มีอะไรใน 'ปัตตานี' ส่อง 5 เสน่ห์น่าเที่ยวหลังกำแพงพื้นที่สีแดง

มีอะไรใน 'ปัตตานี' ส่อง 5 เสน่ห์น่าเที่ยวหลังกำแพงพื้นที่สีแดง

ถ้าไม่นับภาพจำที่ว่า "ปัตตานี" เป็น 1 ใน 3 ของพื้นที่ความไม่สงบภาคใต้ นอกเหนือจากนั้น "ปัตตานี" ก็คือเมืองชิคๆ ที่มีเสน่ห์และแฝงไว้ซึ่งควาทมงดงามของสถานที่ อาหาร และผู้คนท้องถิ่น ถึงเวลาหรือยังที่เราจะมองจังหวัดนี้ในมุมใหม่?

‘ขณะนี้มีรายงานพบการระเบิดเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ บริเวณทางหลวงหมายเลข 32 จังหวัดปัตตานี มีผู้บาดเจ็บจำนวน...’

คนไทยคงคุ้นชินกับการรายงานข่าว   เหตุการณ์ความไม่สงบ  บริเวณพื้นที่ปลายด้ามขวาน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซ้ำแล้วซ้ำเล่ามาตั้งแต่ปี 2547 นอกจากเสียงร่ำไห้ ระเบิด และความสูญเสีย เสียงอื่นๆ ล้วนถูกกลืนหายไปในกำแพงที่ชื่อว่า พื้นที่สีแดง   หนึ่งในจังหวัดที่มักมีข่าวทำนองนี้  (แบบไม่ตั้งใจ) เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งคงหนีไม่พ้น "ปัตตานี"  ทำให้ในสายตาคนส่วนใหญ่เกิดภาพจำว่า "ปัตตานี"  น่ากลัว และไม่กล้าเดินทางไปเยือนพื้นที่ดังกล่าว 

ขอย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นของสถานการณ์ "ไฟใต้"  สักหน่อย ว่ากันว่าเหตุการณ์ความไม่สงบถูกจุดขึ้นผ่านการ ‘ปล้นปืน’ ที่จังหวัดนราธิวาส ในเดือนมกราคม ปี 2547 จากนั้นก็ลุกลามสู่จังหวัดยะลาและปัตตานี 3 จังหวัดปลายด้ามขวานไทยจึงถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่สีแดง รวมถึงถูกประกาศใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ 3 จชต. และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ไม่ว่าจะเป็นกฎอัยการศึก, พระราชกำหนดการบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พรก.ฉุกเฉิน) และ มาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551

ฐานข้อมูลศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ รายงานสถิติความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ 4 มกราคม 2547 ถึง 31 ธันวาคม 2562 มีเหตุความรุนแรง 20,512 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 7,085 คน บาดเจ็บ 13,233 คน รวมผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต 20,318 คน

ผ่านมาแล้ว 16 ปี ปัจจุบันกฎอัยการศึก และพรก.ฉุกเฉิน ยังคงถูกประกาศใช้ในพื้นที่ทั้ง 3 อย่างต่อเนื่อง แต่ถึงอย่างนั้นในระยะ 2 ปีตั้งแต่ปี 2561 ถึง 2562 นี้ ความไม่สงบเริ่มกลับมา ‘สงบไร้เหตุการณ์รุนแรง ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะมองปัตตานีในภาพจำแบบใหม่?

159741275444

เส้นทางสู่ความสงบแห่งดินแดน "ปัตตานี" -

“2 ปีมานี้มันไม่มีความรุนแรงแล้ว ทหารก็ยังถอนป้อม ถอนกำลังในบางที่ไปบ้างแล้ว แต่ภาวะฉุกเฉินยังอยู่นะ ฮาฮาฮ่า” บังคนขับรถเล่าพร้อมหัวเราะ ขณะพาคณะนักข่าวเดินทางจากสนามบินหาดใหญ่ มุ่งหน้าสู่จังหวัดปัตตานี

“ก่อนหน้านี้ยังคิดว่าค้างที่ปัตตานีไม่ได้อยู่เลย เพราะประมาณ 3 ปีก่อนถ้าใครจะไปปัตตานี ห้ามค้างคืนนะ ต้องตีรถกลับมาค้างที่หาดใหญ่” ผู้ร่วมทริปตอบกลับบังคนขับรถ

การเดินทางสู่ปัตตานี ส่วนใหญ่ถ้าไม่ใช่คนในพื้นที่ทางใต้ จะใช้วิธีการนั่งเครื่องบินมาลงที่สนามบินหาดใหญ่แล้วนั่งรถต่อมายังตัวเมืองปัตตานี ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 40 นาที หรือหากใครสะดวกลงที่สนามบินนราธิวาสก็ทำได้เช่นกัน โดยสามารถนั่งรถจากนราธิวาสมาถึงปัตตานีใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 17 นาที หรือถ้าใครอยากขับรถมาเอง ก็ใช้เวลาจากกรุงเทพประมาณ 14 ชั่วโมง 30 นาที

ขณะเดินทางด้วยรถตู้ วิวสองข้างทางเป็นสวนยางเสียส่วนใหญ่ แต่เมื่อใกล้เข้าเขตปัตตานีจะเริ่มมีวิวทะเลไกลลิบๆ ให้ได้ชมตลอดทาง  ซึ่งพื้นที่ชายฝั่งทะเลดังกล่าว  คิดเป็น 1 ใน 3 ของพื้นที่ทั้งหมดในปัตตานีเลยทีเดียว อีกทั้งยังมีหาดทรายยาวประมาณ 10-30 กิโลเมตร และมีแม่น้ำปัตตานี แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำยะหริ่ง และแม่น้ำหนองจิก  เป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนในเมืองนี้

159741293960

ตลอดระยะทางก่อนที่จะเข้าสู่ตัวเมืองปัตตานี คนขับรถตู้ต้องเปิดกระจกรถให้ทหารประจำด่านเข้าสอบถามอยู่เนืองๆ แต่ไม่มีเรื่องอะไรให้ต้องกังวลใจ ไม่ต้องไปคิดเลยเถิดว่าต้องมีการค้นตัว หรือจะต้องเตรียมตัวหลบกระสุนแต่อย่างใด แค่เตรียมพร้อมสายตาและขาไว้ให้ดี เพราะเมื่อไปถึงเมื่อไหร่ เสน่ห์ของปัตตานีจะกระแทกตาและทำให้ก้าวขาไปชมเมืองแบบไม่หยุดแน่นอน

159741263020

มัสยิด ศาลเจ้า และตึกสวยๆ สไตล์ชิโนโปรตุกีส -

คนปัตตานีส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามมากถึง 86% นับถือศาสนาพุทธเพียง 13% และยังมีย่านชุมชนคนจีนอาศัยอยู่ด้วยเช่นกัน

เมื่อถึงตัวเมืองปัตตานี สถานที่แรกที่ควรไปและถูกแนะนำในโลกออนไลน์มากที่สุดคือ ย่านเมืองเก่าปัตตานีที่ล้อมรอบด้วยถนนอาเนาะรู ปัตตานีภิรมย์ และฤาดี ทั้ง 3 สาย ซึ่งเป็นแหล่งรวมวัฒนธรรมมุสลิม พุทธ และคนจีนเข้าด้วยกัน

“เมืองเก่าแก่แห่งนี้ผ่านอะไรต่อมิอะไรมามากมาย ตั้งแต่ทหารญี่ปุ่นยกพลเข้าปัตตานีในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านยุคเศรษฐกิจอู้ฟู่เพราะธุรกิจเหมืองแร่ภาคใต้ ไปจนถึงวันซบเซาเหมือนเมืองร้างเมื่อคนย้ายออก มาถึงวันนี้ ชาวปัตตานีกลับมาฟื้นฟูมรดกของเมืองอีกครั้ง เพราะรากชีวิตของปัตตานีก็มาจากย่านเก่าเหล่านี้นี่แหละ” ดร.นภดล ทิพยรัตน์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าว

159741289777

หากใครเผลอใจคิดไปว่าอาคารเหล่านี้มันก็แค่ ตึกเก่า! ขอให้ทุกคนคิดใหม่ เพราะภายใต้ตึกเก่ายังมีความสดใหม่แห่ง พหุวัฒนธรรมซ่อนอยู่ซ่อนอยู่

เริ่มต้นที่ถนนอาเนาะรู แหล่งที่ตั้งศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว แห่งตำนานการสร้างเมืองปัตตานี ในบริเวณนี้ถูกเรียกอีกชื่อว่า ชุมชนกือดาจีนอ หรือชุมชนจีนหัวตลาด หลักๆ ที่จะได้เห็นคือ ศาลเจ้า ที่ขับเน้นสีแดง ทองตามหลักวัฒนธรรมจีน รอบๆ มีบ้านแบบจีนเดิม บางหลังยังคงมีคนอาศัยอยู่ บางหลังถูกทิ้งร้างให้เป็นแหล่งรังนก

159741277491

159741271223

159741291611

159741261271

ถัดไปเป็นถนนปัตตานีภิรมย์ กึ่งกลางจุดเชื่อมของถนนอาเนาะรู และฤาดี ปัตตานีภิรมย์ย่านธุรกิจที่เจริญรุ่งเรืองมากในอดีต มีทั้งโรงเตี๊ยม โรงหนัง โรงโบว์ลิ่ง ร้านค้า และร้านอาหาร ร่องรอยของร้านเก่ายังคงมีให้เห็นอยู่ประปราย ทั้งร้านชำ ร้านกาแฟ ที่แสดงถึงความมีชีวิตในอดีต

159741296011

ถนนสุดท้าย คือถนนเส้นฤาดี ที่เป็นกลุ่มอาคารสไตล์ชิโนโปรตุกีสแบบปัตตานี สิ่งที่สะดุดตาในถนนเส้นนี้คือ White House Court อาคารสูงใหญ่สีขาวล้วน ปัจจุบันถนนทั้ง 3 สายยังมีความร่วมสมัยซ่อนอยู่ให้ลองเดินดูเล่นๆ ทั้ง สตรีทอาร์ท และร้านคาเฟ่แบบเก๋ๆ

นอกจากเอกลักษณ์ที่กล่าวมาทั้งหมด บริเวณเมืองเก่าปัตตานียังเคยจัดนิทรรศการที่ชื่อว่า ‘อารมย์ดีโดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ มลายู ลิฟวิ่ง (Melayu Living) ที่รวมตัวกันเพื่อสร้างบันทึกบทใหม่ให้กับพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้

“ถนนทั้ง 3 สายมีเอกลักษณ์ในตัวเอง ใครจะไปคิดว่าจะมีแบบนี้อยู่ในปัตตานี เราควรลืมปัตตานีในแบบที่เราเคยเห็นได้แล้ว และมาเจอปัตตานีในแบบใหม่จะดีกว่า” ราชิต ระเด่นอาหมัด สมาชิกกลุ่มมลายู ลิฟวิ่งกล่าวระหว่างพาเดินทัวร์รอบเมืองเก่า

159741273772

นิทรรศการอารมณ์ดีที่เกิดขึ้นลักษณะไม่ต่างจากงานแบงคอกดีไซน์ วีค (bangkok design week) เพราะกลุ่มมลายูลิฟวิ่งคิดว่าปัตตานีมีเรื่องราวที่น่าสนใจอีกเยอะ หากจัดที่กรุงเทพได้ ปัตตานีก็จัดได้เช่นกัน รูปแบบงานที่ออกมาจึงบรรจบที่ชื่อว่า อารมย์ดี ที่เป็นส่วนผสมของชื่อถนนทั้งสายสามมารวมตัวกัน คือ อา จากถนนอาเนาะรู รม  จากถนนปัตตานีภิรมย์ และ  ดี  จากถนนฤาดี

กิจกรรมภายในนิทรรศการมีตั้งแต่งานแสดงภาพถ่ายของช่างภาพในพื้นที่ การฉายภาพยนตร์ Poem การอ่านบทกวีของ โรสนี นูรฟารีดา กวีหญิงมุลสลิม Performance

“คำว่าสามจังหวัดมันถูกพุ่งมาที่ความไม่สงบ แต่ส่วนตัวเราไม่เชื่อว่าเป็นระเบิดแบบบูม แต่พื้นที่ปัตตานีสำหรับเราเป็นบลูม (bloom) ที่แปลว่าเบ่งบาน เพราะมีคนรุ่นใหม่ที่ผลักดันของดีๆ เราอยากเปลี่ยนการรับรู้บางอย่างให้ได้” ราชิตอธิบาย

- สโลว์ไลฟ์ ปัตตานี -

ถ้าพูดถึงเมืองสโลว์ไลฟ์ แน่นอนว่าใครๆ ก็นึกถึงเชียงใหม่ แต่ใครจะนึกว่า  "ปัตตานี"  ก็มีความสโลว์ไลฟ์ได้เหมือนกัน สิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจจะไม่เคยรู้มาก่อนก็คือ ในตัวเมืองปัตตานีมี   ร้านกาแฟและคาเฟ่  เยอะมาก (อันนี้จัดประเภทร้านน้ำชาเข้าไปด้วย)  และด้วยความที่คนปัตตานีส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม จึงมีวัฒนธรรมการดื่มน้ำชาร่วมกับการดื่มกาแฟ แล้วไม่ได้เป็นแค่ร้านน้ำชาแบบบ้านๆ นะ แต่ถูกอัพเกรดให้อยู่ในระดับ คาเฟ่ สุดชิคแถมบรรยากาศดีอีกด้วย

159741300795

159741279610

จากเดิมคนรุ่นเก่าอาจจะคุ้นตากับร้านน้ำชาที่เป็นแค่เพิง หรือร้านเล็กๆ มีทีวีตั้งไว้ให้คนในชุมชนมาดูข่าว พูดคุย แลกเปลี่ยน แต่มาสมัยนี้ร้านน้ำชาถูกตกแต่งด้วยสไตล์ที่เป็นตัวของตัวเองมากขึ้น มีอาหารและเครื่องดื่มอื่นๆ ให้บริการมากกว่าแค่ชา กาแฟ มีการทำการตลาดผ่านโซเชียลมีเดีย พร้อมจัดมุมสวยๆ เอาไว้ให้ลูกค้าถ่ายรูปเช็กอินและส่งต่อให้คนอื่นๆ บนโลกออนไลน์ได้มาตามรอย

“ใครเป็นคอกาแฟ มาปัตตานีแล้วไม่มีผิดหวัง เพราะจะได้ลิ้มรสกาแฟรสชาติดี แต่ถ้าใครไม่ใช่คอกาแฟก็ไม่ต้องผิดหวังอีกเหมือนกัน เพราะร้านชาชักรอต้อนรับทุกคนอยู่” เจ้าของร้านคาเฟ่ ONYX บริเวณถนนปัตตานีภิรมย์กล่าวติดตลก

159741298541

แม้ร้านชาจะปรับเปลี่ยนตัวเองไปสู่ระดับคาเฟ่อย่างไร แต่กลิ่นอายของการเป็นจุดรวมพลให้ผู้คนได้มาพบปะพูดคุย ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ นั่งรับประทานของอร่อยด้วยกันยังคงอยู่ดังเดิม ดังเช่นวลีที่ว่า กลางคืนคนไทยก็จะไปเฮฮา ส่วนคนภาคใต้กินชา นั่งรีแล็กซ์

มองความงาม "ปัตตานี" ผ่านการตั้งแคมป์ -

นอกจากร้านกาแฟ ร้านน้ำชาและคาเฟ่แล้ว ความสโลว์ไลฟ์ในปัตตานีถูกตอกย้ำผ่านกิจกรรมยอดฮิตสำหรับชาวปัตตานี ก็คือการตั้งแคมป์

“ส่วนใหญ่วัยรุ่นปัตตานีนิยมทำกิจกรรมอะไร?” คำถามถูกตั้งขึ้นจากการสังเกตและเปรียบเทียบกับเด็กพื้นที่อื่น เนื่องจากห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ ที่เข้าข่ายคอมมูนิตี หรือโรงภาพยนตร์ แทบไม่ปรากฏในพื้นที่ปัตตานี

“เอาประเภทไหนละ แต่ส่วนใหญ่เขานิยมไปตั้งแคมป์กัน” อาซีซี ยีเจะแว หนุ่มหน้าเข้มเคราดก หนึ่งในไกค์พาเที่ยวปัตตานีคลายความสงสัย พร้อมอธิบายต่อว่า   “วัยรุ่นที่นี่นิยมตั้งแคมป์กันจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นแคมป์ริมทะเล บนภูเขา ริมแม่น้ำ ในป่า ทรัพยากรทางธรรมชาติของปัตตานีมันสมบูรณ์และเอื้อให้เราไปนั่งชมวิวเฉยๆ ก็ยังได้ ไปตั้งแคมป์ จิบกาแฟ คุยกัน แค่นั้น.. ไม่มีอะไรมาก”

สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติในปัตตานีมีตั้งแต่หาดตะโละกาโปร์ แหลมตาชี ป่าชายเลนยะหริ่ง อุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาว  โดยบริเวณพื้นที่อ่าวปัตตานี ได้รับการยอมรับจากกรมทรัพยากรและป่าไม้ว่ามีความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายของระบบนิเวศชายฝั่งทะเลสูง

เพราะอะไรที่ทำให้วัยรุ่นปัตตานีนิยมตั้งแคมป์กัน?

“นอกจากธรรมชาติที่ดีแล้ว จริงๆ คือพวกของตั้งแคมป์มันถูก ส่วนใหญ่เป็นของมือสองจากฝั่งมาเลเซีย มันเหมือนการโคจรกันของสิ่งสองสิ่ง คือธรรมชาติสวย ของตั้งแคมป์ถูก และพวกปัจจัยภายนอกอย่างพวกห้างมันน้อย อาจจะส่งผลให้กิจกรรมตั้งแคมป์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น”

- มือวางอันดับคุ้ย ณ ตลาด “รูสะมิแล” -

ใครว่าปัตตานีไม่คึกคัก! หากเดินทางไปตามถนนสาย รูสะมิแลหน้ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในวันอาทิตย์จะเห็นร้านรวงตั้งบนทางเท้ามากมาย  คนปัตตานีน้อยคนที่จะไม่รู้จักตลาดสินค้ามือสองแบกะดินซึ่งทอดตัวยาวนับ 2 กิโลเมตรแห่งนี้

159741306045

หลังจากที่คุยกับ อาซีซี ในหัวข้อการตั้งแคมป์ที่อ้างถึงตลาดมือสอง ทำให้การมาจังหวัดปัตตานีแล้วไม่มาเยือน ตลาดรูสะมิแลดูจะเป็นไปไม่ได้ โดยจุดเริ่มต้นนับจากหน้ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และทอดยาวไปสุดสายตา

159741348881

159741349841

สินค้าส่วนใหญ่เป็นของมือสองเกือบทุกประเภท  มีตั้งแต่เครื่องครัวยันภาพวาด เรียกว่าเป็นตลาดสำหรับคนที่ชอบสินค้าแบรนด์หรูในราคาเบาๆ แม้ในช่วง 2-3 ปีหลัง สินค้าจะขยับราคาขึ้นมาตามความนิยม อีกทั้งมีพ่อค้าจากต่างเมืองมาเหมาไปเปิดตลาดมือสองขายเหมือนที่ปัตตานี แต่ผู้คนยังเหนียวแน่นกับตลาดรูสะมิแลเช่นเดิม

‘ตาดีได้...ตาร้ายเสีย’ คำเชิญชวนจากแม่ค้าทำให้ชาวปัตตานียอมเสียเวลาคุ้ยหาสินค้าถูกใจในกอง บางคนถึงขั้นบ่นอุบว่า โอ้ย ปวดหลัง ปวดขา แต่มือก็ยังคุ้ยไม่หยุด บางคนคุ้ยจริงจังอยู่นานจนอยากมอบรางวัลมือวางอันดับคุ้ยให้เลยทีเดียว

159741347257

จริงๆ แล้วตลาดรูสะมิแลนี้ สำหรับคนกรุงเทพอาจจะมองว่าไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร เพราะมีลักษณะคล้ายตลาดคลองถมหรือสะพานพุทธ แต่ความสนุกในการมาเดินตลาดแห่งนี้คือการได้เห็นวิถีชีวิตและความคึกคักของชาวปัตตานี

นูรีน ซุรัยดา สะมะแอ สาวน้อยวัย 25 ปี บอกว่า  "มาเดินตลาดนี้สนุกดีนะคะ ได้ของถูก ได้เลือกเยอะๆ ใครบอกว่าปัตตานีเงียบ ไม่จริงเลย อย่าดูแต่ข่าวสิ ฮาฮาฮ่า  จริงๆ อยากบอกทุกคนที่คิดว่าปัตตานีน่ากลัว ให้ลองมาเที่ยวดูสักครั้งนะคะ มีที่เที่ยวเยอะ ธรรมชาติสวยมาก อย่าตัดสินเราแค่ข่าวเลย มาลองของจริงดีกว่า”

จบบทสนทนากับนูรีนแล้ว เที่ยวปัตตานีครั้งต่อไปคงไม่ไกลเกินเอื้อม หากใครที่ยังลังเลว่าปัตตานีเป็นยังไง ลองมาเที่ยวสักครั้งแล้วจะติดใจ