โรงพยาบาลเขตค็อก บาซาร์ ซาดาร์ กับภารกิจในวิกฤติ 'COVID-19'

โรงพยาบาลเขตค็อก บาซาร์ ซาดาร์ กับภารกิจในวิกฤติ 'COVID-19'

เปิดมาตรการรับมือวิกฤติ "โควิด-19" ของแผนกฉุกเฉิน โรงพยาบาลในเขต "ค็อก บาซาร์" บังคลาเทศ ที่ทำให้ประชาชนนับแสนรายซึ่งรวมถึงผู้อพยพจากรัฐยะไข่ ได้รับบริการทางการแพทย์อย่างทั่วถึง

หลังจากให้การรักษาทางการแพทย์แก่ผู้ป่วยกว่า 100,000 ราย จากทั่วทั้งเขตค็อกซ์ บาซาร์ รวมถึงชุมชนที่รองรับผู้อพยพและประชากรผู้พลัดถิ่นจากรัฐยะไข่ตลอดช่วงปีที่ผ่านมา ในที่สุดการปรับปรุงแผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาลเขตค็อก บาซาร์ ซาดาร์ก็ได้โอกาสฉลองครบรอบ 1 ปี ของการเปิดให้บริการ ซึ่งเจ้าหน้าที่แผนกฯ ยังคงให้การดูแลฉุกเฉินแก่ผู้ป่วยทั่วทั้งเขตที่เดินทางมารับการรักษา ณ แผนกฉุกเฉินประจำสถานพยาบาลหลักของรัฐแห่งนี้ซึ่งรองรับผู้คน 3-5 ล้านคน

ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2562 เป็นต้นมา คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) ได้ดำเนินการภายใต้ความร่วมมือกับฝ่ายบริหารจัดการโรงพยาบาลซาดาร์อย่างใกล้ชิด เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของการให้บริการด้านการดูแลสุขภาพฉุกเฉินและศักยภาพความพร้อมในการบริหารจัดการของแผนกฉุกเฉิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงเวลาที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดย ICRC ได้จัดฝึกอบรมทักษะการดูแลฉุกเฉินแก่เจ้าหน้าที่ประจำแผนกฯ มอบยารักษาและอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการดูแลฉุกเฉิน ซึ่งช่วยให้แผนกฯ มีความพร้อมและวางแผนอย่างเหมาะสมเพื่อพร้อมรองรับต่อความจำเป็นของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา

ทั้งนี้ แผนกฯ แห่งนี้ได้รองรับผู้ป่วยวิกฤติเกือบ 2,000 ราย โดยมีอัตราการรอดชีวิตถึงร้อยละ 98 ซึ่งเป็นผลจากการนำเอาแนวทางการให้เจ้าหน้าที่หนึ่งคนทำการดูแลผู้ป่วยหนึ่งรายในแผนกฯ มาใช้ จึงได้ช่วยลดสภาพความแออัดภายในแผนกฯลงได้ ยิ่งไปกว่านั้น การรับผู้ป่วยเข้ารักษาในโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็นก็ลดลงมากถึงร้อยละ 65 ซึ่งช่วยลดสภาพความแออัดในหอผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

159539133075

ฟาร์รุกห์ อิสโลมอฟ ผู้อำนวยการสำนักงานย่อยของ ICRC ในเขตค็อก บาซาร์ อธิบายถึงความสำคัญของแผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาลที่มีผู้เข้ารับการรักษามากที่สุดของเขตแห่งนี้ว่า

“หนึ่งปีหลังจากเปิดทำการ แผนกฉุกเฉินแห่งนี้ได้ให้การดูแลฉุกเฉินแก่ผู้ป่วยกว่า 100,000 ราย จากทั่วเขตค็อก บาซาร์ รวมถึงชุมชนที่รองรับผู้อพยพและประชากรผู้พลัดถิ่นจากรัฐยะไข่ เราพยายามพัฒนาปรับปรุงการให้บริการด้านสุขภาพ โดยนำเอาระบบการคัดแยกผู้ป่วยมาใช้เพื่อให้ผู้ป่วยที่ต้องได้รับความช่วยเหลือทางการแพทย์เร่งด่วนจะได้รับการดูแลฉุกเฉินก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและรักษาชีวิตผู้ป่วยด้วย”

สืบเนื่องจากภัยคุกคามของ COVID-19 ที่แพร่ระบาดมากขึ้นในประเทศ แผนกฉุกเฉินแห่งนี้ยังคงให้การดูแลฉุกเฉินแก่ผู้ป่วยต่อไป ซึ่งนอกเหนือจากการฆ่าเชื้อพื้นผิวตามอาคารสถานที่แล้วนั้น ทางแผนกฯ ยังได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันอย่างเคร่งครัด โดยมีการเว้นระยะห่างทางกายภาพ การตรวจสอบอุณหภูมิ และการติดตั้งอุปกรณ์ล้างมือ เป็นต้น นอกจากนี้ ICRC ยังมอบอุปกรณ์ป้องกันตนเอง (PPE) ให้แก่เจ้าหน้าที่ประจำแผนกฯ ทุกคน เพื่อดูแลรักษาสุขภาพของเจ้าหน้าที่ขณะที่ให้บริการผู้ป่วย

ดร.ชาฮีน อับดูร์ ราห์มาน หัวหน้าแผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาลเขตค็อก บาซาร์ ซาดาร์ กล่าวชื่นชมการสนับสนุนของ ICRC ว่า“ก่อนหน้านี้ มีประชาชนเคยมารับบริการทางการแพทย์ของแผนกฯ ในแต่ละวัน 100 ถึง 150 คน แต่หลังจากมีการปรับปรุงแผนกฯ ครั้งสำคัญนี้ ทำให้เรามีความพร้อมในการรองรับผู้ป่วยมากถึง 350 ถึง 400 คนต่อวัน โดยตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา ผู้คนให้ความไว้วางใจในแผนกฯ ของเรามากขึ้น และตอนนี้แผนกฯ ของเราก็ได้กลายเป็นแผนกฉุกเฉินต้นแบบให้แก่โรงพยาบาลรัฐแห่งอื่น ๆ ทั่วประเทศ”

แผนกฉุกเฉินสำหรับผู้ป่วยที่สงสัยว่าอาจติดเชื้อ COVID-19 ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการเตรียมเปิดเพื่อให้การรักษาผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ดังนั้น ICRC จึงยังคงทำการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่พยาบาลและแพทย์ในการให้การดูแลฉุกเฉินในแผนกฯ แห่งใหม่นี้ พร้อมกับมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์และยารักษามูลค่ากว่า 80 ล้านตากาบังกลาเทศ (BDT) ทั้งนี้ ICRC ยังได้ลงนามข้อตกลงร่วมกับหน่วยงานโรงพยาบาลเพื่อจัดหาตู้เย็นสำหรับเก็บรักษาร่างผู้เสียชีวิตที่โรงพยาบาลเขตค็อก บาซาร์ ซาดาร์ ชั่วคราว จนกว่าครอบครัวผู้เสียชีวิตจะนำร่างไปดำเนินการฝังอย่างสมเกียรติ ทั้งนี้ ภารกิจต่อไปคือโครงการฝึกอบรมการแพทย์ฉุกเฉินสำหรับแพทย์และพยาบาลฉุกเฉินที่ทำงานในแผนกฯ และเพื่อพัฒนาให้แผนกฯ แห่งนี้เป็น “ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉิน” ในบังคลาเทศต่อไปในอีกสามปีข้างหน้า

นอกจากนี้ ICRC ยังได้ร่วมมือกับสภาเสี้ยววงเดือนแดงบังกลาเทศในการขยายการสนับสนุนไปยังศูนย์บริการสาธารณสุขของรัฐในเขตอุคียะและเท็กนาฟ เพื่อช่วยให้ศูนย์บริการสาธารณสุขสามารถให้การดูแลด้านสุขภาพแก่ชุมชน ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2014 ให้ดียิ่งขึ้นสืบไป โดยชุมชนที่รองรับผู้อพยพและผู้พลัดถิ่นยังได้รับบริการด้านสาธารณสุขมูลฐานจากทีมแพทย์เคลื่อนที่มาตั้งแต่เริ่มเกิดวิกฤติในรัฐยะไข่เมื่อปี 2017