ผู้เชี่ยวชาญยัน ค้างคาวอินเดีย 'ตายหมู่' ผิดธรรมชาติ ไม่เกี่ยว 'โควิด'

ผู้เชี่ยวชาญยัน ค้างคาวอินเดีย 'ตายหมู่' ผิดธรรมชาติ ไม่เกี่ยว 'โควิด'

สถาบันวิจัยทางสัตวแพทย์อินเดีย เผย เหตุการณ์ค้างคาวตายหมู่ปริศนา ไม่เกี่ยวกับโรคโควิด-19 แต่เป็นเพราะโรคลมแดด เนื่องจากอินเดียกำลังเผชิญคลื่นความร้อน

สำนักข่าวซินหัวรายงานเมื่อวันศุกร์ (29 พ.ค.) ว่า สถาบันวิจัยทางสัตวแพทย์อินเดีย (IVRI) เผยว่าเหตุค้างคาวตายกะทันหันเป็นจำนวนมากในรัฐอุตตรประเทศ ทางตอนเหนือของอินเดีย มีแนวโน้มที่จะมีสาเหตุจากโรคลมแดด

การตรวจสอบตัวอย่างซากค้างคาวและตัวอย่างของเหลวจากซากค้างคาวได้ลบล้างข้อสันนิษฐานที่ว่าเชื้อไวรัสโคโรนาอาจเป็นสาเหตุเบื้องหลังการตายเฉียบพลันของค้างคาว

“การตรวจสอบเบื้องต้นเผยว่าสาเหตุที่ฝูงค้างคาวตายเป็นจำนวนมากเกิดจากเลือดคั่งในสมองเพราะความร้อนสูงเกินไป” อาร์ เค ซิงห์ ผู้อำนวยการสถาบันฯ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวทางโทรศัพท์ “ตัวอย่างที่นำมาตรวจมีผลตรวจโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) เป็นลบ และเรากำลังทำการตรวจสอบต่อไป”

เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดเหตุค้างคาวหลายสิบตัวตายที่ย่านเพลฆาฏ (Belghat) เมืองโคราฆปุระ (Gorakhpur) รัฐอุตตรประเทศ ทำให้ชาวบ้านเกิดความหวาดวิตก

ซิงห์ระบุว่า ไม่พบร่องรอยของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือเชื้อพิษสุนัขบ้าในค้างคาวที่ตาย

“เป็นที่ยอมรับกันในระดับสากลว่าค้างคาวมีระดับภูมิคุ้มกันสูง และเชื้อก่อโรคชนิดใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นไวรัสหรือแบคทีเรีย ล้วนไม่กระทบต่อค้างคาว แม้ว่ามันอาจจะเป็นพาหะของไวรัส” ซิงห์กล่าว “จากตัวอย่างที่ตรวจ เราไม่พบไวรัสหรือแบคทีเรียที่อาจเป็นสาเหตุการตายของพวกมัน”

ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐอุตตรประเทศต้องเผชิญกับคลื่นความร้อน โดยอุณหภูมิในเมืองโคราฆปุระเพิ่มขึ้นสูงกว่า 44 องศาเซลเซียส ขณะเดียวกัน รัฐพิหารที่อยู่ข้างเคียงก็พบค้างคาวตายมากกว่า 200 ตัวเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ การตายอย่างผิดปกติของค้างคาวเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่อินเดียกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19