'สุทิน' ย้ำเห็นต่าง 'ก้าวไกล' แก้ รธน. ไม่ใช่ขัดแย้ง ยันเคารพสิทธิ์ทุกพรรค

'สุทิน' ย้ำเห็นต่าง 'ก้าวไกล' แก้ รธน. ไม่ใช่ขัดแย้ง ยันเคารพสิทธิ์ทุกพรรค

"สุทิน" ย้ำเห็นต่าง "ก้าวไกล" แก้รัฐธรรมนูญไม่ใช่ขัดแย้ง แค่มติของแต่ละพรรค ย้ำเคารพสิทธิ์ และให้เกียรติทุกพรรค รับหากยื่นร่วมเป็นการขัดหลักการ

เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 63 นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงความขัดแย้งระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ไม่ใช่ความชัดแย้งแต่เป็นความเห็นต่าง และเป็นมติของแต่ละพรรค ซึ่งหลายครั้งที่พรรคก้าวไกลขอยืนตามแนวทางของเขาเราก็ให้เกียรติ ส่วนพรรคเพื่อไทยก็ขอให้เป็นไปตามแนวทางของพรรคเพื่อไทยเอง หากเคารพมติของแต่ละพรรคก็ไม่มีปัญหาอะไรสามารถทำงานต่อไปได้ ซึ่งรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องใหญ่จึงมีความเห็นที่แตกต่างกัน เป็นการกระทบกระทั่งกันตามปกติ ซึ่งเราคิดว่ามันจะผ่านไป และเรื่องอื่นที่เห็นตรงกันก็มาทำร่วมกัน เชื่อว่าจะดีขึ้นเอง เพราะตนดูประวัติศาสตร์แล้วไม่มีพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือพรรคร่วมรัฐบาลใดที่ไปด้วยกันได้ทุกเรื่อง สุดท้ายก็ไปกันได้ปรับความเข้าใจกันได้

นายสุทิน กล่าวด้วยว่า หลังจากที่มีการพิจารณาในที่ประชุมพรรคเพื่อไทยวานนี้ (25 ส.ค.) เราไม่ได้ใช้อารมณ์แต่ใช้หลักการว่าการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ หลักการคือให้ประชาชนเป็นคนเขียน ถ้าประชาชนเป็นคนเขียนคือการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งพรรคเพื่อไทยเห็นตามแนวทางนี้ ส่วนที่ถามว่าเราอยากปิดสวิทช์ ส.ว.หรือไม่นั้น ยืนยันว่าเราอยากปิด และอยากทำอย่างรวดเร็ว เพราะพรรคเพื่อไทยคือคนที่ได้รับผลกระทบจากการมีส.ว.มากที่สุด ตัวอย่างการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ที่พรรคเพื่อไทยได้ส.ส.มากที่สุด แต่ตั้งรัฐบาลไม่ได้ก็เพราะส.ว. หากยังคงอำนาจ ส.ว.ไว้เช่นนี้ เลือกตั้งครั้งหน้าหากเราชนะก็ตั้งรัฐบาลไม่ได้อีกเพราะยังมี ส.ว. จึงเกิดคำถามตามมาว่าใครจะเป็นคนปิดสวิทช์ พรรคเพื่อไทยจะปิดเองหรือจะร่วมกับพรรคก้าวไกลในการแก้ไขมาตรา 272 หากคำนึงถึงความเป็นไปได้ ส.ว.จะยกมือให้ผ่านหรือไม่ เพราะต้องใช้เสียงส.ว. 84 เสียง หมายความว่าเราจะให้ส.ว.ยกมือปิดอำนาจตัวเอง เอามีดตัดแขนตัวเอง เราวิเคราะห์แล้วว่าเป็นไปไม่ได้ จึงมองว่ายังไม่ควรที่จะยื่น ซึ่งมองว่ามีจังหวะที่รอให้สถานการณ์สุกงอม สังคมมีความชัดเจน ผู้ชุมนุมมีพลังสูงกว่านี้ เราอาจจะยื่นตอนนั้นก็ได้ ดังนั้น เมื่อรู้ว่าแพ้จะรบไปทำไม รอไว้รบเมื่อตอนที่คิดว่ามีโอกาสจะชนะดีกว่า

"เหมือนวัยรุ่นกับคนมีประสบการณ์ เมื่อวัยรุ่นโกรธใครก็เดินเข้าไปชกเลย ซึ่งไม่ได้ประเมินว่าเขามีปืนหรืออาวุธหรือไม่ แต่ถ้าเป็นผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์ เมื่อโกรธก็จะตรวจสอบก่อนว่าเขามีอาวุธหรือไม่ รวมถึงประเมินกำลังเขาก่อน หากเขามีอาวุธก็ควรปลดอาวุธก่อนค่อยชก ซึ่งมันต่างกันตรงนี้ ดังนั้น ย้ำว่าเราอยากปิดสวิทช์ ส.ว. แต่เบื้องต้นจะให้ ส.ส.ร.เป็นคนปิด เราต้องการรักษาหลักการนี้ไว้ก่อน แต่หากดูแล้ว ส.ส.ร.ไม่ปิดให้เรา เราก็ต้องยื่นปิดเองแต่ไม่ใช่วันนี้ อาจจะ 3-4 เดือนข้างหน้า นอกจากนี้ สิ่งที่ต่างกันอีกอย่าง พรรคก้าวไกลคิดว่าวันนี้แม้ ส.ว.จะไม่อยากปิดตัวเอง แต่มวลชนมีพลังพอที่จะบีบให้ ส.ว.ยอมร่วมกับเรา แต่ทางเราประเมินต่างกัน ว่าวันนี้พลังมวลชนเองมีพลังเยอะ แต่ยังอาจไม่ถึงขั้นไปไล่เขาจนสุดซอยได้" นายสุทิน กล่าว

นายสุทิน กล่าวอีกว่า ส่วนวันนี้ที่มองว่ารัฐบาลยอมให้ตั้ง ส.ส.ร.เพราะพลังมวลชนให้แก้มาตรา 256 ก็ต้องยอมรับว่าใช่ และตนขอคารวะพลังมวลชน แต่เราประเมินว่าหากบีบเขา เขาก็ทำให้เราได้ในระดับหนึ่งโดยการยอมให้แก้ไขมาตรา 256 แต่ถ้าจะไปไล่เขาจนสุดซอยให้ปิดตัวเอง เราคิดว่ายังไม่ใช่ เมื่อประเมินแบบนี้พรรคเพื่อไทยจึงต่างกับพรรคก้าวไกล ที่มองว่าพลังมวลชนมีจริงแต่ยังไม่ถึงจุดนั้น เราขอเวลาอีกสักพักได้หรือไม่

เมื่อถามว่า กลุ่มผู้ชุมนุมจะรอได้หรือไม่ เพราะหลายคนตั้งข้อสังเกตว่าพรรคก้าวไกลจะยื่นญัตติแก้ไขมาตรา 272 เพื่อเป็นการตอบสนองความต้องการของผู้ชุมนุม นายสุทิน กล่าวว่า เราเคารพเสียงของผู้ชุมนุมว่าเขาต้องการ ส.ส.ร. ซึ่งพรรคเพื่อไทยก็สนองตอบ แต่ถ้าวันนี้ผู้ชุมนุมคิดว่าจะเปลี่ยนไม่เอาส.ส.ร.แล้วจะยื่นแก้ไขมาตรา 272 เอง เราก็เคารพ พร้อมกับประเมินว่าสิ่งที่อยากได้ใหม่ในการยื่นแก้ไขรายมาตราจะเป็นไปได้หรือไม่ หากเป็นไปไม่ได้ เราก็จะต้องทำในสิ่งที่เป็นไปได้ก่อน ตนยังเชื่อว่า ความเห็นของเราตรงกันทั้งหมด แตกต่างกันแค่รายละเอียดว่าวันนี้อะไรทำได้ อะไรที่ยังทำไม่ได้ ซึ่งขอย้ำว่า ผู้ชุมนุมอยากได้ ส.ส.ร. เราก็ทำตามนี้ ส่วนการยื่นแก้ไขมาตรา 272 ต้องประเมินว่าจะให้ ส.ส.ร.ทำ หรือเราทำเอง และวันนี้จะทำได้หรือไม่ เพราะเท่าที่ประเมินคิดว่าส.ว.ยังไม่ยอม

ส่วนจะได้เห็นหน้าตา ส.ส.ร. และรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เมื่อไหร่นั้น นายสุุทิน กล่าวว่า ตามกำหนดที่ประเมินไว้จะได้ส.ส.ร.ไม่เกินเดือนก.พ.2564 หรืออาจจะเร็วกว่านั้นหากได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย จากนั้นจึงจะเริ่มผลักดันในสิ่งที่ต้องการ เช่น การปิดสวิทช์ส.ว.ในการแก้มาตรา 272 ถ้าส.ส.ร.ทำให้เราก็ดี แต่ถ้าไม่ทำจะเกิดความชอบธรรมที่จะบอกกับสังคมว่าเราขอทำเอง

เมื่อถามว่า ความเห็นต่างนี้ทำให้มวลชนเกิดความไม่พอใจพรรคเพื่อไทย นายสุทิน กล่าวว่า เรายอมรับว่าผู้ชุมนุมบางส่วนอาจจะไม่พอใจ เพราะอาจจะไม่เข้าใจ แต่เชื่อว่าได้อธิบาย ได้เรียนรู้โลกความจริง เขาจะเข้าใจเรา ตนขอย้ำว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้มีสามกลุ่ม คือ กลุ่มที่ลดกระแส สร้างกระแส และกลุ่มที่แก้แล้วให้สำเร็จได้จริง ซึ่งพรรคเพื่อไทยแก้เพื่อหวังผลจริงๆอาจจะไม่ทันใจ ไม่ถูกใจ เราก็ต้องขอโทษ แต่ให้มั่นใจว่าสิ่งที่เราเสนอทำได้จริง แต่อาจจะช้าและไม่สะใจ และเชื่อว่าวันหนึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมจะเข้าใจเรา