มติวิปรัฐบาลดับฝันฝ่ายค้าน ขวางเปิดวิสามัญถกกม.กู้เงิน

มติวิปรัฐบาลดับฝันฝ่ายค้าน ขวางเปิดวิสามัญถกกม.กู้เงิน

วิปรัฐบาล มีมติไม่เห็นด้วย เปิดสภาสมัยวิสามัญ ถก พ.ร.ก.กู้เงิน สู้โควิด ชี้ข้อเสนอฝ่ายค้านไม่มีอะไรเร่งด่วน เหตุรัฐบาลลุยเต็มสูบ แก้ปัญหาอยู่แล้ว

ความเคลื่อนไหวทางการเมือง หลังจาก 6 พรรคร่วมฝ่ายค้าน โดยส.ส.ร่วมลงชื่อ 213 เสียง เสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม และนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติ พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ เพื่อแก้ปัญหาสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19

ขณะเดียวกัน ฝ่ายค้านได้พยายามล็อบบี้ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและ ส.ว.เพื่อร่วมลงชื่อ ให้จำนวนเสียงถึง 1 ใน 3 ตามมาตรา 123 ของรัฐธรรมนูญ หรือประมาณ 246 เสียง แต่ขณะนี้ฝ่ายค้านมีเสียง 213 เสียง จึงต้องการเสียง ส.ส.และ ส.ว.อีก 33 เสียง

ล่าสุด นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) เปิดเผยว่า ในวันเดียวกันนี้(27เม.ย.) ตนได้หารือร่วมกับแกนนำวิปรัฐบาล อาทิ นายชินวรณ์บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานีพรรคภูมิใจไทย ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาล ผ่านทางโทรศัพท์ ถึงกรณีที่พรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอให้เปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาอนุมัติ พ.ร.ก.กู้เงินหรือไม่

รวมถึงเพื่อระดมสมองแก้ปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่า การหารือร่วมกันของวิปรัฐบาล มีมติไม่เห็นด้วยกับพรรคร่วมฝ่ายค้านในการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ เนื่องจากการประชุมสภาสมัยสามัญจะมีกำหนดเปิดประชุมในวันที่ 22 พ.ค.นี้ อยู่แล้ว โดยเมื่อมีพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมก็เป็นหน้าที่ของประธานสภาจะได้ดำเนินการต่อไป

หลังจากที่ กลุ่มพรรคร่วมฝ่ายค้าน ยื่นเรื่องให้รัฐบาล ใช้อำนาจขอเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยวิสามัญ เพื่อถก 3 พ.ร.ก.กู้เงิน สู้วิกฤตโควิด และฟื้นเศรษฐกิจ แต่ล่าสุดนั้นเสียงจากรัฐบาลยังเงียบ

นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาล ต่ออายุการบังคับใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปว่า

กรณีดังกล่าวเชื่อว่าจะมีผลกระทบต่อการตัดสินใจขอเปิดประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญ​ที่ฝ่ายค้านยื่นเรื่องแน่นอน และยังจะมีผลต่อการเปิดประชุมสภาฯ สมัยสามัญ​ ตามกำหนดวันที่ 22 พฤษภาคมนี้แน่นอน เพราะมาตรการของพ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น จะครอบคลุมถึงการห้ามรวมตัว หรือ ชุมนุมด้วย โดยการร่วมประชุมของส.ส. ในสภาฯ นั้นอาจเข้าข่ายข้อห้ามดังกล่าวด้วย อย่างไรก็ตามหากรัฐบาลต้องการให้

สภาฯ เปิดประชุมได้ตามภารกิจหน้าที่ ควรกำหนดบทยกเว้นไว้ในรายละเอียดให้ชัดเจน เหมือนกับระบุข้อยกเว้นให้การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สามารถดำเนินการได้ นอกจากนั้นรัฐบาลควรพิจารณาการควบคุมสถานการณ์ให้เป็นไปตามกฎหมายปกติโดยเร็ว เพราะตนมองว่าการคงพ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้ ระหว่างที่สถานการณ์การควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คลี่คลายแล้ว เหมือนกับใช้ยาที่รุนแรงเกิดไป หรือเปรียบเหมือนใช้ปืนเอ็ม-16 เพื่อยิงนก

นายสุทิน กล่าวด้วยว่ากรณีที่รัฐบาลไม่ตัดสินใจตามอำนาจเพื่อให้สภาฯ สามารถประชุมสมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณา 3 พ.ร.ก.กู้เงิน นั้น อาจมีปัญหาต่อการตรวจสอบถ่วงดุลที่ต้องทำอย่างทันท่วงทีและรีบด่วน ทั้งนี้หากรัฐบาลยังไม่ตัดสินใจหรือมีคำตอบใดๆ ออกมา กลุ่มพรรคฝ่ายค้านจะพิจารณาแนวทางเพื่อดำเนินการในมาตรการต่อไป เช่น การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ พ.ร.ก.

โดยเฉพาะ พ.ร.ก. รักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 วงเงิน 4 แสนล้านบาท ที่มองว่าหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรปฏิบัติหน้าที่ตามกรอบของกฎหมาย และการให้ซื้อตราสารหนี้นั้นจะขัดกับกฎหมายอื่นหรือไม่ ทั้งนี้กรณีดังกล่าวยังไม่มีข้อสรุปอย่างเป็นทางการ แต่เป็นแนวทางที่พรรคฝ่ายค้านจะพิจารณาเพื่อเป็นช่องทางการทำงานตามที่ได้รับเงินเดือนซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน

“มีคนบอกว่า ฝ่ายค้านควรรอได้หรือไม่ ผมว่าพวกเรารอได้จนกว่าจะเปิดสภาฯ สมัยสามัญ แต่เดือนที่ต้องรอนั้น อาจมีความเสียหายเกิดขึ้น เช่น การเยียวยาไม่ทั่วถึง เม็ดเงินไม่พอ 1 เดือนที่รอให้สภาฯ เปิดจะเอาเงินส่วนไหนเยียวยา ส่วนที่ระบุว่าจะให้โอนงบประมาณ ปี 63 เพื่อเยียวยา ต้องออกเป็นกฎหมายถ่ายโอนงบประมาณ ซึ่งจะใช้เมื่อไร ต้องรอสภาฯ เปิด กว่าจะถึงเวลาประชาชนจะได้เงินช้า ชาวบ้านได้รับความช่วยเหลือช้า จะมีความเสียหายกับประชาชน รวมถึงกรณีอื่นๆ ที่อาจพบความไม่ถูกต้องหรือมีข้อผิดพลาด ซึ่งหากพบความเสียหายเกิดขึ้นก่อนการได้รับอนุมัติจากสภาฯ รัฐบาลควรต้องรับผิดชอบทางการเมืองด้วย” นายสุทิน กล่าว