เหตุใด 'เด็กหลังห้อง' ชอบแหกกฎ รวยกว่าเด็กเรียน

เหตุใด 'เด็กหลังห้อง' ชอบแหกกฎ รวยกว่าเด็กเรียน

มีงานวิจัยแบบนี้ด้วย ศึกษาพฤติกรรมเด็กตอนอายุ 12 ปี จากนั้น 40 ปีให้หลัง มาดูกันว่า เด็กที่ขยันเรียนกับเด็กเหลือขอ มีชีวิตการงานอย่างไร ปรากฎว่า เด็กที่ชอบแหกกฎ กล้าคิดกล้าทำ สร้างรายได้มากกว่า

   

หากเดินเข้าไปในห้องเรียนเด็ก ป.6 สักห้อง ดูหน้าตาท่าทาง อ่านประวัตินิสัย คุณคิดว่าจะสามารถทำนายได้ไหมครับว่า เด็กคนไหนจะโตขึ้นกลายไปเป็นมหาเศรษฐีที่ประสบความสำเร็จในชีวิตในอนาคต อาจจะเป็น “เด็กแว่น” ผลการเรียนยอดเยี่ยมหรือเปล่า หรือจะเป็นนักกีฬาฝีมือดีระดับตัวแทนโรงเรียนหรือตัวแทนเขต หรือจะเป็นหนูน้อยนักดนตรีที่เล่นเปียโนได้พลิ้วเกินบรรยายหรือเพื่อนของเธอที่ร้องเพลงได้นุ่มนวลชวนฝัน หรือแม้แต่หนุ่มน้อยอีกคนที่วาดรูปราวกับกำลังเรียนอยู่สถาบันศิลปะ มิฉะนั้น ก็อาจจะเลือกหัวหน้าห้องที่มนุษยสัมพันธ์ดี

แน่นอนคนส่วนใหญ่คงไม่เลือกเด็กเกเร นั่งหลังห้องที่เอาแต่ก้มหน้าเล่นเกม คุยเล่นหยอกล้อ หรืออ่านหนังสือโป๊อยู่หลังห้องแน่

แต่ผลการวิจัยที่ยาวนานกว่า 40 ปีกลับบอกว่า ถ้าเล็งไปเฉพาะผลลัพธ์คือ โตไปแล้วกลายเป็นคนร่ำรวยละก้อ คุณควรเลือกเด็กกลุ่มหลังสุดจะมีโอกาสทายถูกมากที่สุดครับ!

งานวิจัยชิ้นดังกล่าว (Dev Psychol. 2015, 51(9):1329-40.) ระบุว่า การทดลองเริ่มต้นในปี ค.ศ. 1968 โดยนักวิจัยศึกษาในเด็กอายุ 12 ปี ที่เรียนอยู่ชั้น ป.6 โดยตรวจสอบและบันทึกประวัติไว้หมด ตั้งแต่ระดับไอคิว บุคลิกลักษณะ พฤติกรรม รวมไปถึงฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้ปกครองของเด็กๆ เหล่านี้ และตามข้อมูลต่อมาอีกเรื่อยๆ

อีก 40 ปีให้หลัง สิ่งที่พบก็มีทั้งไม่น่าประหลาดใจและน่าประหลาดใจมากๆ โดยที่ไม่น่าประหลาดใจนักก็คือ เด็กๆ ที่คุณครูระบุว่า ขยันตั้งใจเรียน เป็นกลุ่มที่ได้ทำงานดีๆ มีเกียรติ แต่ที่น่าแปลกใจคือ คนกลุ่มนี้กลับไม่ได้เป็นพวกที่ “ทำเงิน” ได้มากที่สุดแต่อย่างใด

พวกที่ทำงานได้เงินสูงสุดต่อปีกลับเป็นพวก “เด็กซนเหลือขอ” หลังห้อง พวกที่ไม่ค่อยสนใจระเบียบข้อบังคับ หรือคำสั่งของพ่อแม่และครูอาจารย์

   

  • ทำไมเป็นแบบนั้นไปได้ ?

งานวิจัยก่อนหน้านี้ มักจะระบุว่า เด็กที่ประสบความสำเร็จในชีวิต (ได้เงินมาก มีชื่อเสียง ฯลฯ) มักเป็นพวกมีความมุ่งมั่น อดทน มีความมานะพยายามไม่ท้อถอยต่ออุปสรรค แต่ไม่ค่อยจะมีใครให้ค่ากับเด็กเหลือขอที่ชอบแหกกฎ ไม่เชื่อฟังพ่อแม่ครูบาอาจารย์นัก

นักวิจัยกลุ่มนี้ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุผลที่ "พวกแหกคอก" เหล่านี้ทำเงินได้มากกว่า อาจจะเป็นเพราะนี่คือกลุ่มคนที่ไม่กลัวที่จะเจรจาต่อรองเงินเดือนกับผลประโยชน์ รวมทั้งกล้าเรียกร้องสิ่งเหล่านี้มากกว่า

อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ เป็นไปได้ว่า กลุ่มคนพวกนี้เป็นพวกที่ชมชอบและให้คุณค่ากับการแข่งขันมากเป็นพิเศษ จึงไม่ค่อยใส่ใจกับความคิดที่จะต้องไปด้วยกันได้ดีกับเพื่อนฝูงส่วนใหญ่ และอาจจะหมกมุ่นอยู่กับความสนใจส่วนตัวมากเป็นพิเศษ

คุณลักษณะเหล่านี้กลับเป็นข้อดีสำหรับการแข่งขันเพื่อสร้างรายได้ที่มากกว่า

แน่นอนว่า ข้อเท็จจริงเรื่องที่คนที่สร้างฐานะจนเกินหน้าเกินตาเพื่อนฝูงได้มาก จำนวนหนึ่งอาจจะได้มาอย่างไม่สุจริตหรือถูกกฎหมาย แต่จากการศึกษานี้ก็ยังไม่พบตัวอย่างของคนที่เป็นอาสาสมัครว่า มีใครที่มีพฤติกรรมทำนองนี้เลย

ว่าแต่เชื่อผลจากการวิจัยนี้ได้แค่ไหนกัน ?

ยังมีงานวิจัยชิ้นอื่นอีกนะครับ เช่น งานที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2012 (J Pers Soc Psychol. 2012 Feb;102(2):390-407.) ที่ยืนยันไปในแนวทางเดียวกันว่า พวกหัวอ่อน ยอมคนง่าย จะมีรายได้น้อยกว่า

แต่ที่จี๊ดกว่านั้นก็คือ โครงการชื่อ The Illinois Valedictorian Project (https://eric.ed.gov/?id=ED368304) พบว่า พวกดาวเด่นเรียนดีในระดับไฮสคูล โดยเฉพาะพวกที่ได้เป็นตัวแทนนักเรียนขึ้นไปกล่าวอะไรในวันจบการศึกษานั้น แม้ว่ามักจะได้ง่ายที่ดูดีมีเกียรติ กล่าวคือมีมากกว่าครึ่งหนึ่งที่ทำงานด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ เป็นวิศวกรหรือนักธุรกิจ

แต่ก็ไม่ติดฝุ่น คนที่ทำงานได้ค่าตอบแทนสูงสุดเลยแม้แต่น้อย

อ้อ ในงานวิจัยนี้พบด้วยว่าแม้จะเก่งเท่าๆ กัน แต่พวกคนดำและฮิสแปนิกมักจะมีระดับการศึกษาเฉลี่ยต่ำกว่ากลุ่มอื่น ปัจจัยทางสังคมจึงส่งผลด้วยเสมอ

ในหนังสือ Barking Up the Wrong Tree ของเอริก บาร์กเคอร์ (Eric Barker) กล่าวสรุปเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า "โรงเรียนมักจะให้รางวัลกับคนที่ทำตามกฎ ไม่ใช่คนที่คอยทำให้ทุกอย่างวุ่นวาย" แต่เด็กนอกคอกนี่เองที่จะกลายเป็นนักลงทุน นวัตกร และมหาเศรษฐี ได้ง่ายกว่า

แน่นอนว่า ไม่ใช่เด็กนอกกรอบทุกคนจะได้ดี จึงเป็นหน้าที่ของครูและผู้ปกครองที่จะต้องรู้จักวิธีจัดการ ดึงเอาพลังงานของเด็กเหล่านี้ออกมาใช้ไปกับเรื่องด้านบวก ทำให้พวกเขากลายไปเป็นนักบุกเบิกที่ไม่แคร์ต่อเสียงผู้คนรอบข้าง ที่คอยจ้องจะบอกว่าเป็นไปไม่ได้หรอก แต่ก็ไม่ไปไกลขนาดหลุดไปกลายเป็นอาชญากรนอกกฎหมาย

อีกอย่างที่ควรจะมอบให้กับคนเหล่านี้คือ ความโอบอ้อมอารีและความใส่ใจ รวมทั้งแสดงความเห็นใจเมื่อพวกเด็กๆ ทำผิดเกินเลยไปบ้าง แต่ตราบใดที่การละเมิดกฎเหล่านั้นยังไม่ทำร้ายใคร ก็ไม่ควรจะไปห้ามปรามหรือดุด่าลงโทษจนเกินควร หากทำได้เช่นนี้ พวกเขาก็จะกลายเป็นคนที่มีบุคลิกเข้มแข็ง ไม่กลัวที่จะแหกกฎไปทำสิ่งแปลกใหม่ เพื่อทำให้โลกดีกว่าที่เป็นอยู่

ว่าแล้วก็นึกถึง แฮร์รี่ พอตเตอร์ ที่เป็นตัวพ่อเรื่องการนำเพื่อนฝูงแหกกฎทั้งหลายทั้งปวงของโรงเรียนเวทมนตร์ฮอกวอร์ตจริงๆ