ก.แรงงานชี้ ประกาศข้อพิพาทแรงงานฯ เป็นไปตามกฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ก.แรงงานชี้ ประกาศข้อพิพาทแรงงานฯ เป็นไปตามกฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ก.แรงงาน ชี้ประกาศข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ฯ เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินทุกกรณี ย้ำไม่เกี่ยวกับการหยุดกิจการเนื่องจากโควิด-19 ขณะนี้มีเพียง 10 กิจการ ที่รอการชี้ขาด ข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ จากคณะกรรมการส่วนกลาง

จากกรณีที่กระทรวงแรงงาน ออกประกาศ “ให้ข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ เข้าสู่การชี้ขาดของคณะกรรมแรงงานสัมพันธ์ และห้ามนายจ้างปิดงานหรือลูกจ้างนัดหยุดงานในระหว่างประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน” ตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกฉินซึ่งออกตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ซึ่งมีหลายสถานประกอบการสอบถามเข้ามาในสถานการณ์โควิด-19 ว่าจำเป็นต้องปิดหรือเปิด และลูกจ้างที่สถานประกอบการปิดกิจการเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ต้องกลับเข้าไปทำงานหรือไม่

วานนี้ (15 พฤษภาคม) ที่กระทรวงแรงงาน นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน อธิบายว่า กรณีประกาศกระทรวงแรงงานตามที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 8 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เนื่องจากต้องการให้ข้อพิพาทแรงงานในกระบวนการแรงงานสัมพันธ์ ยุติในสถานการณ์ที่มีการประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ดังนั้น ในสถานประกอบการต่างๆ ที่มีประกาศจากส่วนราชการให้หยุดเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ไม่ใช่การปิดกิจการตามกระบวนการแรงงานสัมพันธ์

158954780452

“กระบวนการทางด้านแรงงานสัมพันธ์ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่การยื่นข้อเรียกร้อง การเจรจาต่อรอง จนกระทั่งการเข้าสู่ข้อพิพาทแรงงาน ไกล่เกลี่ย นำไปสู่การปิดงานหรือนัดหยุดงาน ดังนั้น ในกระบวนการตั้งแต่มีข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ การยุติปัญหาในสถานการณ์ฉุกเฉินกฎหมายจึงกำหนดให้ว่า เมื่อมีการพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ ให้นำเข้าสู่กระบวนการชี้ขาดของคณะกรรมการ ซึ่งเป็นไตรภาคี ที่ประกอบด้วยฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และภาครัฐ ”

“ขณะเดียวกัน สถานประกอบการที่ใช้สิทธิปิดงานอยู่แล้ว หรือลูกจ้างมีการนัดหยุดงานอยู่แล้ว กฎหมายกำหนดให้นายจ้างที่ปิดงานต้องเปิดงาน และลูกจ้างที่นัดหยุดงานก็ขอให้กลับเข้าทำงาน ส่วนข้อพิพาทแรงงานที่เป็นปัญหากันอยู่ ก็ให้เข้าสู่การชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ โดยใช้ระยะเวลาเข้าสู่กระบวนการพิจารณา 60 วัน”

  • กิจการที่มีข้อพิพาท ยังไม่ยุติ 10 แห่ง

สำหรับ สถานการณ์ด้านแรงงานสัมพันธ์ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 – 15 พฤษภาคม 2563 มีข้อเรียกร้องเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง จากนายจ้าง 377 แห่ง มีลูก 280,018 คน ซึ่งยังไม่สามารถยุติได้ในขณะนี้ 65 แห่ง ส่วนกรณีที่มีการยื่นข้อเรียกร้องไปแล้ว มีการเจรจาต่อรอง และยังตกลงกันไม่ได้ กลายเป็นข้อพิพาทแรงงาน ขณะนี้มีอยู่ 68 แห่ง ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 61,069 คน ในจำนวนนี้ ยังไม่ยุติ 10 แห่ง มีกรณีที่มีการนัดหยุดงานก่อนหน้านี้ 2 แห่ง ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง กับกรณีนี้ 95 คน ส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างสมาชิกสหภาพแรงงาน ขณะที่กรณีที่มีการเจรจาตกลงกันได้ นำไปสู่การจดทะเบียนข้อตกลงการจ้างทั้งหมด 340 แห่ง ในจำนวนนนี้ หากคิดเป็นตัวเงินที่ลูกจ้างจะได้รับสิทธิประโยชน์อยู่ที่ 25,640 ล้านบาท

สำหรับ ข้อพิพาทแรงงานที่ยังไม่ยุติขณะนี้ซึ่งมีทั้งหมด 10 แห่ง แบ่งเป็น ในพื้นที่กทม. 2 แห่ง ได้แก่ กิจการร้านอาหาร มีลูกจ้างที่เกี่ยวข้องราว 1,200 คน และ กิจการบริการการวิจัย ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 240 คน จ.สมุทรปราการ 3 แห่ง ได้แก่ กิจการสิ่งทอ ลูกจ้างเกี่ยวข้อง 240 คน กิจการรถเช่า ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 123 คน และ กิจการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 1,275 คน จ.ชลบุรี 2 แห่ง ได้แก่ กิจการผลิตเครื่องปรับอาการ ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 23 คน และ กิจการชิ้นส่วนยานยนต์ ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 450 คน จ.ระยอง 1 แห่ง ได้แก่ กิจการประกอบเครน ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง  59 คน และอยุทธยา 2 แห่ง ได้แก่ กิจการผลิตชิ้นส่วนพลาสติก ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 61 คน และ กิจการผลิตผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 70 คน

“ในจำนวนข้อพิพาทแรงงานที่ยังไม่ยุติ มีลูกจ้างที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 3,741 คน จากลูกจ้างทั้งหมด 17,254 คน หลังจากออกประกาศไป ทั้ง 10 แห่งต้องเข้าสู่กระบวนการชี้ขาด โดยผู้ตัดสินชี้ขาด คือ คณะกรรมการส่วนกลางระดับประเทศ    เพราะไกล่เกลี่ยแล้วยังตกลงกันไม่ได้” นายอภิญญา กล่าว  

ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ออกประกาศไปตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ มาตรา 25 และ 36 ระบุว่า หากประเทศมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน รัฐมนตรี ต้องออกประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้ข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ เข้าสู่กระบวนการชี้ขาด ที่มีการปิดงานก็ข้อให้กลับเข้าไปทำงานและส่งข้อพิพาท แรงงานที่ตกลงกันไม่ได้เข้าสู่กระบวนการชี้ขาด ซึ่งหมายรวมถึงการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในทุกกรณี แต่เป็นการประกาศเพื่อระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้น เพราะไม่สามารถยืดเยื้อได้เนื่องจากบ้านเมืองอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ดังนั้น ต้องเข้าสู่การชี้ขาดของคนกลาง

158954781364

  • นายจ้างใช้ม.75 เมษาทะลุหลักหมื่น

ทั้งนี้ สถานการณ์การใช้มาตรการ 75 หยุดกิจการชั่วคราว ในเดือนมีนาคม 2563 มีสถานประกอบกิจการจำนวน 594 แห่ง ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 101,528 คน เดือนเมษายนสถานประกอบกิจการ 10,648 แห่ง ลูกจ้างเกี่ยวข้อง 460,765 คน สำหรับเดือนพฤษภาคม ณ วันที่ 11 พฤษภาคม ที่ผ่านมา มีสถานประกอบการ 1,179 แห่ง ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 284,210 คน  

นายอภิญญา กล่าวต่อไปว่า การใช้มาตรา 75 ในกรณีที่มีเหตุจำเป็น ที่ไม่ใช้เหตุสุดวิสัย นายจ้างสามารถหยุดกิจการชั่วคราวได้ แต่ต้องแจ้งให้พนักานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้า 3 วันทำการ นายจ้างต้องจ่ายเงินให้ลูกจ้างร้อยละ 75 กรณีที่หยุดกิจการชั่วคราว “เหตุสุดวิสัย” หากลูกจ้างเห็นว่าไม่ใช่เหตุสุดวิสัย ต้องมายื่นคำร้องให้พนักงานตรวจแรงงานเพื่อพิสูจน์ หากเป็นเหตุสุดวิสัยจริง กฎหมายนายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าจ้าง เพราะเป็นเหตุสุดวิสัยที่โทษใครไม่ได้ นำมาสู่การที่ประกันสังคม ออกกฏกระทรวง ตามมาตรา 79/1 รองรับว่ากรณีเหตุสุดวิสัย ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ ถือว่าประกันสังคม ต้องเข้ามาเยียวยากรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัย โดยจ่ายให้ผู้ประกันตนร้อยละ 62