เยาวชนไทย กังวลเรื่องสถานะการเงินของครอบครัวในช่วงโควิด-19

เยาวชนไทย กังวลเรื่องสถานะการเงินของครอบครัวในช่วงโควิด-19

กรมสุขภาพจิต เผย เยาวชนไทยส่วนใหญ่ กังวลเรื่องสถานะการเงินของครอบครัว ในช่วงโควิด-19 และมีความเสี่ยงต่อการถูกทำร้ายร่างกายจากความเครียดในครอบครัว มีโอกาสถูกล่อลวงในโลกออนไลน์ แนะวัคซีนใจในครอบครัว ปกป้องเยาวชน ลดเครียด

วันนี้ (30 พฤษภาคม 2563) ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข แพทย์หญิงมธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล ระบุว่า ช่วงสถานการณ์โรคโควิด-19 แพร่ระบาด ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคนในประเทศไทยและทั่วโลก ไม่เพียงแต่ผู้ใหญ่เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาด เด็กๆ ต้องเก็บตัวอยู่กับบ้าน เกี่ยวเนื่องกับทั้งพัฒนาการเด้ก สุขภาพจิต การเรียนออนไลน์ ถูกทำร้าย คุกคามทางเพศ และติดเกม ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียน สร้างความกังวลในหลายมิติ ซึ่งจากการสำรวจเด็กและครอบครัวจำนวน 6,000 ครอบครัวในประเทศสหรัฐอเมริกาและบางประเทศในทวีปยุโรป พบว่า มีเด็กถึงร้อยละ 76 รู้สึกวิตกกังวล โดยสาเหตุความวิตกกังวลเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเรียน และกลัวคนรอบข้างและตนเองจะติดเชื้อ

อีกทั้งจากมาตรการการควบคุมการแพร่กระจายของโรคระบาดโควิด-19 ทำให้กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายในการปิดโรงเรียนของรัฐและเอกชนทั่วประเทศรวมถึงโรงเรียนกวดวิชาทุกแห่ง ส่งผลให้เด็กและเยาวชนทั้งประเทศต้องอยู่บ้านและส่วนหนึ่งต้องใช้การศึกษาออนไลน์มาเป็นวิธีในการที่จะทำให้ระบบการเรียนการสอนยังคงดำเนินต่อไป เมื่อโรงเรียนปิด เด็กและเยาวชนจึงมีโอกาสในการเรียนรู้ลดลง และขาดพัฒนาการทางสังคมตามช่วงวัย ผลกระทบนี้ส่งผลอย่างมากต่อกลุ่มเด็กกลุ่มเปราะบาง และกลุ่มเด็กด้อยโอกาสมากกว่าเด็กและเยาวชนทั่วไป

  • เด็กไทย กังวลเรื่องการเงินครอบครัว

จากการสำรวจโดย องค์การยูนิเซฟ ร่วมกับ สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ในโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ และกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ เก็บข้อมูลผ่านแบบสอบถามออนไลน์วันที่ 27 มีนาคม ถึง 6 เมษายน จากเด็กและเยาวชนอายุ 6 ปี ถึง 25 ปีขึ้นไป จำนวน 6,771 คนทั่วประเทศ พบว่า ผลกระทบเกิดกับเด็กทุกกลุ่ม แต่น่าจะมีความรุนแรงเป็นพิเศษต่อนักเรียนในกลุ่มยากจน ครอบครัวเปราะบาง มีปัญหาความรุนแรง ยาเสพติด นักเรียนกลุ่มการศึกษาพิเศษ นักเรียนผู้พิการ ผู้มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ในด้านต่างๆ ที่ต้องการการดูแลจากครูอย่างใกล้ชิด สาเหตุความวิตกกังวลในเด็กและเยาวชนไทยส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากเรื่องสถานะการเงินของครอบครัว โอกาสในการเรียน และกังวลเรื่องการติดเชื้อไวรัส

อีกทั้งความเสี่ยงต่อการถูกทารุณกรรม ทำร้ายร่างกาย เนื่องจากครอบครัวได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ทำให้ผู้ปกครองมีความเครียดสูงขึ้น ร่วมกับการอยู่บ้านด้วยกันเป็นระยะเวลานาน ทำให้โอกาสที่ผู้ปกครองหรือผู้ใหญ่ในบ้านจะใช้อารมณ์ในการลงโทษเด็กอย่างรุนแรงเพิ่มสูงขึ้นได้ อีกประการหนึ่ง เด็กๆ จะเข้าสู่สังคมออนไลน์มากขึ้น มีความเสี่ยงในการถูกชักจูง ล่อลวงจากผู้ไม่หวังดีที่แฝงมาในสังคมออนไลน์ได้เพิ่มมากขึ้น

159082146270

  • เตรียมพร้อมก่อนเปิดเทอม 1 เดือน

นอกจากนี้ เด็กๆ ที่จำเป็นต้องเรียนออนไลน์ในขณะนี้ พ่อแม่ต้องเป็นตัวช่วยสำคัญในการเรียนรู้โดยเฉพาะเด็กเล็ก หลายคนอาจจะต้องรวมกลุ่มกัน เพราะข้อจำกัดในเรื่องทรัพยากร และต้องดูแลเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าห่วงคือ เด็กที่อยู่หน้าจอมาก ไม่เคลื่อนไหว อาจทำให้เกิดภาวะอ้วน ต้องกระตุ้นเตือนให้เด็กลุกจากหน้าจอ เสริมอาหารด้านอื่นเพื่อไม่ให้มีปัญหาโรคอ้วน

สำหรับคำแนะนำ 1 เดือนพร้อมเปิดเรียนสำหรับเด็ก ได้แก่ 1. การกลับสู่กิจวัตร กิจกรรมจัดตารางวเลาเหมือนไปโรงเรียน ทั้งการกิน การนอน การเรียนรู้ 2. เตรียมพร้อมการรักษาสุขภาพอนามัยตนเอง ขณะไปโรงเรียน ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือบ่อยๆ และเว้นระยะห่าง และสุดท้าย 3. ผู้ปกครองใช้เวลาพูดคุย สื่อสารทำความเข้าใจลูก กระตุ้นบอกเด็กเล็กเสมอเมื่อใกล้ถึงเวลาเปิดเทอม” แพทย์หญิงมธุรดา กล่าว

  • หมั่นสังเกตพฤติกรรมติดเกม

ขณะเดียวกัน มีงานวิจัยของประเทศญี่ปุ่น ศึกษาในช่วงวิกฤตโควิด-19 พบว่า เด็กใช้เวลากับมือถือเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะม.ปลายและม.ต้น โดยช่องทางการใช้งานส่วนใหญ่ ได้แก่ ดูยูทูป และเล่นเกม เพราะฉะนั้น พ่อแม่สามารถใช้โอกาสนี้ แนะนำได้ว่าควรจะดูอะไรในยูทูป ขณะที่ เรื่องการเล่นเกม แนะนำว่า ควรกำหนดเวลาเล่นไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน ตกลงโปรแกรมเลือกประเภทโปรแกรม และ เล่นเกมพร้อมลูก แต่สิ่งที่ไม่ควรทำ คือ เป็นตัวอย่างที่ผิด เช่น เล่นมากเกินไป เกมรุนแรง เล่นผิดเวลา ในเวลาครอบครัว และเล่นผิดที่ เช่น ห้องนอน การปรับตัวในช่วงนี้ ที่กำลังเข้าสู่ชีวิตวิถีใหม่ ให้เวลาค่อยๆ ปรับ ค่อยๆ ลด

ทั้งนี้ หลายบ้านมีความกังวลว่าลูกจะติดเกม “แพทย์หญิงมธุรดา” ระบุว่า ทุกบ้านเจอปัญหาเหมือนกัน แต่อยากให้เข้าใจว่าเด็กที่เล่นเกม ไม่ได้ติดเกมทุกคน การติดเกมมีหลายระดับ เริ่มตั้งแต่เล่นเพื่อคลายเครียดเฉยๆ พ่อแม่ก็คลายกังวลได้ แต่มีการสังเกตคือ หากเด็กไม่สนใจอะไรเลย ละเลยกิจวัตรประจำวัน พ่อแม่บอกให้ไปอาบน้ำ กินข้าว แล้วเด็กหงุดหงิด แสดงว่าเริ่มมีอาการของการติดเกม วิธีการคือ พูดคุย ตกลงเวลา ถ้าเกินเวลาต้องมีการเตือนกัน เลือกประเภทของเกมให้เหมาะสม อย่ามองว่าเกมเป็นสิ่งที่ร้าย เราสามารถพูดคุยได้ และหากเด็กทำตามเงื่อนไข พ่อแม่ก็อาจจะให้รางวัลด้วย

  • แนะใช้วัคซีนใจ สร้างภูมิคุ้มกัน

แพทย์หญิงมธุรดา กล่าวต่ออีกว่า การดูแลสุขภาพจิตเด็กและเยาวชนทำได้โดยใช้แนวทาง “วัคซีนใจในครอบครัว” เมื่อวัคซีนครอบครัวพร้อมก็จะเปรียบเสมือนร่างกายที่มีภูมิคุ้มกัน ถึงแม้จะเจอวิกฤติ ซึ่งเปรียบเสมือนเชื้อโรค อาการจะไม่รุนแรงและกลับมาทำหน้าที่ได้อย่างเดิม ผลกระทบกับลูกหรือเด็กๆก็จะมีน้อยหรือไม่มีเลย วัคซีนใจในครอบครัว เริ่มต้นที่ ครอบครัวต้องมีพลังบวก ครอบครัวที่มองบวกจะมองเห็นทางออกในทุกปัญหา แม้ในภาวะวิกฤต เมื่อเห็นทางออกแล้วครอบครัว ต้องอาศัย พลังยืดหยุ่นเพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนบทบาท ทำหน้าที่ทดแทนกัน ช่วยกันแบ่งเบาภาระที่เกิดขึ้นและนำไปสู่การปรับตัวภายใต้ชีวิตวิถีใหม่และพลังร่วมมือ ทำให้ครอบครัวปรองดองเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆไปได้ในที่สุด

นอกจากนี้ ในช่วงวิกฤตของโรคระบาด กรมสุขภาพจิต ร่วมกับ สสส. ผลิตรายการ “บ้าน-พลัง-ใจ” ทางช่อง Thai PBS ทุกวันเสาร์ เวลา 21:10 – 22.00 ซึ่งจะเป็นรายการที่ช่วยสร้างพลังบวกจากครอบครัวตัวอย่างและเสริมความรู้ด้านสุขภาพจิตจากจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพจิตกับแนวชีวิตวิถีใหม่ได้ที่ facebook บ้าน-พลัง-ใจ หากมีคำถามหรือต้องการปรึกษา สามารถส่งคำถามพูดคุยผ่านข้อความเพจ ซึ่งตอบคำถามโดยทีมสุขภาพจิตที่จะอยู่เป็นพื้นที่ความสุขกับครอบครัวตลอดทั้งวัน หรือโทร 1323