สนข.เดินหน้า TOD

สนข.เดินหน้า TOD

สนข.เล็งเปิดพีพีพีร่วมทุนระบบขนส่งและพื้นที่เชิงพาณิชย์ ปั้น “อยุธยา” ขึ้นแท่นเมืองท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมระดับโลก คาดใช้งบรวมกว่า 3.19 หมื่นล้านบาท

นายเริงศักดิ์ ทองสม ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบการขนส่งและจราจร สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยถึง การเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชน และการสัมมนาเพื่อลงทุน สรุปผลในพื้นที่เมืองต้นแบบ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โครงการศึกษาพัฒนาเมืองกับระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง “TOD คมนาคม สร้างเมือง เมืองสร้างสุข สุขสร้างได้” โดยระบุว่า อยุธยาเป็น 1 ใน 3 เมืองที่ได้รับคัดเลือกเป็นเมืองต้นแบบการพัฒนา TOD

 

ประกอบกับ สถานีรถไฟอยุธยาได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทน TOD ประเภทศูนย์กลางเมือง (Urban Center: UC) จากกลุ่มแนวเส้นทางรถไฟสายเหนือ ซึ่งเป้าหมายจะพัฒนาในรูปแบบ “เมืองมรดกล้ำค่า แหล่งอุตสาหกรรมชั้นนำ อู่ข้าวอู่น้ำของประเทศ” ด้วยบทบาทความสำคัญของสถานีรถไฟความเร็วสูงและพื้นที่ในรัศมี 500 เมตร โดยรอบสถานีเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทส่งเสริมการพัฒนาเมือง

ขณะเดียวกัน หากไม่มีการพัฒนา TOD จะก่อให้เกิดปัญหาการขยายตัวของเมืองอย่างกระจัดกระจาย เนื่องจากขาดการวางแผนพัฒนาเมืองที่ดี การใช้ประโยชน์พื้นที่ไม่เต็มประสิทธิภาพ แต่หากมีการพัฒนาพื้นที่ตามหลักการ TOD จะทำให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเต็มศักยภาพ มีประสิทธิภาพ และมีความหลากหลาย มีระบบโครงข่ายคมนาคมขนส่งเชื่อมโยงพื้นที่ชุมชนเดิมและชุมชนใหม่ มีโครงข่ายพื้นที่สีเขียว ทางเท้า และทางจักรยานเชื่อมโยงพื้นที่สาธารณะ เป็นต้น

 

สำหรับแนวคิดการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟอยุธยา มุ่งส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟความเร็วสูง เพื่อพัฒนาพื้นที่เมืองท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมระดับโลก โดยแบ่งการพัฒนาเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะเร่งด่วน (2564-2565) ระยะสั้น (2566-2570) ระยะกลาง (2571-2575) และระยะยาว (2576-2580) โดยแบ่งพื้นที่พัฒนาตามแนวทางของ TOD เป็น 5 โซน ได้แก่

 

โซนที่ 1 ย่านสถานีรถไฟทางคู่และสถานีรถไฟความเร็วสูง พื้นที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของสถานีรถไฟทางคู่และสถานีรถไฟความเร็วสูง รวมถึงส่วนของอาคารสถานี อาคารสำนักงาน และที่พักของเจ้าหน้าที่

 

โซนที่ 2 ย่านพาณิชยกรรมรองรับการค้าและบริการขนาดใหญ่ริมถนนโรจนะ พื้นที่พัฒนาแบบผสมผสานพาณิชยกรรม รองรับการค้าและบริการขนาดใหญ่ริมถนนโรจนะ โดยมีอาคารสูงได้ไม่เกิน 30 เมตร เช่น ศูนย์การค้าหรือศูนย์ค้าปลีก อาคารสำนักงาน โรงแรม ศูนย์การประชุมสัมมนา และคอนโดมิเนียม

 

โซนที่ 3 ย่านผสมผสานพาณิชยกรรมรองรับศูนย์กลางการค้าและบริการท่องเที่ยว พื้นที่พัฒนาแบบผสมผสานพาณิชยกรรม รองรับศูนย์กลางการค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่ใกล้สถานี เช่น ศูนย์การค้า ร้านค้าริมถนน (High Street Retail) อาคารสำนักงาน โรงแรม และอพาร์ทเมนท์ให้เช่าเพื่อบริการนักท่องเที่ยวและผู้เดินทางมาติดต่อธุรกิจ

 

โซนที่ 4 ย่านผสมผสานพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัย พื้นที่พัฒนาแบบผสมผสานพาณิชยกรรม และที่อยู่อาศัย เช่น คอนโดมิเนียมระดับกลาง คอนโดมิเนียมคุณภาพสูง และศูนย์การค้าหรือศูนย์ค้าปลีกเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของชุมชนโดยรอบสถานี

 

โซนที่ 5 ย่านที่พักอาศัยชั้นดี พื้นที่พัฒนาที่อยู่อาศัยชั้นดีเพื่อตอบสนองผู้อยู่อาศัย หรือนักท่องเที่ยวที่ต้องการพักผ่อนอยู่อาศัยในอยุธยาระยะยาว

รายงานข่าวจาก สนข.ระบุว่า รูปแบบการลงทุนเบื้องต้น สนข.จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการรัฐ (พีพีพี) วงเงินรวมกว่า 3.19 หมื่นล้านบาท โดยแบ่งการลงทุนออกเป็น ภาครัฐ ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภค วงเงินประมาณ 5.2 พันล้านบาท ประกอบไปด้วย การพัฒนางานทั่วไปและสิ่งอำนวยความสะดวก การตัดและขยายช่องจราจรในพื้นที่ TOD การสร้างทางเดินยกระดับ การสร้างลานพลาซ่าหน้าสถานีอยุธยา และสะพานทางเดินข้ามแม่น้ำป่าสัก เป็นต้น

 

ขณะที่งบประมาณลงทุนในส่วนของการเปิดพีพีพี โครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งรอง จะใช้วงเงินลงทุนราว 644 ล้านบาท ประกอบไปด้วย ค่าก่อสร้างงานโยธา เงินลงทุนจัดหารถ เงินลงทุนงานระบบ ค่าจัดหาพื้นที่ซ่อมบำรุง เป็นต้น

 

ส่วนคาดการณ์เงินลงทุนโครงการอสังหาริมทรัพย์ จะอยู่ภายใต้การรับผิดชอบของภาคเอกชน วงเงินรวม 2.6 หมื่นล้านบาท แบ่งออกเป็น การลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐาน มูลค่า 6.74 พันล้านบาท ประกอบไปด้วย ร้านค้ารีเทล 2.79 พันล้านบาท ออฟฟิศ อาคารสำนักงาน 1.36 พันล้านบาท ศูนย์ประชุม 405 ล้านบาท และโรงแรม 2.17 พันล้านบาท ขณะที่การลงทุนในโครงการอสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัย วงเงินรวม 1.93 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น คอนโด 1.89 หมื่นล้านบาท และอพาร์ตเมนต์ 366 ล้านบาท