ตลท.เล็งขยายเกณฑ์ ‘ชอร์ตเซล’ ‘ภากร’ ชี้ภาพตลาดยังไม่ปกติ

ตลท.เล็งขยายเกณฑ์ ‘ชอร์ตเซล’ ‘ภากร’ ชี้ภาพตลาดยังไม่ปกติ

ตลาดหลักทรัพย์ เตรียมขยายเกณฑ์ “ชอร์ตเซล” พร้อมคง “ซิลลิ่ง-ฟลอร์” ที่ 15% ต่ออีก 3 เดือน หลังประเมินภาพการลงทุนยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ “ภากร” แนะจับตาผลดำเนินงาน บจ. หลังราคาหุ้นพุ่งแรง เหตุนักลงทุนคาดกำไรปีหน้าฟื้นเร็ว ส่วนหุ้นไทยวานนี้แกว่งแรง

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) เปิดเผยว่า แม้การฟื้นตัวของดัชนีหุเนไทยหลังจากลดลงไปมากในช่วงก่อนหน้านี้ จะทำได้ค่อนข้างรวดเร็ว แต่ภาพรวมของตลาดยังมีความไม่แน่นอนสูง ด้วยเหตุนี้ ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำลังพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการยืดระยะเวลาการบังคับใช้เกณฑ์ราคาเสนอขายชอร์ต (Short Sell) ซึ่งกำหนดให้ขายชอร์ตได้ในราคาสูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย (Uptick) และปรับปรุงหลักเกณฑ์ราคาเสนอซื้อขายสูงสุดและต่ำสุด (Ceiling & Floor) ซึ่งจะครบกำหนด 30 มิ.ย. นี้

“การพิจารณาเกี่ยวกับเกณฑ์ uptick อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แม้ว่าช่วงที่ผ่านมาความผันผวนของตลาดลดลงมามาก แต่ก็ยังคงไม่ปกติ ดังเช่นเมื่อคืนนี้ (11 มิ.ย.) ตลาดหุ้นสหรัฐปรับลดลง 6-7% แม้จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องทางการเงิน ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่เราจะนำมาพิจารณาว่าจะต่ออายุกฎที่เราได้ออกไป ส่วนการตัดสินใจว่าจะต่อหรือไม่ต่อ เบื้องต้นได้ขออนุญาตจากก.ล.ต. แล้ว หากมีความจำเป็นสามารถทำได้ ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ที่จะยืดอายุออกไป”

สำหรับการขยายเกณฑ์ดังกล่าว อาจจะขยายไปอีก 3 เดือน แต่ถ้าเห็นว่าตลาดกลับมามีเสถียรภาพแล้ว ก็สามารถเลิกได้ก่อนกำหนด โดยการตัดสินใจในเรื่องนี้จะดำเนินการล่วงหน้าก่อนวันที่ 30 มิ.ย. นี้

นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องของดัชนีหุ้นไทย ทำให้ค่า P/E ของตลาดเพิ่มขึ้นด้วยต่อเนื่อง จนสูงกว่าค่าเฉลี่ยในภูมิภาค ในขณะที่การประเมินกำไรในปีหน้ายังไม่ถูกปรับขึ้น เพราะทุกคนรอดูว่าบริษัทจะทำกำไรกลับมาได้เร็วเพียงใด ส่งผลให้การประเมินค่า P/E ล่วงหน้าสูงขึ้นต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นนักลงทุนต้องติดตามข้อมูลแต่ละบริษัทและแต่ละอุตสาหกรรม ว่าจะมีการปรับคาดการณ์กำไรอย่างไรบ้าง ซึ่งจะส่งผลต่อทิศทางการลงทุนของตลาดและการให้มูลค่าของนักลงทุนในอนาคต

ด้านนายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ดัชนีหุ้นไทย ณ สิ้นเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ปิดที่ 1,342.85 จุด เพิ่มขึ้น 3.2% จากสิ้นเดือนก่อน โดย กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค และกลุ่มบริการ เป็นกลุ่มที่ปรับตัวขึ้นได้โดดเด่นที่สุด

โดยในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา มีผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 31,580 ล้านบาท ขณะที่มีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันรวมของ SET และ mai อยู่ที่ 65,031 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% จากค่าเฉลี่ยทั้งปี 2562

สำหรับค่า P/E ล่วงหน้า และค่า P/E อิงจากกำไรในอดีต ณ สิ้นเดือน พ.ค. 2563 อยู่ที่ 19.8 เท่า และ 18.5 เท่าตามลำดับ สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 14.5 เท่า และ 15.2 เท่า ตามลำดับ ส่วนอัตราเงินปันผลตอบแทนอยู่ที่ระดับ 3.68% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 3.32%

สำหรับมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมของ SET และ mai ณ สิ้นเดือน พ.ค. 2563 อยู่ที่ 14.6 ล้านล้านบาท ลดลง 13.6% จากสิ้นปีก่อน และใน 5 เดือนแรกของปี 2563 มูลค่าการระดมทุนเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) อยู่ที่ระดับ 56,127 ล้านบาท ในขณะที่การเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน (SPO) มีมูลค่ารวม 15,125 ล้านบาท และภาวะตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในเดือน พ.ค. 2563 มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 318,201 สัญญา ซึ่งลดลง 12.9% จากเดือนก่อน

ทั้งนี้ การฟื้นตัวของตลาดหลักทรัพย์ไทย เป็นไปตามทิศทางเดียวกับตลาดส่วนใหญ่ในเอเชีย ด้าน COVID-19 ในประเทศดีขึ้นรวมถึงการผ่อนคลายกิจกรรมและกิจการต่างๆ ในระยะที่ 2-3 ตลอดจนการปรับเพิ่มจำนวนหุ้นไทยในดัชนี MSCI โดยผู้ลงทุนควรติดตามที่สำคัญได้แก่ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐอเมริกา และจีนซึ่งอาจขยายขอบเขตไปเป็นสงครามการค้ารอบที่ 2 ท่ามกลางความพยายามในการฟื้นเศรษฐกิจโลกภายหลัง โควิด-19