'โรงงานรถอาเซียน' เข้าเกียร์ต่ำ โควิด-19 ทุบดีมานด์ซบเซา

'โรงงานรถอาเซียน' เข้าเกียร์ต่ำ โควิด-19 ทุบดีมานด์ซบเซา

หลังจากระงับการผลิตไปหลายเดือนจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ผู้ผลิตรถยนต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลับมาผลิตอีกครั้งแบบไม่คึกคักเท่าที่ควร เพราะต้องยึดถือข้อบังคับด้านสุขอนามัย อีกทั้งยอดขายซบเซา

เว็บไซต์นิกเคอิรายงานว่า ตั้งแต่เดือน พ.ค.เป็นต้นมา ประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มผ่อนคลายข้อบังคับให้ภาคธุรกิจกลับมาดำเนินการและประชาชนไปไหนมาไหนได้ เพื่อตอบสองท่าทีของรัฐบาล ผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นที่ควบคุมตลาดและการผลิตรถยนต์ส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้ก็เริ่มเปิดโรงงานของตนอีกครั้ง

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเผยเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า เมื่อเดือน พ.ค. ไทยที่เป็นผู้ผลิตรถยนต์ใหญ่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผลิตรถเพิ่มขึ้น 130% จากเดือน เม.ย. มาอยู่ที่ 56,035 คัน ตัวเลขนี้ลดลงอย่างมากถึง 69% จากปีก่อน กระนั้นก็ถือเป็นสัญญาการการฟื้นตัวจากความเสียหายหนักจากการระบาดของไวรัสโคโรนา

“เป็นไปได้ว่ายอดขายถึงจุดต่ำสุดเมื่อเดือน เม.ย.” สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกล่าว

159293159641

โตโยต้าเปิดเดินเครื่องทั้ง 3 โรงงานในไทยภายในวันที่ 25 พ.ค. และเพื่อให้เป็นไปตามคู่มือความปลอดภัยของรัฐบาล โตโยต้ากำหนดระเบียบปฏิบัติไว้ชัดเจน เช่น วัดอุณหภูมิพนักงานในโรงงาน และขอให้ล้างมือบ่อยๆ

บริษัทญี่ปุ่นรายนี้ยังเปลี่ยนแผนการทำงานในโรงงาน เพื่อป้องกันไม่ให้การรักษาระยะห่างทางสังคมสร้างความเสียหายต่อผลิตภาพ เนื่องจากพนักงานมักปฏิบัติงานอย่างใกล้ชิดกันที่โรงอาหารหรือรถบัสรับส่งพนักงานก็ห้ามนั่งติดกัน

ในมาเลเซีย ผู้ผลิตรถยนต์รวมทั้ง “เปอราดัว” บริษัทรถยนต์แห่งชาติเปิดโรงงานเมื่อต้นเดือน พ.ค. รัฐบาลกำหนดให้ผู้ผลิตต้องปฏิบัติ “มาตรฐานกระบวนการปฏิบัติการงาน” (เอสโอพี) เพื่อป้องกันไม่ให้ไวรัสแพร่กระจาย

เอสโอพีกำหนดระเบียบความปลอดภัยอย่างครอบคลุม กำหนดให้โรงงานต้องติดตั้งเครื่องตรวจสุขภาพพนักงานที่ประตูทางเข้า รวมถึงตรวจอาการที่เข้าข่าย เช่น ไข้ ไอ เจ็บคอ หายใจหอบ

พนักงานต้องล้างมือและสวมหน้ากากเมื่อเข้าอาคาร โรงงานและอาคารอื่นๆ ต้องฆ่าเชื้อวันละ 3 ครั้ง

พนักงานต้องอยู่ห่างกัน 1 เมตรขณะทำงานหรือใช้พื้นที่ภายในโรงงาน เช่น โรงอาหารหรือห้องละหมาด 

159293151510

เอสโอพียังบังคับใช้ในบริษัทตัวแทนจำหน่ายรถยนต์และร้านซ่อมรถด้วย “โปรตอน” บริษัทรถยนต์มาเลเซีย ใช้ระบบจองที่กำหนดให้ลูกค้าต้องจองคิวซ่อมหรือเช็กสภาพล่วงหน้า โดยกำหนดยอดสูงสุดที่แต่ละร้านให้บริการได้ใน 1 วัน

ลูกค้าจำเป็นต้องมาถึงศูนย์ก่อนเวลาที่จองไว้ 20 นาทีเพื่อตรวจสุขภาพ หลังจากเสร็จงานซ่อม รถจะได้รับการฆ่าเชื้อก่อนส่งคืนลูกค้า ตัวแทนจำหน่ายฮอนด้ามอเตอร์ ขอให้ลูกค้าสวมถุงมือขณะทดลองขับรถ

อย่างไรก็ตาม ความต้องการซื้อรถยนต์ยังคงซบเซา “เนื่องจากยอดขายซบมาก เราก็เลยไม่มีปัญหาในการผลิตรถให้พอกับออเดอร์” ผู้จัดการฝ่ายการผลิตบริษัทญี่ปุ่นรายหนึ่งในประเทศไทยกล่าว

159293148167

สถานการณ์แบบนี้ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ใหม่โดยรวมใน 6 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งอินโดนีเซีย ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และสิงคโปร์ เดือน เม.ย. ดิ่งฮวบ 82% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 มาอยู่ที่ 51,063 คัน การลดลงฮวบฮาบแบบนี้ถูกกล่าวโทษว่าเป็นผลจากมาตรการล็อกดาวน์และอื่นๆ ที่นำมาบังคับใช้กับภาคธุรกิจและประชาชน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด

“ประชาชนเริ่มระวังการบริโภคจึงชะลอการซื้อรถยนต์ใหม่ออกไป” สุรศักดิ์ สุทองวัน รองประธานบริหารโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทยให้ความเห็น

ในประเทศไทย แม้รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินเมื่อวันที่ 26 มี.ค. แต่ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ยังให้บริการได้ แต่ยอดขายรถยนต์ใหม่ในตลาดประจำเดือน เม.ย. ดำดิ่ง 65% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากหลายๆ ธุรกิจจำเป็นต้องปิดดำเนินการส่งผลให้ประชาชนมีรายได้ลดลง จึงลดการใช้จ่ายตามไปด้วย

159293164663

จองกี สุกิอาโต รองประธานสมาคมอุตสาหกรรมรถยนต์อินโดนีเซีย มองว่า ความต้องการรถยนต์ใหม่ในภูมิภาคจะอ่อนแอไปอีกสักระยะ ผลพวงจากโรคระบาดเล่นงานเศรษฐกิจช้ำหนัก

“แม้ว่ายกเลิกข้อห้ามการทำกิจกรรมของประชาชนไปแล้ว แต่อำนาจซื้อก็ไม่ได้ฟื้นคืนมาอย่างรวดเร็ว” สุกิอาโตให้ความเห็น

สมาคมอุตสาหกรรมรถยนต์ในอินโดนีเซีย ไทย และมาเลเซีย 3 ตลาดรถยนต์ใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประเมินยอดขายในประเทศ ประเมินยอดขายรวม 3 ประเทศในปีนี้ลดลง 40% จากปี 2562 แนวโน้มหม่นหมองเช่นนี้กระตุ้นให้ผู้ผลิตรถยนต์ในภูมิภาคต้องลดพนักงาน

มิตซูบิชิ มอเตอร์ส เริ่มเชื้อเชิญให้พนักงานเข้าโครงการสมัครใจเกษียณเพื่อลดกำลังแรงงานในประเทศไทย ผู้ผลิตรายอื่นในประเทศไทยก็กำลังพิจารณาแพ็คเกจสมัครใจเกษียณและลดพนักงานเช่นกัน นิสสันมอเตอร์ตัดสินใจปิดโรงงานในอินโดนีเซีย หันไปใช้การจ้างผลิตป้อนมิตซูบิชิมอเตอร์ส ที่เป็นบริษัทในเครือ

“ผลกระทบจากมาตรการป้องกันการติดเชื้อรู้สึกได้ชัดเจนจากยอดขาย” ฮาจิเมะ ยามาโมโต ผู้จัดการอาวุโส สถาบันวิจัยโนมูระประเทศไทยกล่าว โดยอ้างถึงพฤติกรรมประชาชนที่เปลี่ยนแปลงไป

“การเปลี่ยนวิธีคิดของผู้บริโภคสร้างแรงกดดันให้กับผู้ผลิตรถยนต์และตัวแทนจำหน่าย ให้ต้องเร่งปรับปรุงบริการดิจิทัล ในเวลาเดียวกันความต้องการซบเซาส่อเค้าสร้างความสั่นสะเทือนรุนแรงให้กับตัวแทนจำหน่าย” ยามาโมโตกล่าวโดยสรุป