พัฒนาวัคซีนโควิด ไทยต้องไม่ตกขบวน

พัฒนาวัคซีนโควิด ไทยต้องไม่ตกขบวน

ขณะนี้หลายประเทศเร่งพัฒนาวัคซีนโควิด-19 จนคาดว่าโลกจะมีวัคซีนเร็วขึ้นกว่าที่คาด ด้านไทยการประชุม ครม.ในสัปดาห์หน้าจะมีการอนุมัติงบประมาณ 600 ล้านบาท เพื่อหารือและร่วมลงทุนกับนานาชาติในการผลิตวัคซีนโควิด-19 นับเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่จะมีขึ้นในวันอังคารหน้า (25 ส.ค.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธาน จะมีการอนุมัติงบประมาณ 600 ล้านบาท ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ เพื่อให้ประเทศไทยได้หารือและร่วมลงทุนกับนานาชาติในการผลิตวัคซีนโควิด-19 เพื่อพัฒนา ค้นคว้าวิจัย ทดลองวัคซีนโควิด-19 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข อ้างว่าจะร่วมมือกับมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในประเทศอังกฤษ

ต้องยอมรับว่าประเทศไทยจำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาวัคซีนด้วยตนเอง รวมถึงความร่วมมือกับนานาชาติถือเป็นตัวช่วยที่จำเป็นต้องลงทุน คำถามที่ตามมาคือเหตุผลของกระทรวงสาธารณสุขที่เลือกมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ กับวงเงิน 600 ล้านบาท คุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายหากไปร่วมมือกับสำนักวิจัยหรือมหาวิทยาลัยในประเทศจีน ซึ่งไม่คิดบวกเพิ่มเรื่องลิขสิทธิ์ทางปัญญาเหมือนชาติตะวันตก ปัจจุบันหลายประเทศแข่งขันกัน โดยเฉพาะบรรดาผู้นำชาติมหาอำนาจสั่งให้มีการเร่งผลิตเพื่อให้ได้เป็นผู้นำโลกในการพัฒนาด้านการแพทย์ในการรักษาโควิด-19 เมื่อเป็นนโยบายทางการเมืองที่มีการแทรกแซง ความรุดหน้าในการพัฒนาวัคซีนจึงออกมาเร็วเกินคาด จากที่เคยคาดว่าอย่างเร็วสุดคือกลางปีหน้าจึงจะสำเร็จ กลายเป็นภายในปีนี้หรืออย่างช้าปลายปีก็จะมีวัคซีนต้านโควิดออกมา

ทันทีที่มีข่าวว่าสหรัฐ โดยสถาบันด้านภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐ มีความพร้อมในปลายปี 2563 ที่จะพัฒนาไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ขึ้นมาทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีนต้านไวรัสของบริษัทโมเดอร์นากับไฟเซอร์ ที่อยู่ระหว่างเตรียมการทดสอบวัคซีนในร่างกายมนุษย์ในขั้นตอนสุดท้ายหรือเฟส3 ซึ่งประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศว่าวัคซีนของสหรัฐพร้อมใช้ในช่วงก่อนเลือกตั้งหรือช่วงเดือน พ.ย.ปีนี้ ทำให้วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ต้องออกมาส่งสัญญาณว่ารัสเซียคือผู้ชนะในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 เพราะรัฐบาลเพิ่งได้อนุมัติการผลิตวัคซีนสปุตนิก 5 ของสถาบันวิจัยกามาเลยาอย่างเป็นทางการเพื่อให้พร้อมใช้งานภายในสิ้นเดือน ส.ค.นี้ ขณะที่ประเทศจีน ประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง ได้ประกาศล่าสุดเช่นกัน ให้วัคซีนที่พัฒนาโดยบริษัท แคนซิโน ไบโอโลจิคส์ ได้เริ่มทดลองใช้ในกลุ่มทหารของกองทัพ เป็นของสาธารณะทั่วโลก

เราเชื่อว่าความเป็นไปได้ในการพัฒนาวัคซีนอาจจะมีขึ้นภายในปีนี้ ซึ่งเร็วกว่าคาดการณ์เดิม ทว่าหากมองในมุมของการเมืองโลก เราเห็นว่าจีนน่าเชื่อถือกว่าสหรัฐและรัสเซีย เพราะมีการทดลองกับทหารในกองทัพมาระยะหนึ่ง แตกต่างจากสหรัฐและรัสเซียถูกตั้งคำถามถึงวาระซ่อนเร้นการเลือกตั้งภายในและการเมืองระหว่างประเทศ ยิ่งหน่วยงานในสหรัฐเองยังให้ข้อมูลย้อนแย้งเรื่องระยะเวลาอีกหลายเดือน ส่วนรัสเซียผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกชี้ช่องโหว่เฟสสุดท้ายต้องทดลองอีกหลายหมื่นคนกับเรื่องความปลอดภัยของวัคซีน ประเทศไทยจึงต้องพิจารณาข้อมูลอย่างรอบคอบในเรื่องวัคซีน อย่างน้อยให้สมกับประเทศที่จัดการ กับการแพร่ระบาดได้ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลกในช่วงที่ผ่านมา