ชายมาเลเซียกลับจากไทยติดโควิด สธ.เร่งติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด

ชายมาเลเซียกลับจากไทยติดโควิด สธ.เร่งติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด

สธ.เร่งติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด หลังมาเลเซียรายงานชายกลับจากไทยติดโควิด-19 เผยยังไม่ชัดติดเชื้อจากฝั่งประเทศไหน ย้ำคนร่วมคอนโดฯเสี่ยงต่ำ

         เมื่อวันที่ 17 ส.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวในการแถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ว่า ตามที่ทางการมาเลเซีย แจ้งมายังประเทศไทย ตรวจพบว่ามีชายสัญชาติมาเลเซียอายุ 46 ปี ติดเชื้อโรคโควิด -19 หลังกลับจากประเทศไทย โดยเดินทางถึงประเทศมาเลเซียเมื่อวันที่ 5 ส.ค. ที่ผ่านมา ไม่มีอาการใดๆ การตรวจหาเชื้อในรอบแรกจึงไม่พบเชื้อ ต่อมาในการตรวจครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 15 ส.ค. ที่ผ่านมา ด้วยวิธี RT-PCR ก็พบว่ามีการติดเชื้อโควิด-19 จึงได้แจ้งกลับมายังประเทศไทย
         "ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลของผู้ป่วยคนดังกล่าวมากนัก และไม่ชัดเจน เบื้องต้นได้รับรายงานว่าอยู่ที่คอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ซึ่งหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรค และสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร จะลงพื้นที่ไปสอบสวนโรค ค้นหาผู้สัมผัส ซึ่งรายละเอียดจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง ทั้งนี้ยังไม่ได้มีการยืนยันว่าชายคนดังกล่าวติดเชื้อมาจากที่ใด โดยหลักการคือค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูง คือคนในครอบครัวว่าอยู่กับใคร อยู่กันกี่คน ซึ่งยังไม่มีข้อมูลตรงนี้ ต้องรอผลการตรวจสอบในส่วนของครอบครัวก่อน จึงจะมีการพิจารณาว่าจะต้องตรวจผู้พักอาศัยร่วมคอนโดฯ หรือไม่"นพ.ธนรักษ์กล่าว  


       นพ.ธนรักษ์ กล่าวอีกว่า หากพิจารณาจาก กรณีทหารอียิปต์ ติดเชื้อเข้ามาในพื้นที่จังหวัดระยองที่เราตรวจไปจำนวนมากก็ไม่พบว่ามีการติดเชื้อเพิ่ม นั่นเป็นเพราะคนเหล่านั้นมีความเสี่ยงต่ำ เช่นเดียวกับคนที่อยู่ร่วมคอนโด ถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ แทบจะไม่มีความเสี่ยงเลย และยังมีผลการวิจัยว่าประเทศเขตร้อนการติดเชื้อโควิด-19 จากสิ่งแวดล้อมเป็นไปได้น้อย เมื่อเทียบกับเมืองหนาว ดังนั้นการคิดว่าอาจจะติดได้จากการกดปุ่มลิฟต์อาจจะเป็นไปได้น้อย และระยะเวลาในลิฟต์ประมาณ 5 นาที ก็มีความเสี่ยงต่ำเช่นเดียวกัน ยิ่งถ้ามีการสวมหน้ากากอนามัย หน้ากากผ้าโอกาสติดเชื้อยิ่งไม่มี โดยจากผลวิจัย หากคนป่วยสวมหน้ากากอนามัย จะลดการแพร่เชื้อ 97% ถึงแม้จะเป็นหน้ากากผ้าก็ลดการแพร่เชื้อได้มากเช่นเดียวกัน ที่สำคัญต้องย้ำว่าชายคนดังกล่าวไม่มีอาการ ไปตรวจที่มาเลเซียครั้งแรกก็ไม่มีอาการ จึงมีโอกาสแพร่เชื้อต่ำ 

“การที่ลงไปค้นหาคนในพื้นที่นั้นวัตถุประสงค์หลักไม่ได้เน้นว่าจะมีใครติดเชื้อจากชายคนดังกล่าว แต่เพื่อต้องการทราบว่าชายคนดังกล่าวติดเชื้อมาจากที่ไหน ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าติดเชื้อมาจากแหล่งใด เพราะชายคนดังกล่าวก็ไปอยู่ในสถานที่กักกันของทางการมาเลเซียนานกว่า 10 วันแล้ว ถ้ามีการติดเชื้อในประเทศไทยจริงๆ ก็เป็นไปอย่างที่เคยบอกว่าอาจจะยังมีคนติดเชื้อหลงเหลือในประเทศ ต้องเร่งค้นหาให้เจอและควบคุมให้เร็ว”นพ.ธนรักษ์กล่าว 

นพ.ธนรักษ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีมีรายงานข่าวว่ามีเชื้อไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ นั้นตนทราบว่ามีชื่อรหัส D614G แต่ยังไม่ยืนยันว่าทำให้เกิดการแพร่เชื้อได้เร็วกว่าเดิมหรือไม่ มีผลต่อการแพร่ระบาดทั่วโลกอย่างไร แต่มีการสมมติฐานว่าเชื้อตัวนี้เป็นการกลายพันธุ์ที่จะมาแทนตัวเดิม อย่างไรก็ตาม ไม่จำเป็นต้องพัฒนาชุดตรวจใหม่ เพื่อให้ตรวจจับโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่นี้ เพราะเชื้อไวรัสมีรหัสพันธุ์กรรมมากถึง 30,000 ตัว แต่มีเพียงบางจุดเท่านั้นที่เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจะทราบว่าต้องหยิบจับส่วนใดที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง หรือมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาตรวจหาการติดเชื้อได้ ดังนั้นชุดตรวจ และน้ำยาตรวจที่เรามีก็สามารถตรวจสอบได้