เชื้อโรคโควิดเปลี่ยนแปลง ไม่ได้แปลว่าเชื้อรุนแรงขึ้น

เชื้อโรคโควิดเปลี่ยนแปลง ไม่ได้แปลว่าเชื้อรุนแรงขึ้น

“หมอยง”อธิบายไวรัสโรคโควิดเปลี่ยนแปลง ขณะนี้ยังไม่ทำให้เชื้อรุนแรงขึ้น ไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน แต่บ่งบอกต้นตอเชื้อ ใช้ประโยชน์ทางระบาดวิทยา

      เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโรคโควิด-19 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายถึงการกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนา 2019 เชื้อก่อโรคโควิด-19ที่มีการกลายพันธุ์ในขณะนี้ว่า สิ่งมีชีวิตทั้งหลายไม่ว่าคน สัตว์ ไวรัสตัวเล็กๆจะมีวิวัฒนาการ ซึ่งไวรัสที่ก่อโรคโควิด-19 แบ่งตัวเร็วมาก เมื่อแบ่งตัวเร็วมากก็มีวิวัฒนาการ มีรูปแบบแตกต่างกันออกไป มีการสืบบรรพบุรุษ จะเห็นว่าเริ่มต้นจากจีน จากสายพันธุ์เอส(S) และแอล(L)

ในประเทศไทยที่พบบ่อยคือ เอส ก็มีการออกลูกหลานกลายเป็นสายพันธุ์ที(T ) แต่ไม่ได้บอกว่าเชื้อแรงขึ้นหรือไม่ เพียงแต่มีการเปลี่ยนแปลงกรดอะมิโน 1 ตัวในจำนวนราว 1 หมื่นตัว เป็นต้น แต่ไม่ได้แปลว่าโรครุนแรงขึ้นและไม่เกี่ยวกับการพัฒนาวัคซีน ส่วนสายพันธุ์ แอล(L) วิวัฒนาการเป็นสายพันธุ์จี(G) สามารแพร่เชื้อได้เร็ว ลูกดกกว่าสายพันธุ์อื่น แต่ไม่ได้บอกว่ารุนแรงขึ้น หรือวัคซีนจะป้องกันไม่ได้

ศ.นพ.ยง อธิบายอีกว่า การตั้งชื่อสายพันธุ์ไวรัส ช่วยในเรื่องของการติดตามว่าต้นตอมาจากที่ไหน และการระบาดเริ่มต้นจากจุดใด จะช่วยในการทำงานทางระบาดวิทยาว่า มากกว่าจะบอกว่าสายพันธุ์นี้รุนแรงกว่าสายพันธุ์โน้น
อย่างเช่น คนที่เข้ากักตัวในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ ซึ่งตรวเจอว่าติดเชื้อ ก็มีการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัส ก็พบว่าเชื้อที่ตรวจพบในผู้เข้ากักกันทั้งหมดเป็นสายพันธุ์ G ขณะที่การระบาดในระลอกแรกของไทยที่มีการติดเชื้อในประเทศส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์เอส
 
ดังนั้น ถ้าเกิดการระบาดในระลอก 2 ก็จะมีการถอดรหัส เพื่อให้ทราบว่าต้นตอของการระบาดนำเข้ามาอย่างไร หากมีกลุ่มที่ระบาดเกิดขึ้นมีต้นตอจากจุดเดียวกัน หรือคนละจุด เช่น หากมีระบาดที่จ.อยุธยา กับภูเก็ต หากถอดรหัสแล้วเป็นสายพันธุ์เดียวกันก็จะรู้ว่ามาจากพ่อแม่ต้นตอเดียวกัน แต่หากคนละสายพันธุ์ ก็จะทำให้รู้ว่ามีการติดเชื้อภายในประเทศเกิดขึ้นกี่จุด

“การระบาดระลอก2หากเกิดขึ้นในประเทศไทย ไม่น่าจะเป้ฯสายพันธุ์เอสที่ระบาดในระลอกแรก เพราะไม่มีการรายงานการติดเชื้อในประเทศมากกว่า 80 วันแล้ว แต่หากพบว่าเป็นสายพันธุ์เอส ก็จะได้เรียนรู้ว่าไวรัสสายพันธุ์นี้อยู่นานกว่า 80 วัน และอาจจะซ่อนเร้นอยู่ในประเทศไทยจุดใดจุดหนึ่ง”ศ.นพ.ยงกล่าว