แนะ ปฏิรูปกระบวนการพิสูจน์หลักฐาน ทุกฝ่าย ทำงานร่วมกัน

แนะ ปฏิรูปกระบวนการพิสูจน์หลักฐาน ทุกฝ่าย ทำงานร่วมกัน

สป.ยธ. จัดเสวนาถกประเด็นนิติวิทยาศาสตร์ในไทย ชี้แต่ละคดีเหมือนต่อจิ๊กซอว์ภาพใหญ่ให้สมบูรณ์ แนะปฏิรูปการทำงาน ตั้งคณะกรรมการชันสูตรศพ ลดปัญหา แพทย์ ตำรวจ และทุกฝ่ายต้องทำงานร่วมกัน

ที่ผ่านมา หลายคนมองว่านิติวิทยาศาสตร์มีความน่าเชื่อถือ แต่กลับมีคำถามตามมาในหลายคดี ที่จบโดยหลักฐานทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ แต่กลับไม่จบในด้านความรู้สึกของประชาชน อีกปัญหาหนึ่งคือ แพทย์ทางด้านนิติเวช ในประเทศไทย มีเพียง 200 คน ซึ่งไม่เพียงพอ แพทย์ทั่วไปจึงต้องทำหน้าที่รักษาคนไข้ และตรวจสอบที่เกิดเหตุในเวลาเดียวกัน

วานนี้ (7 กรกฎาคม) ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง อัยการจังหวัดคดีศาลแขวงจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวในงานเสวนาวิชาการ นิติวิทยาศาสตร์แบบไทยๆ เชื่อถือได้แค่ไหน? จัดโดย สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) ร่วมกับ Innocence Asia 2020 ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ว่า กระบวนการนิติวิทยาศาสตร์หรือนิติเวช อยู่ในขั้นตอนการรวบรวมหลักฐาน สืบสวนสอบสวน เพื่อให้ทราบสาเหตุการตาย พฤติกรรมการตาย หรือใครทำให้ตาย นี่คือสิ่งที่ต้องตอบ เพื่อนำไปสู่การแจ้งข้อกล่าวหา ดำเนินคดี ดังนั้น นิติวิทยาศาสตร์ จึงเป็นส่วนทำให้ทราบข้อเท็จจริงในคดี ปัจจุบันในต่างประเทศ แพทย์นิติเวชจำเป็นต้องไปที่เกิดเหตุ ในประเทศอังกฤษ มีหน่วยงานแพทย์พยาธิที่พร้อมตลอดเวลา ส่วนอเมริกามีแพทย์เป็นผู้ชี้ว่าเป็นฆาตรกรรมหรือไม่ ขณะที่ยุโรป ใช้มหาวิทยาลัยแพทย์ทางด้านนิติเวชเป็นหน่วยงานซัพพอร์ตที่เกิดเหตุ ขณะที่ ประเทศไทย เกิดคำถามว่าผลการตรวจนั้นถูกต้องหรือไม่ เพราะปัจจุบันเราไม่ใช่แพทย์นิติเวช จึงเกิดความลังเล สับสันไม่มั่นใจ

แพทย์เชี่ยวชาญนิติเวชในไทยมีเพียง 200 คน

นพ.ภาณุวัฒน์ ชุติวงศ์ ภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า นิติวิทยาศาสตร์ เป็นการแพทย์ที่เกี่ยวกับการไขคดีทางกฎหมาย มีการเรียนเป็นหลักสูตรเฉพาะ ต้องมีความสามารถในการเขียนสำนวนเพื่อสื่อสารให้คนภายนอกเข้าใจ คนที่มีความรู้ในไทยไม่ต่างจากต่างประเทศ ตำราและทฤษฎีใช้เหมือนกัน แต่สิ่งที่ต่าง คือ ในอเมริกา จะเป็นระบบการแพทย์สืบสวนสอบสวน เขาวางไว้ว่าหมอมีหน้าที่ชี้ว่าพฤติกรรมการตายเป็นอุบัติเหตุหรือฆาตรกรรม มีการแบ่งทีม หน้าที่ชัดเจน แต่ระบบไทย แพทย์อาจจะเป็นขาข้างหนึ่งของระบบ ให้ข้อมูลระดับหนึ่งเพื่อนำไปใช้

ขณะเดียวกัน แพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านนิติเวช ในประเทศไทย มีเพียง 200 คน ถือว่าน้อยมาก กระจายอยู่ในกทม.และปริมณฑลเป็นส่วนใหญ่ แพทย์ส่วนหนึ่งที่ถูกนำไปปฏิบัติงานด้านนิติเวช จึงเป็นแพทย์ทั่วไปจบใหม่ ซึ่งได้เรียนทฤษฎีนิติเวชที่รวมอยู่ในหลักสูตรแพทย์เพียง 2 สัปดาห์ ขณะที่งานด้านนี้ไม่ใช่แค่ความรู้อย่างเดียว ต้องอาศัยประสบการณ์ คำถามคือ ทำไมพี่ที่มีประสบการณ์ไม่ไป

“เพราะงานหลักของแพทย์ คือ รักษาคนไข้ ดังนั้น คนที่ต้องลงไป คือ น้องๆ ซึ่งแพทย์จะเรียนเรื่องของทางการแพทย์เป็นหลัก ดังนั้น แพทย์ธรรมดาไม่มีความรู้ด้านนี้แน่นอน ขณะเดียวกัน การเก็บหลักฐานในที่เกิดเหตุต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ อย่าหวังพึ่งแพทย์เพียงอย่างเดียว ต้องเป็นงานที่ช่วยเหลือกัน”

สำหรับกรณีน้องชมพู่ วัย 3 ขวบ ซึ่งหายไปจากบ้านเมื่อวันที่ 11 พ.ค. และพบเป็นศพเมื่อ วันที่ 14 พ.ค. ห่างไป 2 กิโลเมตรจากจุดที่หาย สภาพศพอยู่ในลักษณะไม่ใส่เสื้อผ้า พบกางเกงใกล้ศพ ไม่เจอเสื้อ เบื้องต้น ตำรวจสันนิษฐานว่าตายไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมง จากการตรวจสอบทางนิติเวช ในโรงพยาบาลแรกไม่พบร่องรอยถูกทำร้าย และแม่คาดว่าลูกเดินหายจากบ้านไปเอง แต่เมื่อมีข้อสงสัยจากทางสังคม ว่าเด็กหายออกจากบ้านไกลขนาดนั้นได้อย่างไร มีการส่งศพชันสูตรอีกครั้งที่โรงพยาบาลแห่งที่ 2 พบว่าร่างกายมีรอยบาดแผล และอวัยวะเพศมีแผล ทำให้สังคม 90% มุ่งไปที่เหตุฆาตรกรรม และเกิดการควานหาตัวคนร้าย โดยที่ประเด็นข้อสงสัยแรกที่เด็กเดินออกจากบ้านเองถูกตัดความสำคัญไป

นพ.ภาณุวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า คนที่อยู่ในกระบวนการแพทย์ต้องแยกให้ออกระหว่างสิ่งตรวจพบ ความเห็น และความรู้สึก โดยตัดความรู้สึกออกไปก่อน หากถามว่าเคสนี้ทำไมแปรผลไม่เหมือนกันทั้งๆ ที่ทั้งสองคนเป็นแพทย์นิติเวช ถามว่าเราเชื่อว่าอันไหนถูกต้อง คนส่วนใหญ่เชื่อผลครั้งที่ 2 เพราะสังคมเลือกเชื่อในสิ่งที่ตนเองอยากจะเชื่อ แต่จากประสบการณ์ทำงาน การผ่าศพครั้งแรกดีกว่าครั้งที่ 2 เกิน 90% แน่นอน ดังนั้น คนที่ผ่าครั้งที่ 2 ต้องดูจากสิ่งที่คนแรกทำไปแล้ว แต่คนมักเอาผลครั้งที่ 2 ไปใช้ อย่างไรก็ตาม ต้องดูว่าคนแรกทำมาอย่างไร เก็บหลักฐานได้ดีแค่ไหน สังคมต้องกลับมาคิดใหม่ พอมองสิ่งที่ถูกใจและแปรผลอย่างนั้น ทำให้ทุกอย่างผิดพลาดไปหมด

“การเปลี่ยนแปลงบาดแผลหลังตายสำคัญมาก มีเคสที่เจอแผลจริงๆ แต่เป็นแผลที่เกิดขึ้นหลังตาย เช่น แผลถลอก เรื่องของเลือดที่แห้ง มดกัด ฯลฯ ไม่ใช่เรื่องง่าย ควรใช้วิทยาศาสตร์ให้ถูกทาง ต้องชั่งน้ำหนักให้ดี ไม่ควรเอานิติวิทยาศาสตร์ หรือ นิติเวช ไปแปรผล ในเชิงที่เป็นไปไม่ได้และทำให้คนที่ไม่เกี่ยวข้องต้องเดือดร้อน ในเชิงวิชาการ การใช้หลักฐานด้านนี้ดี แต่ใช้ให้ถูก ตัดความรู้สึก และสังคมที่มากดดันออกไป ไม่เช่นนั้น สังคมจะเป็นการกดดัน เป็นศาลเตี้ย หากเป็นไปได้ ให้ปฏิรูปกฎหมายครั้งใหม่ การชันสูตรผ่าศพต้องมีคณะกรรมการ หากมีคณะกรรมการก็จะลดปัญหาลงไปได้” นพ.ภานุวัฒน์ กล่าว

ไม่ควรตัดประเด็นใดทิ้ง

นพ.กฤติน มีวุฒิสม หัวหน้ากลุ่มงานนิติเวช รพ.ระนอง ระบุว่า ความสำคัญในการใช้นิติเวชและนิติวิทยาศาสตร์ เป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นพยานหลักฐานที่มีคุณค่า แต่หากใช้ไม่เหมาะสมก็อาจทำให้สอบสวนผิดประเด็น ความแย่ของมันอาจจะทำให้มีคนที่ตกเป็นจำเลย คนร้ายตัวจริงไม่ถูกลงโทษ ดังนั้น ต้องมาคุยกันว่าบ้านเราใช้เหมาะสมหรือยัง

ปัญหา คือ บุคลากรที่ใช้ชันสูตรศพในไทย ส่วนใหญ่เป็นแพทย์สาขาอื่นๆ ไม่ใช่นิติเวช เพราะนิติเวช 200 คนไม่ครอบคลุม และส่วนใหญ่กระจุกตัวใน กทม. และปริมณฑล เราต้องยอมรับว่าการใช้ความเห็นของแพทย์ในทางนิติเวช สามารถผิดพลาดได้ ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน นี่คือสิ่งที่อยากให้สังคมโดยเฉพาะนักกฏหมาย พนักงานสอบสวน อัยการ ผู้พิพากษา เข้าใจ การนำความเห็นทางนิติเวชต้องคิดว่าถูกต้องเหมาะสม ดังนั้น หากรู้สึกว่ายังไม่ถูกต้องต้องมีการพิสูจน์อีกครั้งเพื่อให้แน่ใจ

ในอเมริกามีการรื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่เพราะดีเอ็นเอที่ตรวจพบไม่ตรงกับผู้ต้องหาที่จับกุมไปก่อนหน้านี้ เขากล้าออกมาเปิดเผยว่าการใช้นิติวิทยาศาสตร์มีปัญหา แต่บ้านเราไม่มีการหยิบยกขึ้นมาว่ามีปัญหา คดีแต่ละคดีเหมือนภาพใหญ่ ประกอบด้วยจิกซอว์หลายชิ้น หากพยายานหลักฐานขัดแย่งกันเองแสดงว่ามีหลักฐานที่ใช้ไม่ได้

กรณี ศึกษา คดีน้องชมพู่ ผลนิติเวชที่แรก บอกว่าตามร่างกายมีรอยขีดข่วน อาจจะเกิดจากโดนกิ่งไม้ ใบหญ้าเกี่ยว ที่เกิดเหตุไม่มีร่องรอยต่อสู้ ทำร้ายร่างกาย ไม่พบว่าเด็กถูกทำร้ายหรือกระทำชำเรา มีการส่งไปผ่าแห่งที่ 2 ผลออกมาว่า พบบาดแผลตามร่างกายและอวัยวะแพทย์ ทำให้เกิดความสับสน ทุกคนเบี้ยงประเด็น สื่อก็ประโคมเข้าไปอีก แต่อย่าลืมว่า ผลที่ทั้งสองสถาบันออกมาเหมือนกันคือ “ไม่ปรากฏสาเหตุการตาย”

สรุป เคสนี้ ไม่มีร่องรอยบาดแผลการฉีกขาดที่เยื่อพรมจารี กรณีแบบนี้ ไม่มีหลักฐานว่า มีการล่วงล้ำทางเพศ ส่วนหนังสือรับรองที่ระบุว่า มีแผลบริเวณอวัยวะเพศ คาดว่าเป็นร่องรอยหลังการตาย กรณีนี้ที่เป็นไปได้คือ มดกัด แพทย์ไม่ได้ยืนยันว่ามีการกระทำชำเรา แต่สื่อออกไปให้คลาดเคลื่อน ขณะที่ผลการผ่าพิสูจน์ศพ กระเพราะอาหารไม่พบว่ามีเศษอาหาร แสดงว่าในช่วงเวลาหนึ่งไม่ได้ทานอาหาร”

นพ.กฤติน กล่าวต่อไปว่า เราไม่ควรทิ้งประเด็นที่เด็กเดินไปเองด้วย ควรสอบสวนไปทุกประเด็น เพราะหากคุณไม่สอบสวนตั้งแต่แรก ก็หมายถึงว่าทิ้งพยานหลักฐานไปเช่นเดียวกัน เพราะหากถูกอุ้มไปฆ่า เด็กน่าจะเสียชีวิตตั้งแต่วันแรก และการพบศพ วันที่ 14 พ.ค. ศพน่าจะเน่าแล้ว บางคนบอกว่าเด็กถูกอุ้มไปให้ตายเองเราก็ไม่ได้ตัดประเด็นนี้ แต่ไม่สมเหตุสมผล ขณะที่หากเด็กอยู่ด้วยตัวเอง เดินหลงประมาณ 2 วัน เสียชีวิตวันที่ 13 พ.ค. การไม่พบอาหารในกระเพราะอาหาร แสดงว่าไม่ได้ทานอาหาร การล่วงละเมดทางเพศ ไม่มีร่องรอยบ่งชี้ ไม่เจอว่าเด็กถูกทำร้าย หรือทำให้ขาดอากาศ

อย่างกรณีศึกษาอื่นๆ หลายคนคาดว่าเด็กจะเดินไปเองไม่ได้ แต่กรณีน้องกัปตัน จ.เชียงราย ซึ่งหายจากบ้านไป 2-3 วัน ไปเจอที่บนเขา ไม่สวมเสื้อผ้า ห่างไป 4 กิโลเมตร ที่เด็กถอดเสือ้ผ้าเองสามารถเป็นไปได้ อาจจะเกิดจากการร้อน ปลดทุกข์ พัฒนาการเด็กอายุ 2-3 ขวบ สามารถถอดเสื้อผ้าได้เอง ขณะที่พาน้องกัปตันไปตรวจพบร่องรอยขีดข่วนจากกิ่งไม้คล้ายกับรอยบนข้อเท้าและหลังน้องชมพู่ หรือ อีกกรณีในต่างประเทศ เด็กอายุ 2 ขวบ ยังมีชีวิต พบเดินห่างไป 1.6 กิโลเมตร ความลดชันของภูเขา ไม่ใช่ปัญหา หากเขามีพัฒนาการในการปีนได้ ดังนั้น ไม่ควรตัดประเด็นใดทิ้งไป”

นพ.กฤติน กล่าวต่อไปว่า สิ่งแรกที่อยากให้ทุกคนทราบว่าแพทย์ส่วนใหญ่ที่ทำงานด้านการชันสูตร หรือ ทางคดี ไม่ใช่แพทย์เชี่ยวชาญ หรือส่วนใหญ่ผ่านการอบรมเพียง 2 สัปดาห์ ดังนั้น ความเห็นของแพทย์ต้องพึงระวังว่าอาจจะผิดได้ แม้แต่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็อาจจะผิดได้ ถัดมา 2. เราต้องเข้าใจว่าทางภูมิภาค โดยต่างจังหวัด ต่างอำเภอ การชันสูตพลิกศพ ในที่เกิดเหตุ แพทย์ไม่ค่อยออกไปชันสูตรที่เกิดเหตุ เพราะเขาจัดเวรควบคู่กับห้องฉุกเฉิน เขาทิ้งคนไข้ไม่ได้ ดังนั้น ต่อไปต้องมีการพิจารณาว่าจะจัดเวรอย่างไร 3. กรณีที่ชันสูตรพลิกศพ ส่วนใหญ่แพทย์ ตำรวจ ไม่ได้คุยกันว่าจะทำอย่างไรต่อ ต้องสื่อสารกัน แนวคิดแบบนี้ต้องปรับ

และ 4. เราเห็นตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ว่าความเห็นของแพทย์แตกต่างกันบ่อยๆ ทุกฝ่ายก็ไม่พยายามพิสูจน์ว่าความเห็นไหนถูกต้อง แม้กระทั้งจำเลย ร้องขอให้ตรวจซ้ำก็ไม่ได้มีอนุญาตให้ตรวจซ้ำ ดังนั้น หากมีข้อโต้แย้งต้องพิสูจน์ให้สิ้นสงสัย รวดเร็ว และเหมาะสม ต้องเป็นรูปแบบคณะกรรมการ ผู้เชี่ยวชานในระดับอาจารย์แพทย์ และต้องมีช่องทางในการร้องขอให้ได้อย่างรวดเร็ว

ด้าน พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร คอลัมนิสต์ “เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ” เลขาธิการ สป.ยธ. กล่าวในมุมการทำงานของตำรวจว่า งานนิติวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน ที่ผู้คนให้ความสนใจ ทั้งในเรื่องความผิดทางอาญา หรือคดีแพ่ง คนโหยหานิติวิทยาศาสตร์ ในการพิสูจน์ความจริง แต่อย่าลืมว่าการตรวจพิสูจน์ที่แม่นยำ 100% เป็นเรื่องยากแม้กระทำโดยสุจริต ก็มีปัญหาความคลาดเคลื่อน ก่อให้เกิดปัญหา หลายคดีที่จบโดยนิติวิทยาศาสตร์ แต่ไม่ได้จบในทางความรู้สึกของประชาชนว่ายุติธรรม เช่น ครูจอมทรัพย์ น้องหญิง มิก หลงจิ เกาะเต่า และน้องชมพู่

กระบวนการนิติวิทยาศาสตร์ของประเทศเรามีปัญหาหลายแง่มุมและนำไปสู่ความผิดพลาด ความอยุติธรรม อย่างร้ายแรง ต้องมาคิดกันว่าทำอย่างไรให้ถูกต้องแม่นยำ เชื่อถือได้ หากผิดพลาดต้องเกิดจากความไม่ตั้งใจ และไม่มีความอคติ ปัญหา คือ เราไม่ค่อยสงสัยกระบวนการทางการแพทย์ ทุกฝ่ายยอมรับมาตรฐานการแพทย์ เพราะคิดว่ามีกระบวนการวิทยาศาสตร์ตรวจสอบได้

“เราจะทำอย่างไร ไม่ให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น ขณะที่สื่อมวลชนก่อนจะให้ข่าว ต้องถามจากแพทย์ให้ละเอียด ต้องปฏิรูปในเรื่องการพิสูจน์หลักฐาน การเก็บรวบรวมหลักฐาน และทำให้คนจนเข้าถึง” พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าว