หุ้นแบงก์-ไฟแนนซ์ร่วงยกแผง หวั่นแบงก์ชาติสั่งหั่นดอกเบี้ย

หุ้นแบงก์-ไฟแนนซ์ร่วงยกแผง หวั่นแบงก์ชาติสั่งหั่นดอกเบี้ย

หุ้นกลุ่มธนาคารและไฟแนนซ์ปรับตัวร่วงยกแผง เหตุรับแรงกดดันธปท.เล็งออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เฟส 2 จากผลกระทบโควิด-19 หวั่นจี้ผู้ประกอบการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เสี่ยงกดดันกำไรของสองกลุ่มดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเช้านี้พบความเคลื่อนไหวราคาหุ้นกลุ่มธนาคารและไฟแนนซ์ปรับตัวลดลงถ้วนหน้า หลังจากมีแรงกดดันจากกระแสข่าวกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เตรียมออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เฟส 2 จากผลกระทบโควิด-19 ในรูปแบบของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงจากเดิม ซึ่งเสี่ยงกดดันกำไรของสองกลุ่มดังกล่าวให้ปรับตัวลดลง และส่งผลให้มีแรงขายออกมาจำนวนมาก

โดยหุ้นในกลุ่มธนาคารที่ปรับตัวลดลง อาทิ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ลดลง 3.41% มาอยู่ที่ระดับ 78.00 บาท หรือ 2.75 บาท มูลค่าการซื้อขาย 510 ล้านบาท,บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO ลดลง 2.88% มาอยู่ที่ระดับ 76.00 บาท หรือ 2.25 บาท มูลค่าการซื้อขาย109ล้านบาท,ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB ลดลง 2.65% มาอยู่ที่ระดับ 1.10 บาท หรือ 0.03 บาท มูลค่าการซื้อขาย260ล้านบาท ส่วนกลุ่มไฟแนนซ์ อาทิ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC ลดลง 0.81% มาอยู่ที่ระดับ 30.75 บาท หรือ 0.25 บาท มูลค่าการซื้อขาย 415ล้านบาท,บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC ลดลง 0.47% มาอยู่ที่ระดับ 53.50 บาท หรือ 0.25 บาท มูลค่าการซื้อขาย 226 ล้านบาท เป็นต้น

ด้านฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส กล่าวว่าคาดว่าแนวทางช่วยเหลือครั้งนี้จะอยู่ในรูปแบบของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในกลุ่มสินเชื่อบัตรเครดิต ให้ลดเพดานอัตราดอกเบี้ยมาที่ 16% จากเดิม 18%, สินเชื่อบุคคล (P – loan) ลดลง 2% - 4% จากเดิม, สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ในกลุ่มปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ ให้พิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยคงที่ 1% หรือคิดเป็น EIR ลดลง 2% จากเดิม และ สินเชื่อบ้าน อยู่ในแนวทางขยายระยะเวลาชำระหนี้, การพักชำระเงินต้น 3 เดือน และลดดอกเบี้ยตามความเหมาะสม

โดยคาดว่าหากเกิดขึ้นจริงจะกระทบต่อกลุ่มธนาคารพาณิชย์ โดยคาดว่า NIM กลุ่มธนาคาร ที่คาดไว้ 2.79% สาเหตุจากการคำนวณอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Effective interest rate) แต่ละสัญญาเงินกู้ต่ำลง ทั้งจากการขยายระยะเวลาชำระหนี้และปรับลดดอกเบี้ย ซึ่งผลกระทบที่แน่ชัดขึ้นอยู่กับจำนวนลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการเฟส 2 โดยทุก 10 bps ของ NIM ที่ลดลงจะส่งผลต่อกำไรกลุ่มฯ ปี 2563 ประมาณ 5% จากที่คาดไว้ 1.47 แสนล้านบาท โดยกระทบเกิดขึ้นกับ กลุ่มธนาคารที่มีสัดส่วนสินเชื่อรายย่อยสูง เช่น TISCO (สัดส่วนสินเชื่อรายย่อย 79% ของพอร์ตสินเชื่อ และเป็นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ราว 56% ของพอร์ต) ตามด้วย KKP (สัดส่วนสินเชื่อรายย่อย 61% ของพอร์ตสินเชื่อ เป็นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ราว 45% ของพอร์ต), TMB (สินเชื่อรายย่อย 56%), BAY (สัดส่วนสินเชื่อรายย่อย 49% เป็นสินเช่าซื้อรถยนต์ 23%, บัตรเครดิตและอื่นๆ ราว 11%), SCB (สินเชื่อรายย่อยราว 48% หลักๆ เป็นสินเชื่อบ้านราว 31% ของพอร์ตสินเชื่อรวม)

สำหรับกลุ่มเช่าซื้อฝ่ายวิจัยประเมินว่า AEONTS จะได้รับผลกระทบจากการปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิต (39% ของสินเชื่อรวม) ซึ่งปัจจุบันคิดอัตราดอกเบี้ยที่ราว 20% (รวมรายได้ค่าธรรมเนียมและรายได้เกี่ยวข้องกับบัตรเครดิต) โดยหาก AEONTS ปรับลดอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตทุกๆ 1% จะส่งผลกระทบต่อคาดการณ์กำไรสุทธิปี 2563 ราว 3.8% จากปัจจุบัน ทั้งนี้ คาดสินเชื่อบัตรกดเงินสด (50% ของสินเชื่อรวม) จะได้รับผลกระทบจำกัด เพราะคิดอัตราดอกเบี้ยที่ราว 26% ใกล้เคียงคาดการณ์เพดานดอกเบี้ยใหม่อยู่แล้ว

ขณะที่ SAWAD และ MTC ปัจจุบันคิดดอกเบี้ยกับลูกค้าที่ราว 21-22% ต่ำกว่าคาดการณ์เพดานสินเชื่อใหม่ที่ 24% อยู่แล้ว จึงคาดว่าจะได้รับผลกระทบจำกัด ส่วนกลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุก ทั้ง THANI และ ASK ปัจจุบันคิดอัตราดอกเบี้ยกับลูกค้าเฉลี่ยราว 7% ซึ่งถือว่าค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว ฝ่ายวิจัยจึงประเมินว่าเป็นไปได้ยากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะให้ผู้บริการเช่าซื้อรถบรรทุกปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงจากปัจจุบัน ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยได้ทำ sensitivity หาก AEONTS (FV@B125) SAWAD (FV@B54) และ MTC(FV@B53) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้ลูกค้าทุกๆ 1% จะส่งผลกระทบต่อคาดการณ์กำไรสุทธิปี 2563 ราว 3-9% ดังสรุปในตารางด้านล่าง ทั้งนี้ ราคาหุ้นกลุ่มเช่าซื้อส่วนใหญ่ได้ปรับเพิ่มขึ้นจนเต็มมูลค่าพื้นฐานแล้ว อีกทั้งยังได้รับ sentiment เชิงลบจากมาตรการควบคุมอัตราดอกเบี้ยจากธนาคารแห่งประเทศไทย จึงแนะนำให้หลักเลี่ยงการลงทุนไปก่อน