ถอดบทเรียน 'โควิด-19' แดนมังกร ประสบการณ์ตรงจากทีมแพทย์ 'อู่ฮั่น'

ถอดบทเรียน 'โควิด-19' แดนมังกร  ประสบการณ์ตรงจากทีมแพทย์ 'อู่ฮั่น'

ศูนย์กลางการระบาดของโรคโควิด-19 อย่าง "จีน" ถือเป็นประเทศหนึ่งที่สามารถรับมือกับโรคร้ายนี้ได้ บางเมืองผู้ติดเชื้อเริ่มเป็นศูนย์ โดยเฉพาะอู่อั่นเริ่มเปิดเมืองและประชาชนเริ่มกลับมาใช้ชีวิต

ล่าสุด China Media Group (CMG) และ แพทยสภาฯ ร่วมเปิดเวทีพูดคุย ถอดบทเรียนแดนมังกร Covid-19 Frontline ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยมี บริษัท อสมท จำกัด(มหาชน) เป็นผู้ถ่ายทอด เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ วิธีการรักษา ยาต้านไวรัส การดูแลผู้ป่วย ระหว่างคณะแพทย์ไทย และ คณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศจีน  จาก โรงพยาบาลมิตรภาพจีน – ญี่ปุ่น หรือ The China-Japan Friendship Hospital ตั้งอยู่ ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ที่มีประสบการณ์จากการร่วมเป็นทีมแพทย์ไปต่อสู้กับไวรัสโควิด-19 ณ วอร์ดใหม่สำหรับโควิด-19 ในโรงพยาบาล Wuhan Tongii Hospital เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน 

158808513910

ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร สีลารัศมี นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ และสาขาวิชาโรคติดเชื้อและอายุรศาสตร์เขตร้อน ภาควิชอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวถึงสถานการณ์ประเทศไทยว่า ช่วงต้นเดือนมีนาคม ประเทศไทยยังมีผู้ติดเชื้อจำนวนไม่มาก แต่ในช่วงกลางเดือนมีนาคม จำนวนผู้ติดเชื้อกลับเพิ่มมากขึ้น เป็นสัญญานให้นักวิชาการและผู้นำของประเทศ แนะนำให้รัฐบาลใช้มาตรการเข้มงวดในการกักกันชุมชน และการเว้นระยะห่างทางสังคม รวมถึงการกักตัวผู้ที่กลับจากประเทศที่มีการระบาดเป็นเวลา 14 วัน

“ทั้งนี้ ปลายเดือนมีนาคม จำนวนผู้ติดเชื้อได้เพิ่มอย่างรวดเร็ว เกิน 100 ราย และในช่วงดังกล่าว รัฐบาลได้ใช้มาตรการ เช่น ปิดโรงเรียน มหาวิทยาลัย และให้ประชานหลีกเลี่ยงการวมตัวกันเป็นกลุ่มใหญ่หากไม่จำเป็น หลังจากนั้นมีการควบคุมได้อย่างดี เช่น การกักตัวผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ทำสามารถควบคุมการแพร่กระจายได้ โดยผู้ป่วยติดเชื้อทั่วประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ในกทม. และภาคใต้” ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร กล่าว

  • แลกเปลี่ยนประสบการณ์จากอู่ฮั่น

ด้าน ดร. ต้วน จุน รองผู้อำนวยการ ภาควิชาวิกฤตศัลยกรรม โรงพยาบาลมิตรภาพจีน ญี่ปุ่น กล่าวถึงการทำงานภายใน โรงพยาบาล Wuhan Tongii Hospital เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน ซึ่งเป็นศูนย์กลางการระบาด ซึ่งตนเองได้รับมอบหมายให้ไปทำหน้าที่ในวอร์ดใหม่สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 วอร์ดใหม่ขนาด 44 เตียง สำหรับผู้ป่วยหนัก โดยมีเตียงไอซียู 6 เตียง ซึ่งมีผู้ป่วยโควิด-19 เข้ารักษาเกือบเต็มความสามารถที่วอร์ดนี้จะรับได้ ภายในเวลาเพียง 2 วัน 

“เรามีผู้ป่วยเกิน 100 ราย มีผู้เสียชีวิต 4 ราย ที่เหลือรอดชีวิตทั้งหมด โดยในวอร์ด เรามีห้องแยกเพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อ ทั้งนี้ สิ่งสำคัญในการจัดการผู้ป่วยจำนวนมาก ปัจจัยอันดับแรก คือ สิ่งแวดล้อม และอุปกรณ์ทางการแพทย์ จึงต้องมีเครื่องตรวจชีพจรและการทำงานของอวัยวะ เครื่องช่วยพยุงการทำงานของหัวใจและปอด (ECMO) เครื่องช่วยหายใจอัตราการไหลสูง และเครื่องให้ออกซิเจนเข้าทางสายยางคู่เข้าจมูก

158808535450

รวมถึงสายสวนทางหลอดเลือดดำส่วนกลาง (CVC) และสายสวนเข้าหลอดเลือดดำส่วนกลางที่ใส่จากตำแหน่งที่ห่างจากหัวใจ (PICC) เครื่องวิเคราะห์ก๊าซจากหลอดเลือดแดง (ABG) เครื่องส่องกล้องหลอดลม อัตราซาวด์ เครื่องตรวจคลื่นหัวใจ และเครื่องเอ็กซเรย์ เครื่องมือทั้งหมด มาจากโรงพยาบาลมิตรภาพจีน-ญี่ปุ่น ในปักกิ่ง ทั้งนี้ เครื่องมือสำคัญ คือ การบำบัดวิกฤติด้วยอัลตร้าซาวด์ ซึ่งจะช่วยในการวินิจฉัย คัดกรองว่าผู้ป่วยคนใดมีอาการหนัก นอกจากนั้น ยังช่วยอัลตราซาวด์เฉพาะจุด และสุดท้าย คือ ช่วยในการอัลตราซาวด์ทั่วร่างกาย  

ดร. ต้วน จุน  กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ เรายังมีคณะทำงานที่มีประสบการณ์ โดยมีผู้นำคณะ 1 คน ผู้ประสานงาน 4 คน มีแพทย์ 30 คน รวมทั้งอาจารย์แพทย์ แพทย์ประจำบ้านต่อยอด แพทย์ประจำบ้าน โดย 24 คน มาจากภาควิชาอายุรศาสตร์ 13 คนมาจากหน่วยโรคหายใจ และเวชบำบัดวิกฤต ประกอบด้วยอาจารย์แพทย์ 3 ท่าน และแพทย์ประจำบ้านต่อยอด 6 ท่าน นอกจากนั้นเรายังมีพยาบาลร่วม 177 คน มาจากหน่วยไอซียู รวมถึงนักบำบัดทางเดินหายใจ 1 คน และผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาล 1 คน ล้วนเชี่ยวชาญด้าน ECMO ทั้งสิ้น

“ทั้งนี้ เราดูรายละเอียดการเข้าเวรทั้งกลางวัยและกลางคืนของแพทย์ และพยาบาล เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขามีกำลังพอที่จะต่อสู้กับโควิด-19 เรามีคณะทำงานที่มีประสบการณ์ และขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยจะปลอดภัย นอกจากนี้ การดูแลสภาพจิตใจของผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ที่ต่อสู้กับโรคก็สำคัญเช่นกัน” ดร.ต้วน จุน กล่าว

  • เฝ้าติดตามการกลายพันธุ์ของไวรัส

จากกรณีที่มีความกังวลเกี่ยวกับการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส ศ.ดร.เฉา ปิน ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤตโรคระบบการหายใจ รองผู้อำนวยการ โรงพยาบาลมิตรภาพจีน – ญี่ปุ่น อธิบายว่า เนื่องจากเราทราบเมื่อไม่นานมานี้ว่า เชื้อดังกล่าวเป็นโคโรน่าไวรัส ที่ก่อให้เกิดทั้งอาการที่ไม่รุนแรง และอาการแทรกซ้อน เช่น โรคปอดอักเสบ และ ARDS (Acute respiratory distress syndrome ภาวะหายใจล้มเหลวเฉียบพลันที่เกิดจากการที่เนื้อปอดมีพยาธิสภาพเกิดขึ้นอย่างรุนแรง) แต่จากการศึกษาของนักไวรัสวิทยาชาวจีนพบว่า ไม่มีการกลายพันธุ์ของโควิด-19 และคณะวิจัยทางวิทยาศาสตร์อีก 2 คณะที่กำลังศึกษาการผลิตวัคซีนอยู่

“นอกจากนั้น นักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐฯ และยุโรป กำลังพัฒนาวัคซีนอยู่เช่นกัน เพราะเราทุกคนต่างเข้าใจดีว่าวัคซีนเป็นการป้องกันที่มีประสิทธิผล ไม่ใช่แค่ในเอเชีย แต่ในยุโรคและอเมริกาเหนือด้วย เราไม่คิดว่าจะมีข้อห่วงใยเรื่องการกลายพันธุ์ของไวรัส แต่เห็นด้วยว่าเราควรต้องเฝ้าติดตามว่ามีการกลายพันธุ์บ้างหรือไม่ ทั้งในแง่ของการแพร่กระจายและผลกระทบของโรค”

158808513928

ทั้งนี้ มีข้อสงสัยประการหนึ่ง คือ ในประเทศแถบเอเชีย สถานการณ์ดูไม่ค่อยรุนแรง ต่างจากแถบยุโรป เช่น อิตาลี เยอรมนี  สเปน และสหรัฐอเมริกา ซึ่งไม่แน่ใจว่าอาจเพราะสภาพอากาศหรือไม่ เนื่องจากประเทศไทย เวียดนาม อยู่ในเขตร้อน อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีคำตอบให้กับสมติฐานนี้ แต่ก็มีนักวิทยาศาสตร์ที่สนใจเกี่ยวกับความเชื่อมโยงของไวรัสนี้กับอุณหภูมิที่ต่างกัน และเชื่อว่านักวิทยาศาสตร์ไทยก็ให้ความสนใจวิจัยการแพร่กระจายของไวรัสในพื้นที่ต่างๆ เช่นเดียวกัน  

  • การกลายพันธุ์ของเชื้อ ไม่เป็นอุปสรรคการผลิตวัคซีน

สำหรับประเด็นที่ว่าหากเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ จะมีผลต่อการผลิตวัคซีนหรือไม่ ศ.ดร. เฉา ปิน  ให้ความเห็นว่า การกลายพันธุ์ไม่น่าจะมีผล เพราะโคโรน่าไวรัสต่างจากไข้หวัดใหญ่  ที่เราเคยได้ยินว่ามีการกลายพันธุ์ทั้งสายพันธุ์ A และ สายพันธุ์ B แต่โคโรน่าไวรัสคนละเรื่องกัน นักวิทยาศาสตร์ที่กำลังผลิตวัคซีนต้าน SARS-Cov2 ไม่ได้นำเอาเชื้อทั้งหมดมาใช้ในการผลิต เนื่องด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยที่ใช้เทคนิคโดยมุ่งไปที่แอนติเจน ดังนั้น การกลายพันธุ์ไม่น่าจะเป็นอุปสรรคในการผลิตวัคซีน แต่น่าจะมีอุปสรรคทางเทคนิคมากกว่า เช่น การตอบสนองของแอนติเจน หรือแอนติบอดี้ นี่คือข้อห่วงใยในการผลิตวัคซีนมากกว่า ไม่ใช่เรื่องการกลายพันธุ์ 

 

  • การใช้ยาต้านไวรัสในประเทศจีน

ศ.ดร. เฉาปิน กล่าวถึงประเด็นการใช้ยาต้านไวรัสในประเทศจีนว่า ตั้งแต่มีการติดเชื้อโควิด-19 แรกเริ่มในช่วง ธันวาคม 2562 เมื่อมีผู้ป่วยคนแรกๆ เราไม่รู้ว่ามันคือเชื้อก่อโรคชนิดใด  ตอนแรกที่เราทราบว่ามันเป็นโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ เราใช้ยาสำหรับรักษาโคโรนาไวรัสชนิดอื่นๆ เช่น ซาร์ส เมอร์ส ต่อมาใช้ Lopinavir / Ritonavir อย่างกว้างขวาง ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาผู้ป่วยซาร์ส ในช่วงปี 2003 – 2004 แม้ว่าจะไม่มีการทดลองแบบสุ่ม และกลุ่มควบคุม แต่จากการรายงานทางคลินิก การใช้ยา Lopinavir / Ritonavir ก็ยังให้ผลที่น่าพอใจ ทำให้เราคิดว่าน่าจะนำมาใช้กับผู้ป่วยโควิด-19 ได้

นอกจากนั้น ยังมีการศึกษาที่ได้รับการตีพิมพ์ว่า ช่วงที่มีการระบาดของเมอร์ส ในตะวันออกกลาง และเกาหลี มีการให้รับประทานยา Lopinavir / Ritonavir ด้วย นี่คือเหตุผลที่ทำให้เราทดลองใช้ยาตัวนี้กับผู้ป่วยโควิด-19 เราเป็นที่แรกที่ได้ทำงานวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมในการใช้ Lopinavir / Ritonavir รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรง ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ มกราคม สิ้นสุดการทดลองเมื่อต้นมีนาคม และได้ตีพิมพ์เมื่อ 18 มีนาคม แต่หลังจากที่ตีพิมพ์แล้ว เราได้รับอีเมล์จากทั่วโลก ว่าเป็นงานวิจัยที่ไม่พบความแตกต่าง แพทย์บางท่านจึงเลิกใช้ Lopinavir / Ritonavir รักษาผู้ป่วยโควิด-19 แต่ส่วนตัวคิดว่า เร็วเกินที่จะหยุดใช้ Lopinavir / Ritonavir เนื่องจากไม่ใช่แพทย์ทุกคนที่อ่านงานนี้อย่างละเอียดทั้งหมด

“ถ้าดูการเสียชีวิตที่ 28 วัน กลุ่มที่ใช้ Lopinavir / Ritonavir จะอยู่ที่ 19% ขณะที่กลุ่มที่ได้รับการรักษาตามมาตรฐานอยู่ที่ 25% เรามีการวิเคราะห์ด้วยวิธีอื่นๆ ด้วย เช่น ระยะเวลาที่อยู่ในไอซียู ระยะเวลานอนที่โรงพยาบาล และร้อยละของผู้ป่วยที่มีอาการทางคลินิกที่ดีขึ้นที่ 14 วัน กลุ่มที่ใช้ Lopinavir มีอาการทางคลินิกที่ดีขึ้นอยู่ที่ 45% ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาตามมาตรฐานมีผลสำเร็จอยู่ที่ 30% นับว่ามีความแตกต่างโดยมีนัยสำคัญ และยังพบว่าผู้ป่วยที่ได้รับยามีระยะเวลารักษาตัวในไอซียูน้อยกว่า ถ้าลองเอาผลมารวมกันจะเห็นว่า Lopinavir / Ritonavir มีประโยชน์”

นอกจากนั้น เรายังได้ทำการวิเคราะห์กลุ่มย่อย โดยแบ่งกลุ่มผู้ได้รับยา Lopinavir ภายใน 12 วัน และกลุ่มที่ได้รับหลังจาก 12 วัน พบว่ากลุ่มที่ได้รับยาภายใน 12 วัน จะมีอาการดีขึ้นมากกว่าผู้ป่วยที่ได้รับยาช้ากว่า 12 วัน จะเห็นได้ว่าการใช้ยาต้านไวรัส เป็นหัวใจสำคัญอ่างหนึ่งในการรักษาผู้ป่วย

อีกหนึ่งทางเลือก คือ การใช้ Remdesivir ที่อยู่ในการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร New England Journal of Medicine ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรง ข้อมูลทั้งหมดดูเหมือนจะได้ผลดี แต่การวิจัยแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมเท่านั้น ที่ตอบได้ว่าการใช้ Remdesivir มีประสิทธิผลและปลอดภัยพอ ที่จะรักษาผู้ป่วยโควิด-19 หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มที่มีอาการรุนแรง

ศ.ดร. เฉาปิน กล่าวต่อไปว่า ในอู่ฮั่น เราได้ลองการให้พลาสมา จากผู้ที่เคยติดเชื้อ ซึ่งเป็นการรักษาที่ใช้กันมานานแล้ว นับตั้งแต่การระบาดของไข้หวัดใหญ่เมื่อร้อยปีที่แล้ว ในปี ค.ศ. 1918 มีการตีพิมพ์ใน JAMA เรื่องการใช้วิธีนี้ แต่ทดลองกับผู้ป่วยเพียง 5 คน ซึ่งมีอาการทางคลินิกดีขึ้นหลังจากการรักษา และอีกงานหนึ่งทำการทดลองกับผู้ป่วย 10 คน มีเพียงรายงานผู้ป่วย 2 ฉบับนี้เท่านั้นที่กล่าวถึงการรักษาโดยวิธีนี้

  • สเตียรอยด์ ใช้ในระดับต่ำถึงปานกลาง  

ศ.ดร. เฉาปิน กล่าวต่อไปว่า สำหรับยาต้านไวรัส Favipiravir จากการศึกษาทางห้องปฏิบัติการพบว่า Lopinavir / Ritonavir แรงกว่า Favipiravir เราคุ้นเคยกับการใช้ Favipiravir แต่ยังไม่เคยทดลองกับผู้ป่วยโควิด-19 แต่เคยทดลองกับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจากไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีการตีพิมพ์การทดลองใช้ Favipiravir ร่วมกับ Tenvir ในการรักษาไข้หวัดใหญ่ แต่ขนาดยาเหล่านี้ไม่น่าจะเพียงพอในผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการหนัก เราจึงไม่แนะนำให้ใช้ Favipiravir ในผู้ป่วยโควิด-19 อาการหนักที่ประเทศจีน นอกจากนี้ แม้ว่าประเทศจีนจะใช้ยา Lopinavir / Ritonavir แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ได้รับการรักษา ด้วยยาแผนจีน จึงนับว่าจีนใช้ยาหลายตัวร่วมกัน

“สำหรับยาสเตียรอยด์ ในช่วงแรกทางการจีนคิดว่าจะใช้ในผู้ป่วยโควิด-19 หากจำได้ในช่วงการระบาดของซาร์ส ในประเทศจีน เราใช้คอร์ติโคสเตียรอยด์ในขนาดสูง ทั้งในกวางตุ้ง ฮ่องกง และปักกิ่ง เพราะมีผู้ป่วยซาร์สจำนวนมาก ซึ่งพบว่ามีผลข้างเคียงและเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยบางราย ดังนั้น จึงต้องรอบคอบในการใช้คอร์ติโคสเตียรอยด์ ในผู้ป่วยโควิด-19 ถ้าให้ต้องให้ในขนาดต่ำหรือปานกลาง”

ทั้งนี้ เวลาให้ยาก็สำคัญ มีการประชุมระหว่างผู้เชี่ยวชาญว่า การให้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ควรให้ ณ จุดที่มีการพัฒนาของโรคอย่างรวดเร็ว เช่น เมื่อออกซิเจนในเลือดลดลงอย่ารวดเร็ว หรือเมื่อมีรอยในปอดมากขึ้นอย่างรวดเร็วไม่ควรให้นานเกินหนึ่งสัปดาห์ อีกอย่างที่น่ากังวล คือ การติดเชื้อซ้อนของแบคทีเรียหรือเชื้อรา ถ้าเราให้ คอร์ติโคสเตียรอยด์ ในปริมาณต่ำ หรือปานกลาง ก็จะมีผลข้างเคียงไม่มากนัก

“มีการศึกษาว่าการให้ คอร์ติโคสเตียรอยด์ ไม่ได้มีผลต่อการเสียชีวิตที่ 28 วัน ในการศึกษากลุ่มย่อย คอร์ติโคสเตียรอยด์ สามารถยับยั้งการพัฒนาของโรคได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถช่วยชีวิตได้ ข่าวดี คือ การให้ในขนาดต่ำหรือปานกลาง ไม่พบการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราแทรกซ้อนอย่างมีนัยสำคัญ” ศ.ดร.เฉา ปิน กล่าว 

158808514380

ดร.จาง ยี่ แพทย์ ภาควิชาโรคระบบการหายใจและเวชบำบัดวิกฤต โรงพยาบาลมิตรภาพจีน-ญี่ปุ่น อธิบายเพิ่มเติมว่า เนื่องจากโควิด-19 มีอาการหลากหลายที่คล้ายกับ ARDS (Acute respiratory distress syndrome ภาวะหายใจล้มเหลวเฉียบพลันที่เกิดจากการที่เนื้อปอดมีพยาธิสภาพเกิดขึ้นอย่างรุนแรง) นี่คือสาเหตุว่าทำไมเราถึงมีขั้นตอนการปฏิบัติที่คล้ายกันเพื่อรองรับผู้ป่วย รวมถึงการใส่ท่อ และ ECMO เราจึงคิดว่ามันอาจอยู่ในกลุ่มเดียวกับ ARDS ด้วย  

ทั้งนี้ ความแตกต่างของโควิด-19 และ ARDS ทั่วไป ในอาการช่วงระยะสุดท้ายนั้นต่างกัน เมื่อเทียบกับไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A แต่ไม่ได้มีผลต่อวิธีการรักษาโควิด-19 เรายังคงใช้ PEEP ในการสู้กับโควิด-19 ในแง่ของการรักษา เพราะถือว่าเป็น ARDS ชนิดหนึ่ง

  • ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความรุนแรงของโรค

ดร.จาง ยี่  กล่าวต่อไปว่า การพัฒนาของโรคจากไม่รุนแรงมาก ไปสู่อาการที่รุนแรง บางรายใช้เวลารวดเร็วนั้น เนื่องด้วยโรคโควิด-19 มีลักษณะที่ปรากฏออกมาหลากหลายในประเทศต่างๆ เช่น จีน อิตาลี หรือสหรัฐฯ เพราะฉะนั้น ปัจจัยสำคัญ คือ การขาดบุคลากรทางการแพทย์  ทำให้ความรุนแรงของโรคปรากฏออกมาได้หลากหลาย เพราะหากบุคลากรทางการแพทย์เพียงพอ เราจะสามารถเข้าถึงผู้ป่วยได้เร็ว  สามารถระงับไม่ให้ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงทรุดหนักได้   

ด้าน ดร. หวาง ยี่หมิง แพทย์ปฏิบัติการ ภาควิชาระบบการหายใจและเวชบำบัดวิกฤต โรงพยาบาลมิตรภาพจีน-ญี่ปุ่น กล่าวเสริมว่า นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการ เช่น อายุของผู้ป่วย ยิ่งอายุมากยิ่งมีความเสี่ยง ค่า D-Dimer ที่มากขึ้น ค่าฮีโมโกลบิน หรือการทำงานของโลหิต และ OFA Scoring System ซึ่งมีความสำคัญในการระบุผู้ป่วยในระยะเริ่มต้น    

  • จีนเน้นเอ็กซเรย์หลังควบคุมได้

ทั้งนี้ หลังจากที่ประเทศจีนใช้เวลาเพียง 3 เดือน ทำให้โรคเริ่มสงบและชะลอการระบาดลงได้ ศ.ดร. เฉา ปิน กล่าวว่า หลังสถานการณ์ควบคุมได้ การตรวจ PCR Test เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น แต่หันมาระวังในเรื่องของประวัติการติดต่อ เพราะบางกรณีโควิด-19 ก็มีอาการน้อย เช่น อาการไอเล็กน้อย หรืออาการอ่อนเพลีย หรือเบื่ออาหาร อย่างไรก็ตาม ควรจะทำการเอ็กซเรย์ปอดหรือทำ CT Scan หลังจากนั้นถ้ามีความน่าจะเป็นโควิด-19 ก็ต้องทำ PCR Test ด้วย สำหรับการผ่าตัดใหญ่ ต้องมีการตรวจสมรรถภาพของปอด และการเอ็กซเรย์เป็นประจำอยู่แล้ว

  • ผู้ป่วยที่หายแล้ว กลับมาเป็นซ้ำได้จริงหรือ?

สำหรับประเด็นที่ว่าผู้ป่วยที่เคยเป็นแล้ว กลับมาเป็นใหม่ ศ.ดร. เฉา ปิน อธิบายว่า ต้องระวังในการวินิจฉัยการกลับมาเป็นซ้ำ เนื่องจากในประเทศจีน มีการศึกษาโดยใช้ลิงเป็นต้นแบบ พบว่าลิงไม่สามารถติดเชื้อซ้ำได้ ซึ่งไม่คิดว่าจะมีกรณีกลับมาเป็นซ้ำได้บ่อย ไม่มีรายงานทางวิทยาศาสตร์ เราได้ยินแค่จากข่าวเท่านั้น นอกจากนี้ สัตว์อีกชนิดหนึ่งที่ใช้ คือ หนู แต่ในหนูยากที่จะพัฒนาโรครุนแรง หากอยากทดลองอาการรุนแรงต้องใช้หนู่ชนิดพิเศษ

“หากผู้ป่วยจะกลับมาเป็นซ้ำ ต้องดูว่ามีระยะเวลาการขับไวรัสออกที่ยาวนานหรือไม่ การที่ผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลแล้วกลับมาเป็นซ้ำ ไม่ได้หมายความว่ากลับเป็นซ้ำอีก แต่อาจเกิดจากระยะเวลาการขับเชื้อมีระยะเวลานาน ซึ่งเราเคยพบว่า นานเกิน 2 เดือน การตรวจส่วนใหญ่เป็นการตรวจทางคอ อาจให้ผลต่างกันในแต่ละครั้ง จากการที่ตรวจแล้ว ได้ผลลบแล้วบวก ลบแล้วบวก ขึ้นอยู่กับระยะวเลาการขับเชื้อ ของแต่ละคน เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้พบแค่ 30% การกลับมาเป็นซ้ำเป็นไปได้ยาก จึงควรวินิจฉัยอย่างรอบคอบว่าเป็นการกลับมาเป็นซ้ำหรือไม่” ศ.ดร.เฉา ปิน อธิบาย