'ทองปลอม' VS 'ทองแท้' ดูยังไง ไม่ให้โดนหลอก

'ทองปลอม' VS 'ทองแท้' ดูยังไง ไม่ให้โดนหลอก

5 วิธีสังเกต "ทองปลอม" กับ "ทองแท้" ดูยังไง ไม่ให้โดนหลอก พร้อมทั้งช่องทางช่วยตรวจสอบทองคำแท้

ช่วงที่ "ราคาทอง" พุ่งพรวด ซึ่ง ณ วันที่ 24 กรกฎาคม 2563 ณ เวลา 09.29 น. 

ราคาทองคํารูปพรรณ ขายออกบาทละ 28,700 รับซื้อบาทละ 27,591.20 

ราคาทองคำแท่ง ขายออกบาทละ 28,200 รับซื้อบาทละ 28,100

ทั้งนี้ ราคา "ทองแท่ง"​ และ "ทองรูปพรรณ" ที่พุ่งสูงในกรอบระยะเวลาไม่นาน ทำให้หลายคนเริ่มมองหาโอกาสในการทำกำไรจาก "ทองคำ" กันมากขึ้น ซึ่งกลายเป็นจังหวะของ "มิจฉาชีพ" เข้ามา​ฉวยโอกาสนี้หลอกขาย "ทองคำปลอม" "ทองคำยัดไส้" หรือ "ทองคำแท่งปลอม" 

  

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

  

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" รวบรวมข้อมูลการสังเกตความแตกต่างของ "ทองคำแท้" และ "ทองคำปลอม" เพื่อเป็นตัวช่วยในการตรวจสอบ "ทองคำ" ที่ต้องการซื้อ ขาย หรือลงทุน ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

สำหรับผู้บริโภคที่ไม่มีประสบการณ์หรือความชำนาญในการดูทองคำเพื่อพิจารณาว่าเป็นของ "แท้" หรือ "ปลอม" โดยข้อมูลจาก "ห้างทอง เอ เอ เยาวราช" และ "สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ จีไอที" ระบุ 8 วิธี สังเกตทองคำแท้ เบื้องต้นด้วยตัวเอง และหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นตัวช่วยพิสูจน์ทองแท้ ดังต่อไปนี้

 

  •  การตรวจสอบทองคำเบื้องต้น 

1. ดูขนาดของทอง วิธีนี้ต้องใช้การสังเกตให้ดี ต้องรู้ว่าทองคำหนัก 1 บาท หรือ 2 บาทนั้น ควรมีขนาดแค่ไหน น้ำหนักกับขนาดต้องสอดคล้องกัน ถ้าบอกหนัก 1 บาทแต่มีขนาดใหญ่มากก็ให้ระวังไว้เลยว่าอาจเป็นทองปลอมได้

2. วัดจากน้ำหนักของทองคำ วิธีนี้ถ้าไม่มีเครื่องชั่งก็ต้องมีทองคำแท้อีกชิ้นหนึ่งไว้เทียบกัน เพราะทองคำแท้ไม่ว่าจะเส้นใหญ่หรือเส้นเล็ก ถ้าน้ำหนัก 1 บาท ก็จะมีน้ำหนักเท่ากันเสมอ 

3. ดูที่ตราหรือโลโกร้าน ใช้แว่นขยายส่องดูตามข้อหรือห่วงของทอง ทองแท้ทั่วไปจะมีการตีตราร้านไว้อย่างชัดเจนเพื่อเป็นการการันตี บอกแหล่งที่มา หรือมีการตอกตัวเลขบอกความบริสุทธิ์ของทองไว้ด้วยเช่น  14k 18k 22k 24k  ถ้าตรานั้นเบลอ ไม่ชัดเจน ก็ให้ระวังไว้ก่อนว่าอาจเป็นของปลอม ให้หลีกเลี่ยงการซื้อทองที่มีลักษณะนี้

4.  หยดด้วยน้ำกรดไนตริก ทองคำแท้เมื่อหยดด้วยกรดไนตริก จะไม่เกิดปฏิกิริยา ไม่เปลี่ยนสี หรือหลอมละลาย แต่ถ้าทองคำนั้นมีโลหะอื่นผสม เช่น ทองแดง ก็จะละลายไปอย่างเห็นได้ชัดเจน วิธีนี้อาจทำได้ยาก หรือต้องทำที่ร้านทอง เพราะกรดไนตริก หาซื้อไม่ได้ตามร้านค้าทั่วไป

5.  ทดสอบโดยใช้แม่เหล็ก ถ้าใช้แม่เหล็กแล้วดูดติดทันที ทองเส้นนั้นเป็นทองปลอมแน่นอนเพราะใส่เหล็กในปริมาณมาก แต่ถ้าเป็นทองคำแท้แม่เหล็กจะดูดไม่ติด

159550001611

6.  ดูจากรอยต่อหรือจุดที่ทองเสียดสีกัน วิธีนี้สามารถใช้แว่นขยายดูตามรอยต่อหรือจุดเสียดสี ถ้าเป็นทองคำแท้จะไม่มีรอยถลอก ลอก หรือเปลี่ยนสี แต่ถ้าเป็นทองคำชุบหรือทองปลอม ตามรอยต่อเหล่านี้จะเกิดการลอกหรือถลอกได้

7. ทดสอบโดยการกัดด้วยฟัน ทองคำแท้จะมีความแข็งไม่มาก ถ้ากัดก็จะเกิดรอยบุ๋มเห็นได้ชัด แต่ถ้าเป็นทองปลอม ทองผสมเหล็กหรือทองแดง หรือทองชุบ จะแข็งมาก กัดแล้วไม่เกิดรอยบุ๋ม

8. โยนลงบนกระจก ทองคำเป็นโลหะที่มีเนื้อนุ่ม ไม่แข็งเหมือนเหล็กหรือทองแดง ถ้าโยนไปกระทบกับกระจกจะได้ยินเสียงกระทบกันแบบนุ่มๆ ไม่มีเสียงแหลม ไม่ดัง แต่ถ้าเป็นทองปลอมเสียงจะดัง "แก๊งๆ" อย่างชัดเจน


อย่างไรก็ตาม แม้วิธีการเหล่านี้จะช่วยตรวจสอบ "ทองคำแท้" เพื่อป้องกันความเสี่ยงในเบื้องต้นเท่านั้น ซึ่งการทดสอบบางลักษณะอาจทำได้ยากในบางสถานการณ์ ดังนั้น จุดเริ่มของการซื้อทองคำ ที่ง่ายที่สุดคือการซื้อจากร้านทองที่เชื่อถือได้เป็นอันดับแรก

แต่ในกรณีที่มีคนนำทองมาจำนำ หรือรับซื้อทองคำจากใคร ควรนำไปให้ร้านทองตรวจส6อบก่อนตัดสินใจเสมอ เพื่อป้องกันความเสี่ยงตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

    

  •  การตรวจสอบเชิงลึก 

นอกจากนี้ ดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือจีไอที เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ว่า

ตลาดทองคำในต่างประเทศได้ประสบกับปัญหา "ทองคำยัดไส้" หรือ "ทองคำแท่งปลอม" โดยมีการนำทองคำมาสอดไส้โลหะอื่นๆ เช่น ทองแดง หรือตะกั่ว เพื่อหลอกขายเป็นทองคำบริสุทธิ์ เพราะปัจจุบันราคาทองคำพุ่งทะยานสูงขึ้นตลอดเวลา โดยทำสถิติสูงขึ้นสูงสุดในรอบ 8 ปี ทำให้มีการฉวยโอกาสนำทองคำปลอมมาหลอกขายในรูปแบบต่างๆ จนส่งผลกระทบต่อตลาดทองคำ

159549902475

นอกจากนี้ หากต้องการตรวจสอบเชิงลึก ก็ให้นำไปตรวจสอบหาค่าความบริสุทธิ์ของโลหะได้ที่ห้องปฏิบัติการที่น่าเชื่อถือ หรือจะมาตรวจสอบที่จีไอที เนื่องจากมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย สามารถตรวจสอบได้อย่างชัดเจน

โดยสามารถตรวจสอบว่าเป็น "ทองคำแท้" หรือ "ทองคำปลอม" ด้วยคลื่นอัลตราโซนิคที่ไม่ทำลายชิ้นงาน แต่หากไปตรวจสอบที่ห้องปฏิบัติการขนาดเล็ก เครื่องมืออาจไม่ได้มาตรฐาน ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้

ทั้งนี้ แม้ทองคำจะถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในสภาวะวิกฤติโรค "โควิด-19" ระบาด แต่การซื้อทองคำเพื่อลงทุน ยังคงมี "ความเสี่ยง" ตามธรรมชาติของการการลงทุน ดังนั้นผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้เข้าใจก่อนตัดสินใจลงทุน 

  

ที่มา: สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ ห้างทอง เอ เอ เยาวราช