'วิษณุ' ยันรัฐบาลไม่เคยพูดห้ามตั้ง ส.ส.ร. อุบกระทบที่มา ส.ว.

'วิษณุ' ยันรัฐบาลไม่เคยพูดห้ามตั้ง ส.ส.ร. อุบกระทบที่มา ส.ว.

"วิษณุ" ยันรัฐบาลไม่เคยพูดห้ามตั้ง สสร. ไม่ตอบแก้ไข รธน. กระทบที่มา ส.ว. รอรายงาน กมธ. ก่อน ย้ำแก้ ม.256 ต้องมีการทำประชามติ

เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 63 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีความคืบหน้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ว่า เป็นการแก้ไข ที่เข้าข่ายในหมวดที่ 1 คือหลักทั่วไป หรือหมวดที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ หรือ หมวด 15 ที่เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมทั้งแก้เกี่ยวกับคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม อำนาจหน้าที่องค์กรอิสระ ซึ่งเมื่อผ่านขั้นตอนของสภาฯ โดยได้เสียงสนับสนุนเกินกึ่งหนึ่ง และจะต้องมีการลงประชามติ ซึ่งต้องใช้งบประมาณกว่า 3 พันล้าน โดยนายวิษณุระบุว่า หากมีการลงประชามติจะมีความยุ่งยากอยู่ในระดับหนึ่ง ซึ่งต้องใช้เวลา เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายประชามติรองรับ แม้ว่าก่อนหน้านี้จะเคยมีการลงประชามติแต่เป็นกฎหมายที่เฉพาะการลงมติครั้งนั้นๆ ซึ่ง กกต. จะมีหน้าที่ออกกฎหมายดังกล่าว
ทั้งนี้ หลังจากเสร็จสิ้นการลงประชามติ หากมีข้อสงสัยจะนำส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย แต่หากเป็นไปตามกระบวนการไร้ข้อสงสัยก็จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการแก้รัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 หรือ หมวด 15 โดย นายวิษณุ ย้ำว่า เมื่อคิดที่จะแก้รัฐธรรมนูญก็ต้องชั่งน้ำหนักให้คุ้มค่า และหากมีการลงประชามติ ก็ต้องคุ้มค่าเหมือนที่ฝ่ายค้านบางคนได้พูดเอาไว้ และหากประชามตินั้นผ่าน จะนำไปสู่การตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. และหาก ส.ส.ร. ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นก็จะมีการลงประชามติอีกครั้ง รวมเป็น 2 รอบ

ส่วนคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ยังไม่แล้วเสร็จ และยังไม่ส่งมาที่รัฐบาล ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้พูดในที่ประชุม ครม. ขอให้รอดูว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในบทไหนอย่างไร ซึ่งรัฐบาลเองก็มีแนวคิดว่าจะแก้ไขในบทใดและส่วนใด แต่ขอรอฟังผลการศึกษาก่อน เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง ทั้งจากพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้าน ว่าจะแก้ไขในรูปแบบใด และนายกรัฐมนตรี เองก็ไม่จำเป็นต้องใช้แนวทางของ กมธ.

ทั้งนี้ นายวิษณุ ยืนยันว่า รัฐบาลไม่เคยพูดว่าไม่ให้มีการตั้ง ส.ส.ร. และไม่ขอตอบว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะกระทบกับที่มาของ ส.ว. หรือไม่ และขณะนี้เองรัฐบาลยังไม่มีแนวคิดตั้งคณะกรรมการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่อย่างไร เนื่องจากใช้ความเห็นของพรรคร่วมเป็นหลัก ซึ่งคาดว่าไม่น่าทันในสมัยประชุมสภาครั้งนี้ เนื่องจากเหลือเพียงอีก 1 เดือน ซึ่งอาจเกิดปัญหาจึงต้องนำไปหารือในสมัยประชุมสภาหน้า