data เพื่อการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มคุณค่า ลดความเหลื่อมล้ำ เสริมคุณค่าความเป็นมนุษย์ สนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนและภูมิคุ้มกันสู่ความยั่งยืนปลดล็อกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

ระยะที่ 4 Restructuring ใช้เวลาประมาณ 5 ปีปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมไปสู่เกษตรแม่นยำหรือเกษตรมูลค่าสูง สร้างขีดความสามารถของผู้ประกอบการโดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี สร้างจุดขายด้านการท่องเที่ยวบนฐานความแข็งแกร่งทางสาธารณสุขและวัฒนธรรม วิจัยและนวัตกรรมที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ทำงานร่วมกับชุมชน และเน้นความยั่งยืน

ฉากต่อไปจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับเราทุกคนที่จะเขียนบทให้ประเทศของเราค่ะ ถ้าเขียนด้วยความหวังดีต่อประเทศอย่างจริงใจ รับฟังและร่วมมือ และผู้แสดงรู้หน้าที่ของตน มีความสามัคคี ซื่อสัตย์ สุจริต ประเทศเราจะไปได้ไกลอย่างแน่นอน

สำคัญคือ อย่าทุบหม้อข้าวของตนเองเสียก่อนเท่านั้น เลยจะไม่ได้ไปไหนกัน