ย้ำอีกที! อุทธรณ์ 'เงินเยียวยาเกษตรกร' ทำออนไลน์ไม่ได้!

ย้ำอีกที! อุทธรณ์ 'เงินเยียวยาเกษตรกร' ทำออนไลน์ไม่ได้!

"เกษตรกร" ที่ไม่สามารถลงทะเบียนได้ หรือขึ้นทะเบียนเกษตรกรแล้ว แต่ยังไม่ได้รับ "เงินเยียวยา" ต้องรีบไป "อุทธรณ์" ภายใน 5 มิ.ย.นี้ ย้ำอีกทีว่าการอุทธรณ์ "เงินเยียวยาเกษตรกร" ทำออนไลน์ไม่ได้! ต้องไปยื่นเองที่หน่วยงานราชการ

อีกหนึ่งกลุ่มปัญหาที่พบมากเกี่ยวกับโครงการ “เยียวยาเกษตรกร” ก็คือ ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเกษตรกร, ไม่มีบัญชีธนาคาร ธ.ก.ส. , ขึ้นทะเบียนเกษตรแล้วแต่ยังไม่ได้รับเงินเยียวยา เป็นต้น ซึ่งหากเกษตรกรคนไหนยังมีข้อติดขัดต่างๆ เหล่านี้ เจ้าหน้าที่แนะนำว่าให้สามารถไปขอ “อุทธรณ์” เงินเยียวยาเกษตรกร ได้ตั้งแต่วันนี้ - 5 มิ.ย. 2563 และการยื่นอุทธรณ์นี้ ทำผ่านระบบออนไลน์ไม่ได้! แต่ต้องโทรศัพท์หรือเดินทางไปยื่นอุทธรณ์ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในส่วนภูมิภาคเท่านั้น

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ได้รวบรวมวิธีการขออุทธรณ์ “เงินเยียวยาเกษตรกร” มาให้รู้กันอีกครั้ง รวมถึงหาคำตอบเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ที่พบบ่อยมาฝากกันด้วย

1. ไปยื่นอุทธรณ์ “เงินเยียวยาเกษตรกร” ได้ที่ไหนบ้าง?

สำหรับเกษตรกรที่ไม่สามารถลงทะเบียนได้ หรือ ที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรแล้ว แต่ยังไม่ได้รับเงินเยียวยาจากสาเหตุต่าง ๆ กระทรวงเกษตรฯ ได้เปิดให้ “อุทธรณ์เงินเยียวยาเกษตรกร” โดยสามารถไปขออุทธรณ์ ได้ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในส่วนภูมิภาคต่างๆ  ดังนี้

สำนักงานเกษตรอำเภอและจังหวัด

สำนักงานประมงอำเภอและจังหวัด

สำนักงานปศุสัตว์อำเภอและจังหวัด

สำนักงานหม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เขตหรือศูนย์เครือข่ายใกล้บ้าน 

เขตบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย 1-8 และศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายภาคที่ 1-4

สำนักงานสรรพสามิตจังหวัด 

การยางแห่งประเทศไทย (จังหวัด/สาขา)

สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด

โดยเปิดให้เกษตรกรยื่นอุทธรณ์ ตั้งแต่วันที่ 19 พ.ค.2563 ถึง 5 มิ.ย.2563 ในเวลาราชการ โดยไม่เว้นวันหยุดราชการ ซึ่งเกษตรกรในกลุ่มที่ 3 ซึ่งยังไม่ได้ทำการเพาะปลูกนั้น การยื่นเรื่องอุทธรณ์ ก็จะทำได้หลังจากที่มีการตรวจสอบความถูกต้องแล้ว เบื้องต้น สามารถตรวจสอบสถานะอุทธรณ์เงินเยียวยาเกษตรกร ได้ผ่านเว็บไซต์ www.อุทธรณ์เงินเยียวยาเกษตรกร.com

159013612286

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

2. ขั้นตอนการ “อุทธรณ์เงินเยียวยาเกษตรกร” ทำยังไง?

สำหรับ ขั้นตอนการยื่นเรื่องอุทธรณ์เงินเยียวยาเกษตรกร ประกอบด้วยรายละเอียดดังนี้

1. เกษตรกรเข้ามาร้องเรียนทั้งด้วยตนเอง หรือโทรศัพท์ 

2. เจ้าหน้าที่รับเรื่อง (บันทึกข้อมูลบนระบบ)

3. ระบุหน่วยงานเข้าของเรื่องและรายละเอียด (ทั้งหมด 8 หน่วยงาน) ได้แก่
- สำนักงานเกษตรอำเภอและจังหวัด
- สำนักงานประมงอำเภอและจังหวัด
- สำนักงานปศุสัตว์อำเภอและจังหวัด
- สำนักงานหม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เขตหรือศูนย์เครือข่ายใกล้บ้าน
- เขตบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย 1-8 และศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายภาคที่ 1-4
- สำนักงานสรรพสามิตจังหวัด
- การยางแห่งประเทศไทย (จังหวัด/สาขา)
- สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด

4. ระบบทำการจำแนกข้อมูล ส่งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ

5. หน่วยงานรับผิดชอบ วิเคราะห์ข้อมูล ตรวจสอบว่า สามารถชี้แจงได้หรือไม่

หากชี้แจงได้ > ตอบคำถามและชี้แจงผ่านระบบ และเจ้าหน้าที่จะทำการตอบปัญหา หรือชี้แจงแก่เกษตรกร

หากชี้แจงไม่ได้ > หน่วยงานที่รับผิดชอบ จะทำการส่งข้อมูลให้คณะกรรมการฯ ผ่านระบบ

>> ขั้นตอนที่ 1 - 5 ใช้เวลาทั้งสิ้น 3 วันนับจากยื่นเรื่องอุทธรณ์

6. คณะกรรมการฯ รับเรื่อง และดำเนินการพิจารณา

>> ขั้นตอนที่ 6 ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้าย ใช้เวลาทั้งสิ้น 12 วัน

รวมเวลาสูงสุด คือไม่เกิน 15 วันหลังยื่นเรื่องอุทธรณ์สิทธิ์รับเงินเยียวยาเกษตรกร ก็จะรู้ผลว่า จะได้รับเงินหรือไม่

159013611816

3. “เงินเยียวยาเกษตร” ต้องคัดกรองความซ้ำซ้อน!

จากที่มีกระแสข่าวก่อนหน้านี้ว่า ข้าราชการบำนาญที่ขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกรก็จะมีสิทธิ์ได้เงินเยียวด้วยนั้น ล่าสุด.. นายอนันต์ สุวรรณรัตน์  ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ  ได้หารือกับคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้แล้วเห็นว่า ข้าราชการกลุ่มนี้ไม่สมควรไดรับ เพราะมีเงินเดือนประจำอยู่แล้ว

อ่านเพิ่มเติม: เบรค! 'เยียวยาเกษตรกร' ข้าราชการ อดรับเงินเยียวยา 5,000 บาท

ด้านนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและประธานกรรมการ ธ.ก.ส. เปิดเผยว่า  ธ.ก.ส. ได้ดำเนินการจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ตามมติคณะรัฐมนตรี  โดย ณ วันที่ 22 พฤษภาคม 2563 ได้ดำเนินการจ่ายเงินแก่เกษตรกรใน “กลุ่มแรก” หลังได้รับรายชื่อจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) รายชื่อเกษตรที่ลงทะเบียนมาทั้งหมด ต้องผ่านการตรวจความซ้ำซ้อนกับการให้ความช่วยเหลืออื่นๆ ของรัฐ ตามขั้นตอน เช่น การเยียวยาผู้ประกอบอาชีพอิสระตามมาตรการเราไม่ทิ้งกันของกระทรวงการคลัง ข้าราชการบำนาญ ผู้รับสิทธิประกันสังคม หรือโครงการอื่นๆ  ไปแล้วจำนวน 3,222,952 ราย เป็นจำนวนเงิน 16,115 ล้านบาท

ส่วนเกษตรกร “กลุ่มที่ 2” ที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงข้อมูลทะเบียนเกษตรกร และการขึ้นทะเบียนใหม่เพิ่มเติม เมื่อได้รับรายชื่อจาก กษ. และผ่านการตรวจสอบความซ้ำซ้อนแล้ว ธ.ก.ส. จะเร่งดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยเร็วต่อไป และสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่  Call Center  02 555 0555

4. แผนการดำเนินการ การเยียวยาเกษตรกร เป็นอย่างไร

สำหรับแผนการดำเนินการ “เยียวยาเกษตรกร” นั้น ทางการจะรวบรวมรายชื่อเกษตรกรที่เข้าเกณฑ์ สำหรับรอบแรกนั้นตัดยอด ณ 30 เม.ย. 63 ส่วนรอบสอง 1 - 15 พ.ค. 63 โดยคาดการณ์ว่า หากไปคัดกรองจากฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ทั้งหมด หากไม่ซ้ำซ้อนและมีสิทธิ์ได้รับการเยียวยา COVID-19 แล้ว

*รอบแรก จะได้รับ 5,000 บาท ก่อนตั้งแต่ 15 พ.ค. 63

*รอบสอง จะได้รับ 5,000 บาทภายใน สิ้นเดือน พ.ค. 63

159013641055

5. ต้องการแก้ไขข้อมูลบัญชีธนาคาร เพื่อรับเงินเยียวยาต้องทำยังไง?

แนะนำให้เกษตรติดต่อไปที่ ธ.ก.ส. สาขาที่สะดวก หรือ โทรสอบถามที่เบอร์ 0-2555-0555 แต่ถ้าไม่มีบัญชี ธ.ก.ส. ก็แนะนำให้ไปตรวจสอบรายละเอียดจาก www.เยียวยาเกษตรกร.com  จากนั้นให้ติดต่อไปที่ ธ.ก.ส. สาขาที่สะดวก หรือ โทรสอบถามที่เบอร์ 0-2555-0555 เพื่อดำเนินการแก้ไขต่อไป

6. ลูกหลานเกษตรกรที่ถูกปฏิเสธจาก “เราไม่ทิ้งกัน” จะได้สิทธิ์ใน “เยียวยาเกษตรกร” หรือใม่?

ในเคสนี้ได้รับสิทธิ์แน่นอน หากลูกหลานเกษตรกรผู้นั้นได้ขึ้นทะเบียนไว้กับหน่วยงานที่รับขึ้นทะเบียนตามโครงการ ของกระทรวงเกษตรฯ รวมถึงต้องมีการแจ้งเลขบัญชีธนาคารในเว็บไซต์ เยียวยาเกษตรกร.com ของ ธ.ก.ส. แล้ว และได้รับสิทธิ์การเยียวยาเกษตรกร โดยไม่ต้องใช้หลักฐานใดๆ เพิ่มเติม ซึ่งเงินเยียวยาจะโอนเข้าสู่ บัญชีนั้นโดยอัตโนมัติ(ต้องถาม ธ.ก.ส. เพิ่มเติม ถ้าเกษตรกรเป็นลูกค้า ธ.ก.ส. มีบัญชีแล้วไม่ได้เข้าไป ยืนยันสิทธิจะได้หรือไม่)

7. พ่อเป็นเกษตรกร (ขึ้นทะเบียนเกษตรกรแล้ว) แต่ลูกมีอาชีพเสริมเป็นหมอนวดและรับเงินโครงการเราไม่ทิ้งกันแล้ว พ่อยังจะได้รับเงินเยียวยาหรือไม่?

สำหรับเคสนี้เนื่องจากพ่อขึ้นทะเบียนเกษตรกรแล้ว และเป็นเกษตรกรที่มีสิทธิ์ได้รับการเยียวยา ดังนั้นคำตอบคือพ่อจะได้รับสิทธิ์เงินเยียวยาเกษตรแน่นอน เนื่องจากโครงการนี้จะให้สิทธิ์เยียวยาแก่เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้กับหน่วยงานที่กำหนดไว้

----------------------

ที่มา : https://www.moac.go.th/assets/doc/faq.pdf