ครม.โยนเผือกร้อน 'CPTPP' ให้สภาพิจารณา

ครม.โยนเผือกร้อน 'CPTPP' ให้สภาพิจารณา

ครม.โยนเผือกร้อนให้สภาฯ ส่ง “พุฒิพงษ์”หารือสภาฯตั้งคณะกรรมการวิสามัญ ถกผลดี ผลเสีย ไทยเข้าร่วมเจรจาซีพีทีพีพี ก่อนส่งกลับ ครม.อีกครั้ง ขณะที่“จุรินทร์”เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ระบุลดความขัดแย้ง

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2563  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้หยิบยกกรอบความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP ) ขึ้นมาหารือ และเห็นร่วมกันว่าควรจะเสนอเรื่องนี้ให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา 

โดยให้ ตั้งคณะกรรมการวิสามัญเพื่อการศึกษาผลบวกและลบ ที่ไทยจะเข้าร่วมกรอบความร่วมมือนี้  ซึ่งนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  ก็เห็นด้วยกับกลไกดังกล่าว  

ทั้งนี้ ที่ประชุม ครม.มอบหมายให้ นายพุฒิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) ประสานสภาเพื่อจัดตั้งคณะกรรรมการวิสามัญฯขึ้นมา แล้วหาข้อสรุปร่วมกัน

ซึ่งหากเห็นว่า ไทยควรเข้าร่วมการเจรจา ก็จะยังเป็นขั้นของการเข้าเจรจาเท่านั้น ยังไม่ได้มีการลงนามเข้าร่วมความตกลงแต่อย่างใด โดยการศึกษาและพิจารณาของคณะกรรมการวิสามัญจะใช้เวลา 30 วัน ผลออกมาอย่างไรก็จะเสนอกลับมายัง ครม.อีกครั้ง เพราะอำนาจในการอนุมัติให้ประเทศไทยเปิดการเจรจาเป็นอำนาจของ ครม.

“การจะเสนอเรื่องนี้เข้าสู่กลไกของสภาฯ ก็เพื่อให้ประชาชนคลายกังวล ไม่ใช่ว่ารัฐบาลจะไม่รับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย และดีใจที่จะได้ขับเคลื่อนเรื่องนี้โดยได้ดูประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ ซึ่งกรอบเวลา 30 วันนี้เป็นการขีดเส้นชัดเจนว่ารัฐบาลจะไม่มีการพิจารณาเรื่องนี้จนกว่ากรรมาธิการวิสามัญจะพิจารณาเรื่องนี้เสร็จ”

รายงานข่าวแจ้งว่า ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) เป็นประธาน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่ให้กระทรวงพาณิชย์เสนอผลการศึกษาและระดมความเห็นภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเรื่องการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ของไทย ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งขณะนี้ผลการศึกษาและการระดมความเห็นภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแล้วเสร็จ จึงได้ดำเนินการตามมติ กนศ.

 

ทั้งนี้ ผลการศึกษาตามแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์สรุปว่า การเข้าร่วมCPTPP จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว โดย GDP จะขยายตัวร้อยละ 0.12 (คิดเป็นมูลค่า 13.32 พันล้านบาท) การลงทุนขยายตัวร้อยละ 5.14 (คิดเป็นมูลค่า 148.24 พันล้านบาท) แต่หากไม่เข้าร่วม CPTPP จะส่งผลกระทบGDP ไทยลดลงร้อยละ 0.25 (คิดเป็นมูลค่า 26.6 พันล้านบาท) และกระทบการลงทุนร้อยละ 0.49 (คิดเป็นมูลค่า 14,270 ล้านบาท) รวมทั้งจะทำให้ไทยเสียโอกาสขยายการค้าการลงทุนและการเชื่อมโยงห่วงโซ่หรือกระบวนการผลิตในภูมิภาค โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านอาเซียน เช่น เวียดนาม และสิงคโปร์ ซึ่งเป็นสมาชิก CPTPP แล้ว โดยพบว่าตั้งแต่ที่ความตกลง CPTPP หาข้อสรุปได้ในปี 2558 จนถึงปี 2562 การส่งออกของเวียดนามไปประเทศสมาชิกCPTPP เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 7.85 และของสิงคโปร์เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 9.92 ขณะที่การส่งออกของไทยไปCPTPP เพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียงร้อยละ 3.23 ส่วนเงินลงทุนโดยตรงไหลเข้า (FDI Inflow) ของเวียดนาม และสิงคโปร์ ในปี 2562 มีมูลค่า 16,940 และ 63,939 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ ขณะที่ของไทยมีมูลค่าเพียง 9,010 ล้านเหรียญสหรัฐ