'เอไอเอส' ดัน '5G' ปลุกศก.ไทย อัด 4.5 หมื่นล.เร่งดิจิทัลอินฟราฯ

'เอไอเอส' ดัน '5G' ปลุกศก.ไทย อัด 4.5 หมื่นล.เร่งดิจิทัลอินฟราฯ

'AIS' ประกาศวิสัยทัศน์ผนึกกำลังทุกฝ่ายกอบกู้เศรษฐกิจ ทุ่มงบ 4.5 หมื่นล้าน เนรมิต 5G ทุกพื้นที่ในไทยจุดพลุ 'ดิจิทัล อินฟราสตัคเจอร์' ประเทศ จับมือยักษ์ใหญ่ในนิคม 'อีอีซี' ดัน 5G หนุนลงทุน 

ประเมินโทรคมปีนี้ชะลอตัวต่ำสุดรอบทศวรรษ ระบุ 30 ปี อัดงบลงทุนร่วม 1.1 ล้านล้านบาท มั่นใจศักยภาพทุกฝ่าย ฉุดไทยฟื้นจากพิษโควิดได้แน่นอน

วิกฤติโควิดกลายเป็นอุปสรรคใหญ่ที่ทุกธุรกิจทุกอุตสาหกรรมต้องฝันฟ่า เป็นโจทย์ที่ท้าทายของทุกอุตสาหกรรมใหญ่ในประเทศไม่พ้นแม้แต่ “AIS” ผู้นำในตลาดโทรคมนาคม ที่เผยว่า 'ปีนี้โหดจริงๆ' กับการพาองค์กรที่มีพนักงานกว่า 12,000 คน ให้รอดพ้นจากวิกฤตินี้โดยย้ำหนักแน่นมาตลอดว่า จะไม่ปลดพนักงานออกแม้แต่ตำแหน่งเดียว แต่ให้พนักงานทุกคนร่วมใจฝ่าอุปสรรค พร้อมปรับทักษะตัวเองให้สอดรับการความต้องการของโลกให้ได้ดีที่สุด 

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (AIS) กล่าวภายในงาน AIS 5G-Forging Thailand's Recovery ว่า ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาวิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงไปทั่วโลกยิ่งกว่าวิกฤติอื่นๆ ที่เคยมีมา และก่อให้เกิด “ชีวิตวิถีใหม่” ที่ไม่มีวันกลับไปเหมือนเดิมแบบทันทีทันใด

“เดิมผมคิดว่า 5G ที่จะลงไปยังผู้บริโภคน่าจะใช้เวลา 2-3 ปี การมีโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ทำให้ 5G ที่จะให้ผู้บริโภคใช้งานเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คิด ทั้งในเชิงเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภค ดังนั้นต้องมีวิถีใหม่ในการทำธุรกิจเพื่อความอยู่รอด”

อุตฯ โทรคมโตต่ำลงในรอบ 10 ปี 

วิกฤติครั้งนี้ จะเห็นปรากฏการณ์เป็น 3 ช่วง คือ ช่วงตกต่ำจากวิกฤติ หรือ FALL จากนั้นจะเป็นช่วงแห่งการต่อสู้เพื่อให้ก้าวผ่านวิกฤติไปให้ได้ หรือ FIGHT และช่วงสร้างอนาคตอย่างยั่งยืน หรือ FUTURE ซึ่งทุกช่วงเวลา ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเข้ามาเป็นฐานรากที่แข็งแกร่ง เพื่อประคองและเสริมขีดความสามารถทั้งสิ้น AIS 5G จึงเปรียบได้เป็นเส้นเลือดใหญ่ดิจิทัล ที่วันนี้ได้เริ่มนำมาใช้ช่วยเหลือเพื่อหล่อเลี้ยงประเทศแล้ว

อย่างไรก็ตาม เขา ระบุว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมโทรคมนาคมปีนี้ แม้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 แต่ยังดีกว่าภาพรวมอุตสาหกรรมอื่น โดยรายได้ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมปีนี้คงปรับตัวลดลงในรอบ 10 ปี จากที่เคยมีอัตราการเติบโตสูงกว่ามูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ แต่เมื่อเกิดโควิด-19 ปีนี้ ตัวเลขไตรมาสที่ 1 เทียบกับปีที่แล้วแม้ยอดการใช้งานสูงกว่า 20% แต่รายได้หรือมูลค่ารวมของอุตสาหกรรมตกไป 2-3%

เขากล่าวด้วยว่า หลายคนอาจมองว่า อุตสาหกรรมโทรคมนาคมน่าจะโชคดีจากวิกฤติครั้งนี้ จากที่ทุกคนใช้งานเครือข่ายมากขึ้น ทำให้เอไอเอสต้องลงทุนเพิ่มเพื่อให้โครงข่ายเพียงพอต่อการใช้งาน แต่เอไอเอสไม่สามารถสร้างมูลค่าทางรายได้เพิ่มขึ้น ด้วย 3 ปัจจัย คือ 1.การปิดประเทศทำให้นักท่องเที่ยวหาย ส่งผลให้รายได้การจำหน่ายซิมการ์ดสำหรับนักท่องเที่ยวหายไป 2.การที่รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ประเทศ ทำให้ช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าบริการไปถึงมือผู้บริโภค ไม่สามารถทำได้ 

และ 3.ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ทำให้ประชาชนไม่มีกำลังซื้อมากพอ รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้มีมาตรการสนับสนุนการทำงานจากที่บ้าน (เวิร์กฟรอมโฮม) ทั้งการให้อินเทอร์เน็ตฟรี 10 GB และการให้โทร 100 นาทีฟรี

อัดงบโครงข่ายปีนี้ 4.5 หมื่นล.

นายสมชัย กล่าวต่อว่า  ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เอไอเอสอยู่ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยมา 30 ปี ลงทุนมากกว่า 1.1 ล้านล้านบาท รวมถึงการอยู่ในสัญญาสัมปทานกับบมจ.ทีโอที บนคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ ที่เอไอเอสได้สร้างโครงสร้างพื้นฐาน เสา สถานีฐาน และได้ส่งมอบให้ทีโอทีในรูปแบบบีทีโอไปแล้วคิดเป็นทรัพย์สินมูลค่ากว่า 200,000 ล้านบาท 

และหลังจากที่มีการเปลี่ยนผ่านจากสัมปทานมาสู่ระบบใบอนุญาต (ไลเซ่นส์) เอไอเอสได้ใช้งบประมาณเพื่อประมูลคลื่นความถี่จากสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รวมเป็นเงินราว 230,000 ล้านบาท โดยปัจจุบันเอไอเอสเป็นผู้ประกอบการที่ถือครองคลื่นความถี่มากที่สุดคือ 1420 เมกะเฮิรตซ์

159314221560

อย่างไรก็ดี ปีนี้เตรียมงบลงทุนไว้ที่ 35,000-45,000 ล้านบาท และได้เปิดให้บริการเอไอเอส 5G เป็นรายแรกของประเทศตั้งแต่วันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา พร้อมขยายเครือข่ายไปครบทั้ง 77 จังหวัดเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่เดือนพฤษภาที่ผ่านมาตามจุดหัวเมืองหลักต่างๆ 

โดยเดือนกรกฎาคมนี้ จะเน้นขยายเพิ่มให้ครอบคลุมโซนกทม. ปริมณฑล และกลุ่มอุตสาหกรรมในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งจะได้ความชัดเจนและรูปแบบการดำเนินงานในเดือนก.ค.นี้ และในเดือนสิงหาคมจนถึงสิ้นปีนี้ทยอยให้ครอบคลุมเพิ่มมากขึ้นทั่วประเทศ โดยในเดือนส.ค.เอไอเอสจะออกแพคเก็จ 5G โปรโมชั่นสำหรับลูกค้าที่มีสมาร์ทโฟนที่รองรับ 5G ด้วย

รุกนิคมทั้งทางบก-น้ำ-อากาศ

ทั้งนี้ การชู 5G เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้เป็นดิจิทัล อินฟราสตรัคเจอร์ใหม่ของประเทศ จะเน้นเข้าไปที่ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ในโครงการอีอีซี ในฐานะไอซีที อินฟราสตรัคเจอร์ในนิคมอุตสาหกรรม ประกอบไปด้วย ภาคพื้นดินในกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม ประกอบด้วย อมตะ คอร์ปอเรชัน, สหพัฒนา อินเตอร์โฮลดิ้ง, กลุ่มดับบลิวเอชเอ ที่เริ่มทดลองสอบ 5G สมาร์ท ซิตี้แล้ว

ทางอากาศ ผ่านบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น ในนาม กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ผู้ชนะการประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ที่เริ่มทดลองทดสอบ 5G สมาร์ท แอร์พอร์ตแล้ว และทางทะเล เอไอเอส ได้ร่วมกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย ที่เริ่มทดลองทดสอบ 5G แล้วในบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง เช่นเดียวกับการผลักดันศักยภาพทำเลเศรษฐกิจเมืองใหม่ ดึงดูดการลงทุน

เขา เสริมว่า ในภาคการค้าปลีก เอไอเอสยังอยู่ระหว่างการพัฒนา 5G สมาร์ท รีเทล ร่วมกับกลุ่มเซ็นทรัลรีเทล ในฐานะหัวหอกสำคัญของภาคอุตสาหกรรมค้าปลีกครอบคลุมตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ของการใช้ชีวิตของคน

พร้อมพัฒนาสู่การเติบโตยั่งยืน

นอกจากนี้ เอไอเอส ยังมุ่งเน้นการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม การเกษตร และการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนผ่านเครือข่าย 5G โดยผนึกพันธมิตรกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สร้างเอสดีจี แล็บ พื้นที่ 100 ไร่ ในอุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี หรือสวนป๋วย ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ต้นแบบการรณรงค์ให้คนไทยเห็นความสำคัญการดูแลสิ่งแวดล้อมที่เป็นรูปธรรมที่สุดแห่งหนึ่ง รวมทั้งเปิดแพลตฟอร์มการเรียนรู้ LearnDi จาก AIS Academy for Thais ขยายการสร้างความเข้มแข็งการพัฒนาบุคลากรสู่แต่ละองค์กรทั่วประเทศ

นายสมชัย กล่าวในตอนท้ายว่า เอไอเอส พร้อมนำเครือข่าย 5G เข้ามาเป็นเส้นเลือดใหญ่ดิจิทัลหลักของประเทศไทยนับตั้งแต่วันนี้ เพราะวิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ถือเป็นบทเรียนสำคัญของคนไทยและทั่วโลก และชี้ว่าท่ามกลางวิกฤติยังมีโอกาสอันยิ่งใหญ่อยู่เสมอ ขึ้นอยู่กับว่าจะฉกฉวยโอกาสนั้นได้อย่างไร โดยประเทศไทยถือว่ามีจุดแข็งซึ่งได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วนว่า มีระบบสาธารณสุขที่เป็นเลิศ มีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่สวยงาม เป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์