เมื่อ 'โควิด-19' กลายเป็น ‘ทางรอด’ ของหนังไทย

เมื่อ 'โควิด-19' กลายเป็น ‘ทางรอด’ ของหนังไทย

ยังมีโอกาสในห้วงวิกฤติสำหรับ ‘หนังไทย’ ในยุคที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ทั่วโลกต่างติดไวรัส 'โควิด-19' เหมือนกันหมด แต่กลับกลายเป็นว่าไวรัสมรณะตัวนี้อาจกลายเป็น 'ทางรอด' ที่หนังไทยจะกลับมาผงาดอีกครั้งก็เป็นได้

ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะประกาศปลดล็อกให้โรงภาพยนตร์กลับมาเปิดให้บริการได้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา และไฟเขียวให้กองถ่ายละคร ภาพยนตร์ และรายการโทรทัศน์ กลับมาทำงานภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดได้แล้ว แต่ใช่ว่าสถานการณ์จะดีขึ้นภายในระยะใกล้นี้

นั่นเพราะอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยมีปัญหาเรื้อรัง มีปัญหาด้านโครงสร้างที่ต้องแก้ไขกันอยู่อีกหลายเรื่อง ไม่ได้มีแต่ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดจากการติดเชื้อโควิด-19 เท่านั้น

ด้วยตระหนักถึงความจริงในเรื่องนี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในวงการภาพยนตร์จึงส่งตัวแทนมาร่วมเสวนากันเพื่อหาทางออกในหัวข้อที่ว่า ‘จะทำอย่างไรเมื่อหนังไทยติดโควิด!!!’ โดยมี ส.ส.รัฐบาลมาร่วมรับฟังปัญหา และพร้อมจะนำไปเสนอรัฐบาลเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือ ณ โรงภาพยนตร์เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ รัชโยธิน เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา

โดยวัตถุประสงค์สำคัญของการเสวนาครั้งนี้คือการผลักดันให้ประเทศไทยจัดตั้ง ‘กองทุนภาพยนตร์’ ขึ้นมาเหมือนกับหลายประเทศให้ได้เสียที

โอกาสในห้วงวิกฤติ

ตัวแทนจากอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่มาร่วมเสวนาในครั้งนี้ต่างเป็นผู้ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการ และรู้ซึ้งถึงปัญหาภายในเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น คุณวิชา พูลวรลักษณ์ จากเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์, คุณยงยุทธ ทองกองทุน จาก GDH, คุณสง่า ฉัตรชัยรุ่งเรือง จากทรานส์ฟอร์เมชั่นฟิล์ม, คุณเกียรติกมล เอี่ยมพึ่งพร จากไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น และคุณพิทยา สิทธิอำนวย จากสหมงคลฟิล์ม

159539954877

159539959892

ขณะที่ทางฝั่ง ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลนำโดย ‘มาดามเดียร์’ วทันยา วงษ์โอภาษี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และกลุ่ม ‘ส.ส. ดาวฤกษ์’ ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตบางซื่อ ดุสิต กทม. พรรคพลังประชารัฐ และ ภาดาท์ วรกานนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร เขต6 พรรคพลังประชารัฐ

159539964077

วิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) เป็นคนแรกที่ขึ้นมาให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย โดยบอกว่า โรงหนังและตัวหนังไทยมีการเติบโตที่สวนทางกัน โดยประเทศไทยมีโรงภาพยนตร์อยู่ราว 1,400 โรง คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึงครึ่งหนึ่งของเกาหลีใต้ที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์กำลังเบ่งบานอย่างหนัก ซึ่งนับว่าโชคดีที่อุตสาหกรรมหนังบ้านเราไม่ได้รับผลกระทบจากการดิสรัปชั่น (digital disruption) เท่าใดนัก แถมยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตต่อเนื่องทุกปีด้วยซ้ำ

แต่สิ่งที่ วิชา พูลวรลักษณ์ บอกว่าน่าเป็นห่วงคือ ตัว ‘ภาพยนตร์ไทย’ ที่มีส่วนแบ่งในตลาดขึ้น ๆ ลง ๆ มาตลอด โดยในช่วงราวปี ค.ศ. 2000 ส่วนแบ่งของหนังไทยต่อหนังต่างประเทศขึ้นไปอยู่ที่ราว ๆ 40 เปอร์เซ็นต์ แต่ปัจจุบันกลับลดมาเหลือเพียง 20 กว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้น

กระนั้นก็ตาม ผู้บริหารเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ เครือโรงภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ กลับมองว่าวิกฤติโควิด-19 กลับกลายเป็นโอกาสที่ดีต่อหนังไทย เพราะเมื่อหนังฮอลลีวู้ดเข้าสู่ตลาดโลกได้ยากขึ้น ทำให้โรงหนังทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยเอง ต่างหันมาพึ่งพาหนังภายในประเทศเป็นหลัก นั่นจะทำให้หนังไทยกลายเป็นที่ต้องการ และน่าจะช่วยให้มีส่วนแบ่งในตลาดเพิ่มขึ้น

ขณะที่ ยงยุทธ ทองกองทุน ผู้อำนวยการสร้าง ผู้กำกับภาพยนตร์ นักเขียนบทภาพยนตร์จากค่าย GDH ที่ส่งหนังไทยหลายเรื่อง โดยเฉพาะ ฉลาดเกมส์โกง ไปสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ ได้พูดถึง การนำพาภาพยนตร์ไทยไปสู่ตลาดโลก เอาไว้ว่า จริงๆ แล้วหนังไทยปักหมุดในตลาดโลกมาอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงหลังหนังไทยเกือบทุกเรื่องจะถูกส่งไปขายในตลาดอาเซียน จีน ฮ่องกง ไต้หวัน แต่โควิดมาทำให้ทุกอย่างหยุดชะงักไปหมด

159539966291

นั่นเป็นเพราะ เมื่อโรงภาพยนตร์ถูกปิด ตารางฉายถูกเลื่อนออกไป แล้วพอโรงหนังกลับมาเปิดให้บริการได้อีกครั้ง หนังไทยจึงกลายเป็นตัวเลือกรองลงไป เนื่องจากโรงหนังในแต่ละประเทศยังมีหนังรอคิวฉายอยู่อีกเยอะ จึงทำให้หนังไทยเสียโอกาสตรงนี้ไป

ปริมาณยังน้อย สเกลยังเล็ก

พิทยา สิทธิอำนวย Director of International Sales บริษัท สหมงคลฟิล์ม กล่าวถึงสถานการณ์ของหนังไทยในตอนนี้เอาไว้ว่า จริงๆ แล้ว หนังไทยมีโอกาสเข้าตลาดต่างประเทศได้มากขึ้น อย่างในอาเซียน หนังไทยมักศักยภาพ สามารถขายได้ทุกประเทศ แต่ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นทำให้ทุกฝ่ายระมัดระวัง แต่ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีใครมาซื้อในตอนนี้ เราก็ยังสามารถสร้างภาพยนตร์ต่อไปได้ รอสถานการณ์คลี่คลายแล้วค่อยขยับขยายต่อไป

159539969592

อย่างไรก็ตาม ตัวแทนจากสหมงคลฟิล์มที่ทำให้ทั่วโลกรู้จัก ‘องค์บาก’ มาแล้ว ได้สะท้อนความจริงที่เกิดขึ้นจากปัญหาด้านโครงสร้างของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยเอาไว้ว่า เราเคยมีตลาดในอเมริกา ญี่ปุ่น และยุโรป แต่ปัจจุบันตลาดเปลี่ยนไป สตูดิโอต่าง ๆ ในฮอลลีวู้ดก็ผลิตหนังสเกลใหญ่มากขึ้น ทำให้ความน่าสนใจในแง่ทุนสร้างของหนังที่เล็กกว่าอย่างหนังไทยก็ลดน้อยลงไป

159539972397

ขณะที่ เกียรติกมล เอี่ยมพึ่งพร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น จำกัด พูดถึงความสำคัญของเงินทุนในการสร้างหนังเอาไว้ว่า “ขนาดของตลาดในบ้านเราก็มีส่วนสำคัญกับทุนสร้างหนังในปัจจุบัน คิดว่าคอนเทนต์ไทยสามารถไปไกลทั่วโลกได้ เพราะเราก็เคยทำมาแล้วกับ องก์บาก แต่เงินทุนที่จะสามารถผลิตสเกลให้ใหญ่ขึ้นเพื่อเดินทางไปสู่ตลาดโลกได้ อันนี้เราอาจจะต้องมองหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติม”

ทางด้าน สง่า ฉัตรชัยรุ่งเรือง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรานส์ฟอร์เมชั่นฟิล์ม เสริมว่า หนังไทยยังมีปริมาณไม่มากพอและสเกลก็ยังเล็กอยู่ วันนี้พวกเขาในฐานะตัวแทนคนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์จึงเชิญตัวแทนภาครัฐมานั่งฟัง และหาทางร่วมกันทำให้หนังไทยมีความยั่งยืนทั้งในเรื่องของปริมาณ และคุณภาพ

159539979477

เพราะหนังถือเป็น ‘ต้นน้ำ’ ที่ไปประกอบไปด้วยคนทำหนัง ฝ่ายผลิต โพสต์โปรดักชัน ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ฝ่ายสถานที่ โรงภาพยนตร์ ฯลฯ เรียกได้ว่าครอบคลุมคนทั้งประเทศ ถ้าอุตสาหกรรมนี้ได้รับผลกระทบ ก็จะกระทบกับคนจำนวนมากตามไปด้วย

“เราอยากเสนอเป็น long-term project (โปรเจคท์ระยะยาว) เอาเงินมาลงทุนร่วมกันทำหนังไทย ให้หนังมีสเกลใหญ่ขึ้น เติบโตสู้กับหนังต่างประเทศได้ ถ้าเรามีหนังไทยออกมาทุกเดือน จำนวนคนดูหนังไทยก็จะเติบโตขึ้น ทำให้บรรยากาศการลงทุนทำหนังในบ้านเราน่าสนใจ ลงไปปุ๊ปมีคนดูมาก ทำให้เราสามารถยืนได้ด้วยขาตัวเอง มีคนเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น แต่วันนี้อยากให้กองทุนแรกต้องทำให้ได้ก่อน”


‘กองทุนภาพยนตร์ไทย’ เมื่อไรถึงจะเกิด

ทั้งนี้ กองทุนที่บรรดาผู้บริหารค่ายหนังชั้นนำของเมืองไทยอยากผลักดันให้เกิดขึ้นก่อนเป็นอันดับแรกคือ ‘กองทุนภาพยนตร์ไทย’ นั่นเอง

วิชา พูลวรลักษณ์ กล่าวถึงเรื่องนี้เอาไว้ว่า “ลำพังภาคเอกชนถ้าเราทำหนังกันเองก็จะโตได้ในระดับหนึ่ง ในอดีตภาครัฐก็เคยเข้ามาช่วยหนังไทย ให้เงินสนับสนุนหนังไทย แล้วก็ร่วมสร้างหลายเรื่อง เช่น สุริโยทัย และภาครัฐยังช่วยเอาหนังไทยไปยังต่างประเทศด้วย ยุคหนึ่งหนังไทยก็มีความแข็งแรงแล้วก็เติบโต ในช่วงที่เรียกว่าเป็นช่วงรุ่งของหนังไทยและโรงหนัง ผมคิดว่าในเมืองไทยเนี่ยคุณภาพเราไม่แพ้ใครในโลกอยู่แล้ว เพราะหลาย ๆ ประเทศก็มองว่าเราคืออันดับ 1 ผู้กำกับฯเราก็เก่ง ดาราเราก็หน้าตาดี

อยากให้ภาครัฐลองมองดูว่าจะใช้อุตสาหกรรมหนังไทยที่เป็น soft power นำเงินเข้าประเทศได้อย่างไร เพราะอุตสาหกรรมภาพยนตร์นั้นสามารถเติบโตอย่างต่อเนื่อง และสร้างวัฒนธรรมให้กับคนในประเทศ ซึ่งถ้าภาครัฐเข้ามาหนุนก็สามารถนำเงินเข้าประเทศได้ไม่น้อย”

ในส่วนของ ส.ส.ตัวแทนภาครัฐที่มาร่วมเสวนาในครั้งนี้ต่างเห็นด้วยกับแนวคิดที่ว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์เป็น soft power สามารถนำพาเม็ดเงินเข้าประเทศได้เป็นอย่างดี

159539936058

‘มาดามเดียร์’ วทันยา วงษ์โอภาษี ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ในฐานะ ส.ส. เธอต้องการจะแก้ไขความเดือดร้อนให้กับประชาชนอยู่แล้ว และเธอมองว่าในทุกวิกฤติย่อมมีโอกาสเสมอ และหนึ่งในนั้นคือโอกาสจากเรื่องของ soft power ที่รัฐควรจะหันมาส่งเสริม เพราะมันเป็นโอกาสในการฟื้นฟูเศรษฐกิจแบบเดียวกับเกาหลีใต้ที่ใช้ soft power ในการส่งออกวัฒนธรรม ทำให้เกิดรายได้ และโอกาสต่าง ๆ กลับเข้าสู่ประเทศมากมาย ที่เห็นได้ชัด เช่น การท่องเที่ยว วัฒนธรรมอาหารความสวยความงาม การแต่งหน้าเทรนด์เกาหลี เป็นต้น

“ฉะนั้นวันนี้เรามาคุยกันมันไม่ใช่เป็นแค่อุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นการผลักดันให้คนไทยเข้มแข็งอย่างไร การผลักดันทำให้เราขึ้นไปยืนเท่าเทียมกับเวทีต่างประเทศได้ เราเชื่อว่าคนไทยก็เก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก แล้วเราจะช่วยกันกอบกู้วิกฤตในครั้งนี้ได้ยังไง” มาดามเดียร์ กล่าว

ทางด้าน ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส. เขตบางซื่อ ดุสิต กทม. พรรคพลังประชารัฐ ก็รับปากว่าจะเป็นกระบอกเสียงให้กับวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ด้วยการเข้าไปกระตุ้นภาครัฐว่า อุตสาหกรรมภาพยนตร์เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำส่งผลกระทบไปหลายวงมาก ทั้งทางวัฒนธรรม การท่องเที่ยว การกระตุ้นเศรษฐกิจ และยังเพิ่มอัตราการจางงานได้อีก

ขณะที่ ภาดาท์ วรกานนท์ ส.ส. กรุงเทพมหานคร เขต6 พรรคพลังประชารัฐ บอกว่า “ส่วนตัวเชื่อมั่นในคำว่า soft power มาก เพราะมันคือการสร้างแรงดึงดูดให้คนรวมกันแล้วมีความเชื่อแบบเดียวกันโดยที่ไม่ต้องบังคับ แล้วผลลัพธ์มันจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงความคิด และทัศนคติของคนในชาติ แล้วสุดท้ายคือการสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มแล้วก็สร้างรายได้ให้กับประเทศได้

อย่างเช่น อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของเกาหลีใต้ ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าทำได้ เราเห็นว่ารัฐบาลเค้ามีความมุ่งมั่นและจริงใจในการช่วยเรื่องนี้ และผลักดันอย่างจริงจังร่วมกับภาคเอกชน เหมือนวันนี้ที่เรามาพูดคุยกัน วันนี้พวกพี่เป็นตัวแทนของภาคเอกชนและอุตสาหกรรมหนังที่ได้รับผลกระทบ พวกเรา 3 คนก็จะเป็นตัวแทนของภาครัฐ

สิ่งที่เราทำได้ก็คือ วันนี้เรามานั่งรับฟังปัญหา เราเข้าใจปัญหา แล้วถ้ารวมกัน เราสามารถเป็นเสียงสะท้อน เป็นกระบอกเสียงที่จะไปบอกกับทางรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่ามัน (อุตสาหกรรมภาพยนตร์) มีความหวัง ถ้าเราออกแรงดันกันอีกสักนิด รัฐบาลให้ความจริงจัง สนใจ หรือใส่เงินลงมา สร้างให้มันเป็นยุทธศาสตร์ของชาติอีกด้านหนึ่ง เชื่อจริง ๆ ค่ะว่าเราไปได้ เพราะว่าเรามีคุณภาพอยู่แล้ว”

เปลี่ยนแปลงไปถึงโครงสร้าง

‘กองทุนภาพยนตร์ไทย’ ที่คนในวงการพยายามผลักดันให้เกิดขึ้น ไม่ได้เป็นเพียงหน่วยงานอัดฉีดเงินทุนให้สามารถสร้างหนังสเกลใหญ่ ๆ ได้มากขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ในเชิงโครงสร้างมากมาย

สง่า ฉัตรชัยรุ่งเรือง แห่งทรานส์ฟอร์เมชั่นฟิล์ม ได้เสนอโมเดลการจัดตั้ง ‘กองทุนภาพยนตร์ไทย’ เอาไว้ว่า ทางฝั่งเอกชนซึ่งทำหนังอยู่แล้วอยากจะแสดงความจริงใจด้วยการใส่เงินลงไปในกองทุนฯ ประมาณ 60% แล้วขอให้ทางภาครัฐช่วยอีก 40% พร้อมอธิบายว่า การมีกองทุนภาพยนตร์ไทยจะช่วยสร้างแรงดึงดูดให้คนในประเทศที่นิยมดูหนังฮอลลีวู้ดหันกลับมาดูหนังไทยกันมากขึ้น และสร้างสเกลของอุตสาหกรรมหนังไทยให้ใหญ่ขึ้น แล้วเมื่อธุรกิจหนังไทยเติบโตขึ้น วันหน้าก็จะมีต่างชาติเข้ามาลงทุนในหนังไทยได้มากขึ้นตามไปด้วย

“หนังไทยไม่ได้สร้างแค่รายได้หนังอย่างเดียว วันนี้เกาหลีใต้สามารถส่งออกผู้กำกับไปจีน ไปกำกับหนังทั่วโลก นำเงินกลับเข้าประเทศมหาศาลนะครับ ตัวดาราเอง ตัวคนเขียนบท เค้า export (ส่งออก) ได้หมดเลย ซึ่งขณะนี้ด้วยความที่เรามีหนังจำนวนน้อยเราก็มีการฝึกฝนน้อย

วันหน้าถ้ากองทุนนี้เกิดขึ้น เราทำหนังได้ปีหนึ่ง 40-50 เรื่อง เราก็จะมีทักษะมากขึ้น เก่งขึ้น แล้วก็สามารถที่จะทำเช่นนั้นได้ ในวันนี้จะทำอย่างไร เราจะเริ่มต้นกันให้ได้ตรงนี้ก่อนนะครับ แล้วจากนั้นถ้ามีหนังจำนวนมากขึ้น ผมว่ามันเป็นเรื่องของการจ้างงานแน่นอน”

159539992798

159539994686

วิชา พูลวรลักษ์ กล่าวปิดท้ายการเสวนาว่า อยากจะเห็นภาครัฐใช้อุตสาหกรรมภาพยนตร์เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ชาติการสร้างงาน สร้าง creative economy และใช้ภาพยนตร์เป็นสินค้าที่จะดึงคนเข้ามาในประเทศ พร้อมขอบคุณ ส.ส. ทั้งสามท่านที่มารับฟังปัญหา

ขณะที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่นำโดย มาดามเดียร์ - วทันยา วงษ์โอภาษี ก็รับปากจะรวบรวมข้อมูล และนำเสนอรัฐบาล ผลักดันในเกิดกองทุนภาพยนตร์แห่งชาติต่อไป