'ประยุทธ์' ชี้ต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉินแก้โควิดเร็ว เปิดเฟส 5 ช่วยผู้มีรายได้น้อย

'ประยุทธ์' ชี้ต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉินแก้โควิดเร็ว เปิดเฟส 5 ช่วยผู้มีรายได้น้อย

นายกฯ แจงจำเป็นคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อแก้ปัญหาโควิดได้ทันเวลา ระบุเฟส 5 อุ้มผู้มีรายได้น้อย ศบค.ชงครม.ปลดล็อกผับ-บาร์-อาบอบนวด ลั่นหากพบติดเชื้อลงโทษหนัก

ขณะที่ สธ.ชี้สถานการณ์ยังเสี่ยง สำรอง 2 หมื่นเตียง ยา 3 แสนเม็ด สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชี้ปลดล็อกผับบาร์ต่อลมหายใจธุรกิจ

การประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (ศบค.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.เป็นประธาน วานนี้ (29มิ.ย.) ได้ข้อสรุปถึงการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกไปอีก 1 เดือน ถึง 31 ก.ค.63 ตามข้อเสนอของ ศบค.ชุดเล็ก และผ่อนปรนมาตรการระยะที่ 5 รวมถึงอนุญาตให้ต่างชาติและคนไทยรวม 6 กลุ่มเดินทางเข้าประเทศไทยได้ โดยมีเงื่อนไข โดยมาตรการทั้งหมดจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติวันนี้ (30 มิ.ย.)

พล.อ.ประยุทธ์แถลงภายหลังการประชุมว่า มติศบค.ในวันนี้ ตนย้ำว่าเราอยู่ในห้วงเวลาสำคัญ แม้ช่วงที่ผ่านมาทุกอย่างดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีความเสี่ยงหลายประการ ซึ่งได้บอกไปแล้วว่าในระยะแรกและระยะที่ 2-3-4 ต้องมีการปฏิบัติตามมาตรการอย่างเข้มงวด และวันนี้จะมีการผ่อนคลายในระยะที่ 5 ซึ่งยังมีความเสี่ยงค่อนข้างมาก ดังนั้นขึ้นอยู่กับความร่วมมือของประชาชนทุกคนและสถานประกอบการต่างๆ โดยขอให้ย้อนกลับไปดูว่าในช่วงที่ผ่านมาที่มีการติดเชื้อไม่มากนั้นเกิดจากอะไร ซึ่งก็เกิดมาจากมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวดและมีการใช้มาตรการพิเศษ

โดยเฉพาะมี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกมาถึงควบคุมได้ถึงวันนี้ ซึ่งเหตุผลที่ทำไมถึงต้องมีตนได้บอกหลายครั้งแล้วว่าแม้มีกฎหมาย 40 ฉบับแต่ละหน่วยงานถือไว้ แต่หลายกิจกรรมไม่สามารถดำเนินการได้ทันที เช่น การเปิด-ปิดสถานที่ต่างๆ หรือการเข้าออกประเทศ ที่ต้องผ่านขั้นตอนทำให้หลายอย่างอาจไม่ทันต่อเวลาในการแก้ปัญหาจึงต้องมี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ย้ำว่าไม่ปิดกั้นใครทั้งนั้น

ที่สำคัญในห้วงที่ยังมีการแพร่ระบาด จะเห็นหลายประเทศที่มีการประกอบกิจกรรมที่มีรวมตัวทำกิจกรรมของคนจำนวนมากก็มียอดผู้ติดเชื้อสูง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องพิจารณาตามขั้นตอน โดยในระยะที่ 5 จะมีการผ่อนคลายสถานประกอบการต่างๆ รวมถึงการเข้าออกประเทศของนักธุรกิจต่างๆ แต่ย้ำว่าต้องมีมาตรการเชิงรุก โดยต้องมีการรองรับในวันข้างหน้าโดยเฉพาะในเรื่องการท่องเที่ยว การค้าขายและการประกอบกิจกรรมต่างๆ

ปลดล็อก“เฟส5”อุ้มรายได้น้อย

เหตุผลถึงความจำเป็นในการผ่อนคลายระยะที่ 5 สิ่งสำคัญคือเห็นใจผู้มีรายได้น้อยและ ผู้ที่ต้องประกอบอาชีพหาเลี้ยงครอบครัว โดยต้องมีมาตรการสำคัญที่จะรองรับ เพื่อให้เห็นว่าเรามีความพร้อมแต่ไม่สามารถรับรองได้ 100% เพราะทุกอย่างอยู่ที่คนไทยทุกคนที่จะร่วมมือกันทุกอย่างถึงจะผ่านพ้นไปด้วยดี

ในช่วงท้ายผู้สื่อข่าวถามว่ายืนยันได้หรือไม่ว่าการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่ได้เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน พล.อ.ประยุทธ์ ตอบว่า เรื่องนี้คนละกาลเทศะกัน

5 กลุ่มรวมสถานบันเทิงเริ่ม 1 ก.ค.

ด้าน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.แถลงรายละเอียดเพิ่มเติม ถึงการขยาย พ.ร.ก. ฉุกเฉินว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่เห็นชอบให้มีการเสนอ ครม. ในวันที่ 30 มิ.ย.เพื่อขยายออกไป 1 เดือน ถึง 30 ก.ค.63

สาเหตุที่ต้องมีการขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีความสำคัญอยู่ 2 ประเด็น คือ อำนาจเชิงป้องกันโรคที่มากกว่า พ.ร.บ.โรคติดต่อ คือ ด้านที่ 1. พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ช่วยในการเดินทางเข้า-ออกราชอาณาจักรทุกช่องทาง ซึ่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อจัดการไม่ได้ 2.การจัดทำระบบติดตามตัว กักตัวหรือการอยู่ในสถานกักกันโรคของรัฐ และ 3. การควบคุมโรคที่ครอบคลุมทุกกิจการ/กิจกรรมที่เกี่ยวข้อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เท่านั้นที่ทำให้ทันเวลา ด้านที่ 2 เป็นภาพรวมของการบูรณาการเอกภาพและประสิทธิภาพ โดยกระทรวงมหาดไทยยังได้เสนอเปิดด่านเพิ่ม 9 จุดทั่วประเทศ 

 สำหรับประเด็นการผ่อนปรนระยะที่ 5 โดย พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้นำข้อเสนอจาก ศบค.ชุดเล็กขึ้นมาให้ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ลงมติเห็นชอบ ได้แก่ 1.สถาบันการศึกษา เปิดเรียนทั้งหมด 2. ห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตีมอลล์ ให้เปิดปิดตามความเหมาะสมของพื้นที่ 3. กลุ่มผับบาร์ คาราโอเกะ เปิดบริการได้ไม่เกิน 24.00 น. ในทุกกรณี 4.ร้านเกม และร้านอินเทอร์เน็ต การเปิดให้บริการตามกฎหมาย 5. สถานประกอบกิจการอาบ อบ นวด โรงน้ำชา ห้ามมีการขายประเวณี ผู้ประกอบกิจการกิจกรรม ต้องเข้มงวด หากพบว่าผิด หรือไม่ปฏิบัติตามให้กำหนดบทลงโทษลงไปด้วย

ไฟเขียวต่างชาติ-คนไทย 6 กลุ่ม

นอกจากนี้ ที่ประชุมศบค.ยังได้พิจารณามาตรการผ่อนคลายการเข้ามาในราชอาณาจักร โดยกระทรวงการต่างประเทศเสนอการขยายกลุ่มชาวต่างชาติที่สามารถเดินทางเข้าประเทศไทย 6 กลุ่ม คือ 1.คู่สมรสและบุตร ผู้ที่ได้รับอนุญาตทำงานในราชอาณาจักร 2.ผู้มีสัญชาติไทย ซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร 3.คู่สมรสต่างชาติและบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้มีสัญชาติไทย 4. ผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทย แต่มีความจำเป็นต้องเข้ามารับการรักษาพยาบาลในประเทศไทยและมีผู้ติดตาม 5.นักเรียน นักศึกษาต่างชาติ และผู้ปกครองของบุคคลดังกล่าว และ 6. ผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรตามข้อตกลงพิเศษกับประเทศเป้าหมาย ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มนักธุรกิจและมีความเชี่ยวชาญด้านเทคนิค

“โควตาที่กำหนด ต้องสอดคล้องกับสถานที่พักที่รัฐกำหนด (ASQ) อาจกำหนดจำนวนเกิน 200 คนต่อวัน โดยประเทศเป้าหมาย คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ฮ่องกง และสิงคโปร์ ซึ่งจะพิจารณาผู้ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ และการจัดทำข้อตกลงดังกล่าวจะแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ ผู้เดินทางมาแบบธรรมดา ซึ่งอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานาน จะต้องอยู่ในสถานที่ที่รัฐกำหนด 14 วัน และรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง และกลุ่มที่สองคือ ผู้เดินทางมาแบบเร่งด่วน กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มนักธุรกิจ ผู้เชี่ยวชาญ ที่มีความสำคัญกับเศรษฐกิจของไทย เดินทางมาระยะสั้นต่ำกว่า 14 วัน” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

ขณะที่ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงสถานการณ์โรคโควิด-19 ว่า เป็นวันที่ 35 ที่ประเทศไทยไม่มีการติดเชื้อภายในประเทศ แต่มีผู้ป่วยรายใหม่ 7 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศ และเข้าสถานกักกันที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) ไม่มีรักษาหายและเสียชีวิตเพิ่ม โดยผู้ป่วยสะสมรวม 3,169 ราย หายกลับบ้านรวม 3,053 ราย เสียชีวิตรวม 58 ราย ยังรักษาใน รพ. 58 ราย ไม่มีผู้ป่วยอาการหนัก หรือต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ทำให้สถานการณ์ในไทยสบายใจได้เพิ่มเล็กน้อย

สธ.สำรองเตียง-ยา 3 แสนเม็ด

ทั้งนี้ การผ่อนปรนในระยะที่ 5 มีความเสี่ยง จึงมีการสำรวจและเตรียมพร้อม โดยโรงพยาบาลมีเตียงไอ.ซี.ยู. 571 เตียง ห้องแยกสำหรับอาการหนัก 11,206 เตียง เตียงทั่วไปอีก 10,349 เตียง ซึ่งการไม่พบผู้ป่วยหนัก ไม่มีผู้ป่วยต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ คิดว่าเตียง 2 หมื่นกว่าเตียง น่าเพียงพอรองรับ หากมีสถานการณ์มากขึ้น คำนวณว่ารองรับได้วันละ 50-500 คนต่อวัน ถ้ามีผู้ป่วยรายใหม่

ด้านอุปกรณ์เวชภัณฑ์ เช่น หน้ากาก N95 เตรียมความพร้อมไว้ 1.12 ล้านกว่าชิ้น ชุดป้องกันอันตรายระดับสูงเมดิคัลเกรด หรือชุด PPE มี 5.11 แสนกว่าชุด โดย 3.5 แสนชุดกระจายทุก รพ. อีก 1.5 แสนชุดเตรียมที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เพื่อกระจายในกรณีฉุกเฉิน และมีเครื่องช่วยหายใจที่ว่าง 1.1 หมื่นเครื่อง

สำหรับยา โดยยาฟาวิพิราเวียร์ที่รักษาโดยเฉพาะ มีสำรองไว้กว่า 3 แสนเม็ด ส่วนยาอื่นก็เตรียมเช่นกัน ได้แก่ ยาไฮดรอกซีคลอโรควิน 395,802 เม็ด คลอโรควิน 673,222 เม็ด ดารุนาเวียร์ 25,390 เม็ด โลพินาเวียร์/ริโทนาเวียร์ 38,360 เม็ด ริโทนาเวียร์ 24,158 เม็ด และอะซิโทรมัยซิน 5,707 เม็ด

ชี้ปลดล็อกต่อลมหายใจธุรกิจ

นายธนากร คุปตจิตต์ นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย หรือ TABBA กล่าวว่า มาตรการปลดล็อกดาวน์ธุรกิจ ในกลุ่มผับ บาร์ วันที่ 1 ก.ค.นี้ ถือว่าช่วยต่อออกซิเจนให้ผู้ประกอบการธุรกิจได้ในระดับหนึ่ง ทำให้ธุรกิจคลี่คลายในทางที่ดีขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการพยายามคิดบวกคาดหวังให้ธุรกิจฟื้นตัวกลับมาได้ 50% ก็ดีใจแล้ว แต่สถานการณ์คงยังไม่กลับมาเหมือนเดิม เพราะยังมีปัจจัยด้านเศรษฐกิจ กำลังซื้อ เงื่อนไขของการให้ผู้บริโภคเข้ามาจับจ่ายใช้สอยใช้บริการภายในร้าน ประกอบกับที่ผ่านมาไม่ได้พึ่งพาแค่กำลังซื้อคนไทย แต่เป็นผู้บริโภค นักท่องเที่ยวต่างชาติด้วย

คลายล็อกช่วยฟื้นท่องเที่ยว

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า การคลายล็อกกิจกรรมด้านเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตระยะที่ 4 และ 5 มีส่วนหนุนให้ตลาดไทยเที่ยวไทยกลับมาคึกคัก หลังได้กระแสการเดินทางในช่วงวันหยุดยาว และผู้ประกอบการโรงแรมเริ่มกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งในเดือน ก.ค.นี้ 

“แม้ว่าช่วงนี้จะเป็นช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยวหรือโลว์ซีซั่น แต่ ททท.ต้องเร่งกระตุ้นภาคท่องเที่ยว เพื่อให้อัตราเข้าพักทั่วประเทศไม่ต่ำกว่าประมาณการจุดวิกฤติ เฉลี่ยอยู่ที่27.87%ซึ่งถือเป็นอัตราเข้าพักเฉลี่ยต่ำสุดที่ทำให้ระดับผลกำไรของโรงแรมเท่ากับศูนย์ หลังจากในช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนัก อัตราเข้าพักลดลงเหลือเพียง 0-5%” ผู้ว่าการ ททท.กล่าว

โดยวันนี้ (30 มิ.ย.) ครม. จะพิจารณาข้อสรุปของแพ็คเกจมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศทั้ง 3 โครงการ ได้แก่ เราไปเที่ยวกัน เที่ยวปันสุข และกำลังใจ เบื้องต้น ททท.คาดว่าวันที่ 1 ก.ค.นี้น่าจะเปิดให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่สนใจเข้าร่วมโครงการมาลงทะเบียน ก่อนเปิดให้ประชาชนทั่วไปลงทะเบียนรับสิทธิ์ราวกลางเดือน ก.ค.นี้ โดย ททท.เตรียมแถลงเปิดตัวรายละเอียดทั้ง 3 โครงการอย่างเป็นทางการในวันศุกร์ที่ 3 ก.ค.นี้.