'นักบินใบอนุญาตเถื่อน' ปัญหาใหญ่ 'สายการบินปากีสถาน'

'นักบินใบอนุญาตเถื่อน' ปัญหาใหญ่ 'สายการบินปากีสถาน'

สายการบินแห่งชาติปากีสถานกำลังเจอเผือกร้อน หลังมีข่าวว่านักบินเกือบ 1 ใน 3 ถือใบอนุญาตปลอม หรือได้มาโดยมิชอบ ผู้สังเกตการณ์จำนวนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า สายการบินที่กำลังมีปัญหาอย่างหนักแห่งนี้จะรอดพ้นจากเรื่องฉาวได้หรือไม่

สัปดาห์ที่แล้ว “ปากีสถาน อินเตอร์เนชันแนล แอร์ไลน์” หรือ พีไอเอ (PIA) แถลงว่า เพิ่งสั่งพักงานนักบิน 141 คนจาก 434 คน หลังรัฐบาลตรวจสอบพบว่า พวกเขาได้หนังสือรับรองปลอม หรือโกงข้อสอบใบอนุญาตนักบินด้วยการส่งคนอื่นไปสอบแทน

ที่เป็นประเด็นขึ้นมาเพราะเดือนก่อนเกิดอุบัติเหตุเครื่องบินตกที่การาจี คร่าชีวิตประชาชน 98 คน เจ้าหน้าที่สอบสวนกล่าวโทษว่าเป็นเพราะนักบินทั้งสองคนมัวแต่คุยกันเรื่องไวรัสโคโรนา ตอนพยายามนำเครื่องบินแอร์บัส เอ320 ลงจอด ไม่ฟังคำเตือนของเจ้าหน้าที่หอควบคุมการบินที่พูดถึง 3 ครั้งว่าเครื่องอยู่สูงเกินไปอย่าเพิ่งลง แต่นักบินนำเครื่องจอดโดยไม่ได้กางล้อ ทำให้เครื่องยนต์กระแทกรันเวย์เสียหายยับเยิน แม้นักบินพยายามนำเครื่องขึ้นฟ้าอีกครั้งแต่เครื่องยนต์เสียหายจนทำงานไม่ได้ จึงตกลงใส่บ้านคนบริเวณใกล้สนามบิน

ปีที่แล้ว รัฐบาลปากีสถานทบทวนใบอนุญาตนักบิน รายละเอียดเพิ่งเผยแพร่ในวันที่ 25 มิ.ย. พบว่า นักบินปากีสถาน 262 คนจาก 860 คน ถือใบอนุญาตปลอมหรือโกงข้อสอบ กว่าครึ่งเป็นนักบินของพีไอเอ สายการบินใหญ่สุดของประเทศ

เมื่อวันศุกร์ (26 มิ.ย.) กุลัม ซาร์วาร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการบิน เผยว่า นักบิน 28 คนจาก 262 คนผู้ไม่มีใบอนุญาตถูกไล่ออกแล้วและอาจถูกดำเนินคดีอาญาด้วย นับจากนี้พีไอเอจะปฏิรูปเพื่อปรับโครงสร้างสายการบิน ซึ่งกระบวนการ “สะสาง” นี้ควรแล้วเสร็จภายในสิ้นปี

“มีคนบอกว่า ออกมาแฉแบบนี้มีแต่จะเสียหาย แต่เมื่อคุณพยายามรักษาชีวิตคนไข้ คุณต้องผ่าตัด ฉายรังสี หรือแม้แต่คีโมก็ต้องทำ” รัฐมนตรีแถลงต่อผู้สื่อข่าว โดยพยายามกล่าวโทษว่าปัญหาของพีไอเอ มาจากรัฐบาลก่อนๆ ทำผิดพลาด

“ด้วยพระประสงค์ของพระเจ้า 2564 จะเป็นปีที่ดีขึ้นของหน่วยงานปากีสถาน ด้วยพระประสงค์ของพระองค์ พีไอเอจะเป็นพีไอเอในช่วงรุ่งเรืองเหมือนเมื่อทศวรรษ 60, 70 และ 80” รัฐมนตรีกล่าวต่อ

ก่อนทศวรรษ 70 พีไอเอเคยได้ชื่อว่าเป็นสายการบินเบอร์ 1 ของภูมิภาค แต่มาเสียชื่อเรื่องการจัดการผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำอีก ยกเลิกไฟลท์บ่อย และมีปัญหาด้านการเงิน

แต่ผู้สังเกตการณ์หลายคนไม่ได้โลกสวยเหมือนอย่างรัฐมนตรี พวกเขาสงสัยว่าสาธารณชนจะไว้ใจการปฏิรูปของพีเอเอจริงหรือ

“เรื่องนักบินใช้ใบอนุญาตปลอมจะเป็นตะปูตัวสุดท้ายตอกฝาโลงพีไอเอ โลกไม่ไว้ใจเราอีกแล้ว ไม่มีใครอยากบินกับนักบินที่ใช้ใบอนุญาตเถื่อน แถลงการณ์ของรัฐมนตรีมีแต่ทำให้ภาพลักษณ์สายการบินเสื่อมเสีย” อิจาซ ฮารูน ซึ่งคยเป็นกรรมการผู้จัดการพีไอเอ ก่อนจะลาออกไปในปี 2554 เพราะถูกสหภาพแรงงานประท้วง คาดการณ์ 

ด้าน ชาห์ซาด เชาดรี อดีตพลอากาศตรีแห่งกองทัพอากาศปากีสถาน กล่าวว่า รัฐบาลปล่อยให้พีไอเอเป็นแพะรับบาปอย่างไม่เป็นธรรม ทั้งๆ ที่กรมการบินพลเรือน (ซีเอเอ) เป็นผู้ออกใบอนุญาต

“เราไม่ใช่แค่ต้องยกเครื่องพีไอเอทั้งหมด แต่ต้องยกเครื่องซีเอเอด้วย ทั้งคู่ทำงานด้วยกันอย่างใกล้ชิด” อดีตนายพลให้เหตุผล

รัฐบาลแถลงเมื่อวันศุกร์ (26 มิ.ย.) ว่า ไล่ออกพนักงานซีเอเอ 5 คนจากเรื่องฉาวนี้

ส่วนพีไอเอ ที่บริหารงานโดยเจ้าหน้าที่กองทัพอากาศ ปัจจุบันมีเครื่องบิน 31 ลำ และพนักงานราว 14,500 คน จากอัตราส่วนระหว่างพนักงานกับเครื่องบินที่สูง กลายเป็นข้อกล่าวหามาเนิ่นนานว่า รัฐบาลและกองทัพใช้สายการบินแห่งชาติเป็นแหล่งจ้างงานให้กับพวกพ้องและทหารเกษียณ

“ตัวแบบธุรกิจของพีไอเอในปัจจุบันอยู่ภายใต้ผลประโยชน์ของพรรคการเมืองและกลุ่มพลังต่างๆ ไม่มีสายการบินไหนที่มีเจ้าหน้าที่ 500 คนต่อเครื่องบิน 1 ลำ ตัวแบบธุรกิจที่เราทำมาตั้งแต่ตอนเริ่มต้นไม่ยั่งยืน” เชาดรีให้ความเห็น

นักบินที่ยังทำงานอยู่ 3 คนของพีไอเอเผยกับสำนักข่าวเอเอฟพีถึงปัญหาหลายๆ อย่าง รวมถึงการที่นักบินถูกบังคับให้ทำงานนานถึง 24 ชั่วโมง ขณะที่โฆษกพีไอเอบอกว่าไม่มีเรื่องแบบนี้

หลายปีที่ผ่านมา ปากีสถานเกิดเหตุเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์ตกบ่อยครั้ง เป็นของพลเรือนบ้างกองทัพบ้างสลับกันไป

ปี 2559 เครื่องบินพีไอเอเกิดเหตุเครื่องยนต์ 1 ใน 2 ตัวขัดข้องแล้วระเบิด ระหว่างบินจากภาคเหนืออันห่างไกล สู่กรุงอิสลามาบัด มีผู้เสียชีวิตกว่า 40 คน

ส่วนอุบัติเหตุเมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่การาจี ที่คร่าชีวิตผู้โดยสารและลูกเรือ 97 คน รอดเพียง 2 คน และเด็กอีก 1 คนเสียชีวิตในจุดที่เครื่องบินตก กาซิม กาดีร์ เลขานุการร่วม สมาคมนักบินปากีสถาน เรียกร้องให้สอบสวนอย่างละเอียดและโปร่งใส

“การกล่าวโทษนักบินก็เรื่องหนึ่ง แต่เราอยากเห็นระบบที่ปลอดภัยสำหรับทั้งนักบินและผู้โดยสาร กรุณาสอบสวนอย่างเป็นธรรมเถอะครับ” นักบินโอดครวญกับสื่อ