บอร์ดทอท.อุ้มคิงเพาเวอร์ ยืดเวลาจ่ายการันตีขั้นต่ำ

บอร์ดทอท.อุ้มคิงเพาเวอร์  ยืดเวลาจ่ายการันตีขั้นต่ำ

บอร์ด ทอท.ไฟเขียวปรับเงื่อนไขเรียกเก็บผลประโยชน์ตอบแทน “คิงเพาเวอร์” รวม 3 สัญญา ยืดเวลาจ่ายการันตีขั้นต่ำกว่า 2.35 หมื่นล้าน หลังโควิด -19 พ่นพิษ รับผลเสียรายได้หด แต่ผลบวกเกิดความเป็นธรรม และมีผู้ประกอบการให้บริการต่อเนื่อง

แหล่งข่าวจากบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท.วานนี้ (29 ก.ค.) มีมติอนุมัติข้อเสนอ เรื่อง ขออนุมัติแนวทางการเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำของกลุ่มบริษัท คิงเพาเวอร์ ภายหลังสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ตามที่คณะกรรมการพิจารณารายได้ของ ทอท.ได้มีมติอนุมัติไปเมื่อวันที่ 13 ก.ค.2563

มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ ได้กำหนดแนวทางการเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำของสัญญาที่ลงนามแล้ว แต่ยังไม่เข้าประกอบกิจการหรือภายในวันที่ 19 ก.พ.2563 โดยเมื่อสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือฯ ให้ใช้อัตราค่าผลประโยชน์ตอบแทนชั้นต่ำที่ผู้ประกอบการได้ยื่นข้อเสนอมา

สำหรับอัตราขั้นต่ำที่กลุ่มบริษัท คิงเพาเวอร์ ยื่นข้อเสนอมานั้น ต่างกับกรณีอื่น เนื่องจากเป็นการยื่นข้อเสนอค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำสำหรับปี 2564 ไม่ใช่ปี 2562 โดยเป็นการประมาณการจำนวนผู้โดยสารล่วงหน้า โดยใช้ข้อมูลปี 2561 เป็นฐานการคำนวณ ซึ่งปัจจุบันการคำนวณดังกล่าวไม่อาจเป็นจริงได้ เพราะสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ที่เป็นเหตุสุดวิสัย

ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรรมต่อผู้ประกอบการในสถานการณ์ปัจจุบัน และไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการให้บริการของท่าอากาศยาน รวมถึง ทอท.ยังคงได้รับรายได้ ผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำตามที่ได้รับข้อเสนอจากการประมูล เมื่อมีจำนวนผู้โดยสารกลับสู่สถานการณ์ปกติให้เรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำของสัญญาอนุญาตให้ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) สอดคล้องไปกับมติของกรรมการพิจารณารายได้ ทอท.

โดยเห็นชอบในส่วนของสัญญาดิวตี้ฟรีทั้งท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สัญญาท่าอากาศยานภูมิภาค 3 แห่ง (ภูเก็ต เชียงใหม่ หาดใหญ่) และสัญญาอนุญาตให้ประกอบกิจการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ภายในอาคารผู้โดยสาร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ภายหลังจากสิ้นสุดมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการฯ ทอท.จะจัดเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำของทุกสัญญาดังกล่าว ในลักษณะจัดเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำต่อผู้โดยสาร (Sharing Per head) และจำนวนผู้โดยสารที่เกิดขึ้นจริง

สำหรับรายละเอียดของการคำนวณ คือ ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2565 จนถึงปีที่จำนวนผู้โดยสารจริงของ ทอท.มีจำนวนเท่ากับหรือมากกว่าจำนวนผู้โดยสารตามประมาณการของบริษัทฯ ในปี 2564 ที่อ้างอิงจากเอกสารการประมูล ให้นำค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำที่บริษัทฯ ใช้ยื่นข้อเสนอในปีแรก (ปี 2564) หารด้วยจำนวนผู้โดยสารตามประมาณการของบริษัทฯ ในปี 2564 เพื่อคำนวณหา Sharing Per head และนำมูลค่าที่ได้มาคูณกับจำนวนผู้โดยสารจริงของ ทอท.ในปีนั้นๆ เพื่อกำหนดเป็นค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำในปีนั้นๆ

ทั้งนี้ กลุ่มบริษัท คิงเพาเวอร์ ได้ยื่นข้อเสนอจากการประมูลรวม 3 สัญญา มีมูลค่ากว่า 2.35 หมื่นล้านบาท โดยกลุ่มบริษัท คิงเพาเวอร์ ประมาณการจำนวนผู้โดยสารที่ใช้ยื่นข้อเสนอในปีที่ 1 ส่วนของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 66 ล้านคน ท่าอากาศยานภูมิภาค 3 แห่ง 18 ล้านคน และกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 80 ล้านคน

มติบอร์ดอนุมัติถือเป็นการขยายเวลาจัดเก็บ Sharing Per head ออกไปอีก และ วันนี้ (30 ก.ค.) ทอท.จะมีการแถลงข่าวเพื่อชี้แจงในรายละเอียดของมติบอร์ด ทอท.ต่อสื่อมวลชนอย่างเป็นทางการ