'พลังประชารัฐ' เดือด! ผ่า 2 ขั้วอำนาจ ท้าชน ศึกใน

'พลังประชารัฐ' เดือด! ผ่า 2 ขั้วอำนาจ ท้าชน ศึกใน

พรรค "พลังประชารัฐ" ระส่ำ ขีดเส้น 1 สัปดาห์ จี้ อุตตม-สนธิรัตน์ ไขก๊อก เดินเกมอีกด้านงัดข้อบังคับพรรคยื่น กกต.ขอเปิดประชุมใหญ่ เขย่าใหม่กลาง มิ.ย.นี้

ความเคลื่อนไหวในการชิงอำนาจในพรรค พลังประชารัฐ (พปชร.) หลังจากมีข่าวว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ จะขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคด้วยตัวเองทำให้อุณหภูมิในพรรคคุกรุนขึ้นมาทันที

ล่าสุดมีข่าวเล็ดลอดออกมาว่า มีความพยายามของแกนนำในพรรค เดินเกมกดดันนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง และหัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน และเลขาธิการพรรค ให้ลาออก 

สาเหตุของแรงกดดันทั้ง 2 แกนนำ เนื่องจากที่ผ่านมา มีปัญหาในการบริหารงานในพรรคหลายอย่าง

ทั้งไม่สามารถยึดโยงกับส.ส.ได้ โดยเฉพาะช่วงวิกฤตโควิด-19 ไม่เคยสอบถาม หรือยื่นความช่วยเหลือใดๆ ให้ ส.ส.ลงพื้นที่ช่วยประชาชน

และยังมีปัญหาเรื่องการจัดประชุมใหญ่ของพลังประชารัฐที่ล่าช้าไปกว่า 3 เดือนกว่าจะได้ประชุม

มีรายงานว่า พล.อ.ประวิตร ได้เดินไปบอกนายอุตตมด้วยตัวเอง ในวันทำพิธีบวงสรวง ในการเปิดที่ทำการพรรคแห่งใหม่ เมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยขอให้พิจารณาลาออกเอง แต่นายอุตตมไม่ได้ตอบรับหรือปฏิเสธ

หากเดินเกมกดดันนายอุตตมจนยอมลาออก กรรมการบริหารทั้งคณะต้องสิ้นสภาพไปด้วย และทางพรรคจะประชุมใหญ่ เพื่อแต่งตั้งกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ขึ้นมาทดแทนต่อไปภายใน 60 วัน

หากการกดดันไม่เป็นผล นายอุตตม กับพวกยังเลือกอยู่ในตำแหน่งต่อไป จะใช้วิธีให้กรรมการบริหารพรรค 18 คน หรือกึ่งหนึ่ง จากทั้งหมด 34 คนลาออก เพื่อเปิดทางให้มีการเลือกกรรมการบริหารชุดใหม่เข้ามาแทน

โดยขณะนี้ ผู้ใหญ่ในพรรค ขีดเส้นเวลาตัดสินใจไว้ที่ 1 สัปดาห์

ขณะเดียวกัน แกนนำพรรคพลังประชารัฐบางส่วน เตรียมใช้ข้อบังคับพรรคด้วยการยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอจัดประชุมใหญ่พรรค ในการลงมติเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ต่อไป โดยคาดว่าจะจัดประชุมใหญ่พรรคได้ประมาณกลางเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป

วันเดียวกันนี้ มีรายงานด้วยว่า นายวิรัช รัตนเศรษฐ์ กรรมการบริหาร พปชร.และประธานวิปรัฐบาล ได้โทรศัพท์หา ส.ส.ที่เป็นกรรมการบริหารพรรค ซึ่งไม่ได้อยู่ในกลุ่มตัวเอง เพื่อล็อบบี้ขอให้ลาออกจากกรรมการบริหารพรรค เพื่อเปิดทางให้มีการโหวตเปลี่ยนหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค

แต่หลายคนในพลังประชารัฐเองมีความเป็นห่วงว่า ความพยายามเอากลุ่มนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ออกจากโครงสร้างพรรคในครั้งนี้ อาจนำมาสู่ความขัดแย้งภายในพรรครอบใหม่ได้ เพราะเป็นการเปลี่ยนจากกลุ่มอำนาจหนึ่ง ไปสู่อีกกลุ่มอำนาจหนึ่งเท่านั้น

ขณะเดียวกัน ในการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ชุดใหญ่ เมื่อช่วงเช้าวันที่ 27 เม.ย.63 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานช่วงหนึ่งของการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ ได้พูดถึงกระแสข่าวปรับ ครม.ขึ้นมาว่า

“ไม่มีการปรับครม.ใดๆ ทั้งสิ้น ผมคนเดียวเท่านั้นที่จะเป็นผู้ตัดสินใจได้ ไม่ต้องต่อรอง ไม่ต้องเจรจา ผมเป็นนายกฯ ผมทำคนเดียว”

ระหว่างที่พูด พล.อ.ประยุทธ์ ได้หันไปมองที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจด้วย

รู้จักขั้วอำนาจใน พลังประชารัฐ

  • กลุ่มหนุน อุตตม

1.นายอุตตม 2.นายสนธิรัตน์ 3.นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ 4.นายพรชัย ตระกูลวรานนท์ 5.นายพงษ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ 6.นายวิเชียร ชวลิต 7.นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ 8.นายชวน ชูจันทร์ 9.นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล 10.นายสุพล ฟองงาม 11.ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า 12.นายชาญวิทย์ วิภูศิริ 13.นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ 14.นางประภาพร อัศวเหม 15.นายสันติ กีระนันทน์ 16.นายไผ่ ลิกค์

  • กลุ่มเชียร์ ประวิตร

1.นายสันติ พร้อมพัฒน์ 2.นายวิรัช รัตนเศรษฐ 3.นายสุชาติ ชมกลิ่น 4.นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ 5.นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ 6.นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ 7.นายอนุชา นาคาศัย 8.นายสุรชาติ ศรีบุศกร 9.นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ 10.นายนิโรธ สุนทรเลขา 11.นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ

  • กลุ่มตัวแปรที่ยังไม่เลือกข้าง

1.นายไพบูลย์ นิติตะวัน 2.นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ 3.นายอิทธิพล คุณปลื้ม 4.นายสมศักดิ์ เทพสุทิน 5.นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ 6.นายสกลธี ภัททิยกุล 7.นายนิพันธ์ ศิริธร

158800257249