มอง 'การเมืองญี่ปุ่น' หลังยุค 'อาเบะ'

มอง 'การเมืองญี่ปุ่น' หลังยุค 'อาเบะ'

วิเคราะห์การเมืองของญี่ปุ่นหลังจากนี้ เมื่อต้องผลัดเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีใหม่ หลังจากชินโซ อาเบะ ผู้ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรียาวนานที่สุดของญี่ปุ่น ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งไปเมื่อเร็วๆ นี้

นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ผู้ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดของญี่ปุ่น ประกาศลาออกอ้างสุขภาพไม่ดี ปิดฉากการเป็นผู้นำประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 3 ของโลก หลังพยายามพลิกฟื้นการเติบโตและเพิ่มการป้องกันประเทศ

อาเบะ ที่มีปัญหาโรคลำไส้อักเสบมานานหลายปี ล่าสุดเพิ่งไปโรงพยาบาล 2 ครั้งในรอบ 1 สัปดาห์จนก่อให้เกิดความกังวลว่า เขาจะรับตำแหน่งประธานพรรคเสรีประชาธิปไตย (แอลดีพี) และนายกรัฐมนตรีไปจนครบวาระในเดือน ก.ย.2564 ได้หรือไม่ วานนี้ (28 ส.ค.) นายกฯ ญี่ปุ่นวัย 65 ปีได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกฯแล้ว

“ผมไม่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป ถ้าไม่มั่นใจว่าจะแบกรับการงานที่ประชาชนไว้วางใจได้” อาเบะกล่าวและว่า เขาไม่อยากให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองในช่วงที่ประเทศกำลังแก้ไขวิกฤติโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)

“ผมต้องขอโทษจากก้นบึ้งของหัวใจ ทั้งๆ ที่ประชาชนญี่ปุ่นสนับสนุนผมอย่างเต็มที่ ผมลาออกก่อนครบวาระถึง 1 ปีเต็ม” นายกฯ ญี่ปุ่นกล่าวด้วยเสียงสั่นเครือ น้ำตาซึมเป็นระยะๆ

เมื่อข่าวนายกฯ ลาออกแพร่สะพัด ฉุดให้ดัชนีนิกเคอิ 225 ลดลง 2.12% มาอยู่ที่22,717.02 ดัชนี Topix ลดลง 1.00% ที่ 1,599.70 จุด นักลงทุนเทขายหุ้น 4.7 หมื่นล้านดอลลาร์ จากมูลค่าตลาดหุ้นโตเกียว 5.7 ล้านล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าในช่วงที่อาเบะอยู่ในตำแหน่ง

ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ที่อาเบะลาออกจากตำแหน่งนายกฯ เพราะปัญหาสุขภาพ เมื่อเกิดเหตุเช่นนี้ภายในพรรคแอลดีพีก็ต้องรีบหาผู้นำพรรคคนใหม่ ส่วนใหญ่ใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ ผู้ที่ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคต้องส่งชื่อไปให้สภาผู้แทนราษฎรเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ หัวหน้าพรรคคนใหม่จะดำรงตำแหน่งในช่วงเวลาที่เหลือของอาเบะ

สื่อญี่ปุ่นรายงานว่า อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม “ชิเกรุ อิชิบะ” และอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ “ฟุมิโอะ คิชิดะ” สนใจตำแหน่งหัวหน้าพรรค ส่วนคนอื่นๆ ที่มีชื่อล้วนเป็นคนใกล้ชิดอาเบะ หนึ่งในนั้นคือโยชิฮิเดะ ซูงะ ประธานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

แต่ไม่ว่าใครจะได้เป็นหัวหน้าพรรคก็น่าจะเก็บนโยบาย “อาเบะโนมิกส์” เอาไว้ เนื่องจากญี่ปุ่นกำลังรับมือกับผลกระทบของโควิด-19 แต่อาจอยู่ได้ไม่นานเหมือนที่อาเบะทิ้งตำนานเอาไว้

เจสเปอร์ โคลล์ ที่ปรึกษาอาวุโสบริษัทจัดการสินทรัพย์ “วิสดอมทรีอินเวสต์เมนต์” มองว่า นโยบายในภาพรวมไม่เปลี่ยนแปลงทั้งในแง่นโยบายเศรษฐกิจและการเงิน เน้นเพิ่มการหมุนเวียนเงินในระบบ

ทั้งนี้ เมื่อวันจันทร์ (24 ส.ค.) อาเบะเพิ่งทุบสถิติเป็นนายกฯ ติดต่อกันนานที่สุด เหนือกว่าเอซากุ ซาโตะ น้องชายของปู่ที่เคยทำไว้เมื่อ 50 ปีก่อน

นาโอฮิโตะ โคจิมะ พนักงานบริษัทหลักทรัพย์วัย 55 ปี มองว่า อาเบะทำงานหนักกับนโยบายอาเบะโนมิกส์ในฐานะหัวหน้าพรรคมานานถึง 8 ปีแล้ว

“มีปัญหารุมเร้ามากมาย แต่ถ้าคนอื่นมาเป็นผู้นำก็เกิดคำถามว่า เขาจะรักษารัฐบาลที่มีเสถียรภาพนานเท่าที่อาเบะทำได้หรือไม่ เขาเจรจางานการทูตมากมาย ผมคิดว่าเขามีข้อดีมากกว่าข้อเสีย” โคจิมะกล่าว

159863125577  

อาเบะได้รับเสียงชื่นชมว่า นำญี่ปุ่นรุกแสดงบทบาทในเวทีโลก หลังจากต้องเปลี่ยนผู้นำบ่อยๆ มาหลายปี

การลาออกของนายกฯ ญี่ปุ่นเกิดขึ้นในช่วงที่บรรยากาศการเมืองระหว่างประเทศไม่แน่นอน การเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐกับจีนเข้มข้นขึ้น และสหรัฐกำลังจะเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือน พ.ย.

อาเบะ ผู้มีแนวคิดอนุรักษนิยมกลับมาเป็นนายกฯ รอบสอง ที่ไม่ค่อยมีใครทำได้ เมื่อเดือน ธ.ค.2555 ให้คำมั่นว่าจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจภายใต้นโยบาย “อาเบะโนมิกส์” ที่เป็นการผสมผสานระหว่าง นโยบายการเงินผ่อนคลายสุดๆ การทุ่มใช้งบประมาณ และการปฏิรูป รวมทั้งให้คำมั่นเพิ่มการป้องกันประเทศ และแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

เขายังมีส่วนสำคัญในความสำเร็จที่ญี่ปุ่นได้เป็นเจ้าภาพโตเกียว โอลิมปิก 2020 แต่ถูกเลื่อนออกไปเป็นปีหน้าเพราะโควิด-19 ระบาด ถึงตอนนี้ยังมีความเคลือบแคลงอยู่ว่า จะจัดได้ต่อไปจริงหรือไม่ ซึ่งอาเบะก็ได้พูดถึงเรื่องโอลิมปิกด้วยตอนแถลงลาออก

159863185347

“เราต้องรับผิดชอบหน้าที่การเป็นประเทศเจ้าภาพโอลิมปิกให้สมบูรณ์ แน่นอน ผมเชื่อว่าคนที่มารับตำแหน่งต่อจากผมสามารถเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกได้ภายใต้ความเชื่อแบบเดียวกันนี้”

อาเบะถูกวิจารณ์หนักเรื่องการจัดการโควิดและเรื่องอื้อฉาวของสมาชิกพรรคแอลดีพี คะแนนนิยมของเขาตกต่ำที่สุดครั้งหนึ่งในรอบเกือบ 8 ปีที่อยู่ในตำแหน่งนายกฯ

การระบาดของโควิดในญี่ปุ่นถือว่าไม่มากเมื่อเทียบกับที่อื่นๆ ผู้ติดเชื้อเกือบ 67,000 คน เสียชีวิต 1,255 คน แต่อาเบะถูกตำหนิเรื่องที่รับมือช้าในช่วงแรก จนโรคแพร่ออกไปนักวิจารณ์จึงมองว่าเขาไร้ภาวะผู้นำ

ขณะเดียวกันเศรษฐกิจก็ตกต่ำมากที่สุดในไตรมาส 2 ตอนที่ต้องปิดห้างป้องกันโรค ความต้องการซื้อรถและสินค้าส่งออกอื่นๆ ลดลง รัฐบาลต้องทำงานหนักขึ้นไม่ให้ภาวะเศรษฐกิจถดถอย