ก้าวใหม่ ปตท. กับ CEO คนที่ 10 ‘อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์’

 ก้าวใหม่ ปตท. กับ CEO คนที่ 10 ‘อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์’

CEO ปตท.คนใหม่ “อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” เข้าปฎิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการวันแรก กับภารกิจท้าทายรอพิสูจน์ฝีมือขับเคลื่อนองค์กรที่กำลังก้าวสู่ปีที่ 42 ฝ่าวิกฤติโควิด-19 และอุตสาหกรรมพลังงานที่เปลี่ยนไป

วันนี้(13 พ.ค.2563) นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ เข้ารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือ CEO ปตท. คนที่ 10 อย่างเป็นทางการวันแรก หลังจากนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร CEO ปตท.คนที่ 9 หมดวาระเกษียณอายุครบ 60 ปี ในวันที่ 12 พ.ค. 2563

นับเป็นก้าวแรกของ ปตท. องค์กรที่มีอายุกว่า 41 ปี และกำลังจะมีอายุครบ 42 ปี ในวันที่ 29 ธ.ค.2563 กำลังจะถูกขับเคลื่อนด้วยการบริหารงานของ CEO คนใหม่ ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ที่จะขับเคลื่อนองค์กรขนาดใหญ่กับภารกิจสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ท่ามกลางปัจจัยความท้าทายของระบบเศรษฐกิจโลกที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปหลังทุกประเทศทั่วโลกต้องเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังธุรกิจต่างๆ  

158929390663

รวมถึง อุตสาหกรรมพลังงานของโลก ที่จะต้องปรับตัวอย่างหนักกับผลกระทบโควิด-19 ที่กดดันราคาพลังงานทั้งน้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติ เข้าสู่ช่วงขาลง

ปตท.แม้จะเป็นบริษัทพลังงานข้ามชาติ ที่มีความแข็งแกร่ง แต่ก็ยังได้รับผลกระทบสะท้อนผ่านการดำเนินงานไตรมาส 1/2563 ขาดทุนสุทธิ 1,554 ล้านบาท ลดลง 30,866 ล้านบาทเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 29,312 ล้านบาท

ดังนั้น ภารกิจสำคัญที่รอพิสูจน์ฝีมือ CEO ปตท.คนใหม่ ระยะเร่งด่วนปีนี้ คงหนีไม่พ้นการพยุงผลการดำเนินงานของกลุ่ม ปตท.ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ให้พลิกกลับมาเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ

158929395385

สำหรับภารกิจที่ต้องจับตา อาทิ 1.การปรับแผนลงทุนช่วง 5 ปี(2563-2567) ของ ปตท. หลังเผชิญวิกฤติโควิด-19 ที่จะต้องเสนอต่อคณะกรรมการบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือ บอร์ด ปตท.พิจารณาในเดือน พ.ค.นี้

2.การลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติหลัก หรือ Global DCQ เพื่อจัดหาก๊าซฯ ป้อนให้กับโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงของ กฟผ. ที่จะครบกำหนดภายในเดือน มิ.ย.นี้

3.แผนส่งเสริมนโยบายรัฐขยายสถานีบริการน้ำมันรองรับการจำหน่ายดีเซล บี10 เป็นน้ำมันดีเซลเกรดพื้นฐานให้ครบคลุมทั่วประเทศ ตลอดจนการเตรียมพร้อมผลักดันแก๊สโซฮอล์ อี 20 เป็นน้ำมันเบนซินเกรดพื้นฐานตามแผนของกระทรวงพลังงาน

4.การผลักดันบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก หรือ OR เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หลังจากยื่นไฟลิ่งเสนอขายหุ้น IPO ต่อตลาดหลักทรัพย์ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

5.การเจรจาเงื่อนไขผลประโยชน์ตอบแทนแก่ภาครัฐในโครงการพัฒนาท่าเรือแหมฉบัง ระยะที่ 3

6.การผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อ-ขาย LNG ของภูมิภาค (Regional LNG Hub)

7.การสนับสนุนนโยบายรัฐขับเคลื่อนการลงทุนโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และ โครงการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ เพื่อเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ของ ปตท. เป็นต้น