'เฉลิมชัย' โยน 'คลัง' มีอำนาจตัดสิทธิเยียวยาเกษตรกร

'เฉลิมชัย' โยน 'คลัง' มีอำนาจตัดสิทธิเยียวยาเกษตรกร

“เฉลิมชัย” แจงชัด กรณีเยียวยาข้าราชการ เป็นอำนาจที่คณะกรรมการกลั่นกรองฯ และครม. กระทรวงเกษตรฯ เดินตามมติอย่างเคร่งครัด คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ เบรกกระทรวงเกษตรฯสั่งเยียวยา ข้าราชการ 9.1หมื่นคน ชี้ได้รับเงินเดือนประจำ

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงกรณีประเด็นการเยียวยาข้าราชการที่อยู่ในทะเบียนเกษตรกรว่า เรื่องดังกล่าว ขอให้ทำความเข้าใจก่อนว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับผิดชอบการลงทะเบียนและรวบรวมรายชื่อเกษตรกรที่ลงทะเบียนเป็นผู้ได้รับสิทธิ์ตามโครงการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งให้กับกระทรวงการคลัง 

เพื่อดำเนินการคัดกรองและตรวจสอบความซ้ำซ้อนกับผู้ได้รับสิทธิ์ตามโครงการเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชน และตรวจสอบกับผู้ที่ได้รับสวัสดิการผ่านระบบข้าราชการบำนาญ และระบบประกันสังคม ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 28 เมษายน ก่อนส่งกลับมาที่กระทรวงเกษตรฯ เพื่อส่งมอบข้อมูลรายชื่อต่อให้กับทาง ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงิน

“ขอชี้แจงว่า หน่วยงานที่กำหนดเกณฑ์และทำหน้าคัดกรองไม่ให้สิทธิ์ซ้ำซ้อน คือ กระทรวงการคลัง และคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ ดังนั้นการจะจ่ายเงินเยียวยาให้ข้าราชการที่อยู่ในทะเบียนเกษตรกรหรือไม่นั้น การตัดสินใจเป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ และต้องเป็นมติของคณะรัฐมนตรี หากทางคณะกรรมการกลั่นกรองฯ เห็นสมควรให้ได้รับสิทธิ์เยียวยา และเสนอให้ ครม. ให้มีมติออกมา กระทรวงเกษตรฯ พร้อมดำเนินการทันที เพราะมีฐานข้อมูลรายชื่อทั้งหมดแล้ว สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว และไม่มีตกหล่น” นายเฉลิมชัย กล่าว

สำหรับกรณีที่ นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) แถลงข่าวว่า การตัดสินใจจ่ายเยียวยาให้ข้าราชการ เป็นอำนาจของกระทรวงเกษตรฯ นั้น เรื่องนี้ สศค.คงมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะข้อเท็จจริง กระทรวงเกษตรฯ เป็นผู้รวบรวมและส่งรายชื่อเกษตรกรให้กระทรวงการคลัง และคณะกรรมการกลั่นกรองฯ เพื่อพิจารณากลั่นกรองและตรวจความซ้ำซ้อน 

ดังนั้นการตัดสินใจว่า จะมีการจ่ายให้ข้าราชการและอื่นๆ หรือไม่นั้น ในทางปฏิบัติแล้วเป็นเรื่องของคณะกรรมการกลั่นกรองฯ และที่สำคัญต้องมีการวางแนวปฏิบัติที่ชัดเจนออกมา กระทรวงเกษตรฯรอเพียงการพิจารณาและการตัดสินใจของคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ว่าจะให้ดำเนินการอย่างไร

“ กระทรวงเกษตรฯ พร้อมดำเนินการทันทีเมื่อมีแนวทางที่ชัดเจน เพราะกระทรวงเกษตรฯ ให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสิทธิ์ของเกษตรกรทุกคนที่ขึ้นทะเบียน เพื่อรับการเยียวยาอย่างทั่วถึง รวดเร็ว ให้ทันตามกำหนดเวลา และที่สำคัญต้องไม่มีรายชื่อตกหล่น” นายเฉลิมชัยกล่าว

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากความก่ำกึ่งของรายชื่อข้าราชการ 9.1 หมื่นคนในทะเบียนเกษตรกรสมควรจะได้รับเงินเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด 19 หรือไม่ กระทรวงเกษตรฯได้หารือกับคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ แล้วเห็นว่า ข้าราชการกลุ่มนี้ไม่สมควรไดรับ เพราะมีเงินเดือนประจำอยู่แล้ว หลังจากนี้จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) รับทราบต่อไป

ในขณะที่ทะเบียนเกษตรกรมีรายชื่อของผู้เสียชีวิตอยู่ในบัญชีผู้รับเงินเยียวยา 1.01 แสนคนนั้น กระทรวงเกษตรฯขอดูข้อมูลให้ชัดเจนก่อนเสนอให้คณะกรรมการกลั่นกรองฯพิจารณาอีกครั้ง ว่าควรจะตัดรายชื่อออก หรือ โอนให้ทายาทรับแทน ซึ่งโดยส่วนตัวเห็นว่า ไม่ควรจ่ายแล้ว แต่เนื่องจากเงิน เยียวทั้งหมดนี้เป็นเงินกู้ของรัฐบาล ดังนั้นการดำเนินการใดๆ จึงต้องขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการกลั่นกรองฯก่อน

ก่อนหน้านี้นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า การจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) โดย เดือนละ5,000บาท จ่าย3เดือน รวม15,000บาท ในส่วน ข้าราชการจำนวนประมาณ 9.1 หมื่นคน ที่ประกอบอาชีพเสริม ทำการเกษตร สามารถได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาลด้วย ดังนั้น สำหรับข้าราชการบำนาญ หากถูกตัดสิทธิ์ แนะนำให้ดำเนินการอุทธรณ์ เพื่อรักษาสิทธิ์ ของตัวเอง

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 19 พ.ค. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่ได้นำข้อมูลทะเบียนเกษตรกร ในกลุ่มข้าราชการเข้าเสนอในที่ประชุม เพื่อพิจารณา ให้เป็นกลุ่มยกเว้นไม่ได้รับเงินเยียวยาแต่อย่างใด

ส่วนการจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกร ดำเนินการไปแล้ว ในรอบแรก 1 3.33 ล้านราย และจะทะยอยจ่ายให้เสร็จภายในเดือนนี้ 3.3 ล้านราย ที่เหลือ อีก 2 .4 ล้านรายรอการตรวจสอบความซ้ำซ้อน