เปิดผลสำรวจ คนไทยหนุนรัฐ คุมเข้ม 'โควิด' ต่อ

เปิดผลสำรวจ คนไทยหนุนรัฐ คุมเข้ม 'โควิด' ต่อ

เปิดผลสำรวจคนไทยชี้ชัดอยากให้รัฐคุมเข้มสถานการณ์ "โควิด-19" ต่อไป ทั้งการเดินทางเข้าไทย และอยากให้ปิดสนามมวย-สถานบันเทิงต่อเนื่อง

สถานการณ์โรคโควิด-19 ในไทยดีขึ้นจากการปัจจัยหลายส่วน ที่สำคัญคือประชาชนให้ความร่วมมือในมาตรการป้องกันควบคุมโรค ทั้งการเว้นระยะห่าง ใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยเมื่อป่วย และลดการนำเข้าเชื้อจากต่างประเทศ แต่ที่กังวลคือหากประชาชนคิดว่าสถานการณ์ในประเทศดีแล้ว จึงใช้ชีวิตปกติแบบเดิม หรือทางการมีการอนุญาตให้คนเดินทางเข้ามาในประเทศมากขึ้น ก็จะเพิ่มความเสี่ยงให้สถานการณ์ที่เหมือนจะคุมได้แล้วกลับมาปะทุอีกครั้ง เหมือนในต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์หรือญี่ปุ่น

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า ข้อกำหนดตามพรก.ฉุกเฉินมีระยะเวลาสิ้นสุดในวันที่ 30 เม.ย.2563 จึงอาจจะมีการปรับมาตรการหลังวันที่ 1 พ.ค. กรมควบคุมโรคจึงได้ทำแบบสำรวจนำข้อมูลมาใช้ประกอบการเตรียมการ และความพร้อมกับนโยบายของรัฐบาลที่จะมีการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาหรือโควิด-19(ศบค.)วันที่ 27 เม.ย.นี้ หากศบค.มีข้อสรุปและนายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการอย่างไร ก็จะได้นำข้อมูลจากแบบสอบถามดังกล่าวมาออกแบบมาตรการให้สอดคล้องกับข้อสั่งการและเหมาะสมในการปฏิบัติงาน รวมถึง วิธีปฎิบัติของประชาชน

โดยผลการสำรวจความคิดเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาข้อเสนอมาตรการควบคุมโรคในช่วง 1 พ.ค.-31 ก.ค. 2563 ผ่านระบบออนไลน์ระหว่างวันที่ 17-24 เม.ย. มีผู้ตอบสอบถามทั้งสิ้น 54,196 คน อาศัยอยู่ในจังหวัดต่างๆ 6 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 24,500 คน นนทบุรี 4,205 คน ชลบุรี 1,929 คน สมุทรปราการ 1,850 คน ปทุมธานี 1,829 คน และภูเก็ต 1,448 คน ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์จังหวัดที่พบรายงานผู้ป่วยมากที่สุด

158796180941

ผลปรากฏว่า มาตรการจำกัดการเดินทางจากต่างประเทศ โดยการเปิดประเทศ ประชาชนเห็นว่า ให้งดการเดินทางเข้ามาของชาวต่างชาติ 60.5 % และควรจำกัดการเดินทางเข้าประเทศของชาวต่างชาติ 36.7 % และประมาณ 46,000 คน เห็นด้วยว่าเมื่อเข้ามาแล้วจะต้องมีการคัดกรองและกักตัวเป็นเวลา 14 วันต่อไป

สำหรับ มาตรการปิดสถานที่ต่างๆ แยกเป็น

1.สถานที่ที่ปิดแล้วส่งผลกระทบ พบว่าร้านอาหารกระทบมากที่สุด กระทบปานกลาง 45 % คือร้านตัดเสริมสวย/ร้านตัดผม กระทบปานกลาง 42.7 % ตลาดนัด กระทบปานกลาง 41 % ห้างสรรพสินค้า กระทบปานกลาง 44.6 % และสถานที่ที่เห็นว่ากระทบน้อยที่สุด คือ สนามกีฬากระทบน้อย 66.1 % และโรงภาพยนตร์กระทบน้อย 83.7 %

2.สถานที่ที่เห็นว่าควรปิดต่อไป สนามพนันเห็นด้วยระดับมากที่สุด 92.5 % สนามมวยระดับมากที่สุด 90.9 % สถานบันเทิงระดับมากที่สุด 89.3 % โรงภาพยนตร์ระดับมากที่สุด 78.6 % สนามกีฬาระดับมากที่สุด 50.9 % ห้างสรรพสินค้าเห็นด้วยระดับปานกลาง 50.3% ตลาดนัดระดับปานกลาง 48.5 % ร้านเสริมสวย/ร้านตัดผมระดับปานกลาง 52.2 %และร้านอาหารระดับปานกลาง 46 %

ส่วน มาตรการส่งเสริมการทำงานที่บ้าน พบว่า 53.3 % สามารถทำงานที่บ้านได้ 35.29 % ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ และ 11.2 %ไม่ได้เรียน/ไม่ได้ทำงาน ในเรื่ององค์กรอนุญาตให้ทำงานที่บ้านหรือไม่ พบว่า 55.8 % อนุญาต 24.7 %ไม่อนุญาต และ19.5 % ไม่ได้เรียน/ไม่ได้ทำงาน และจำนวนวันที่ทำงานที่บ้าน มากที่สุด คือ 7 วัน 14.5 % รองลงมาเป็น 5-6 วัน 14.2 % ตามด้วย 3-4 วัน 14 % และ1-2วัน 13 %

158796182292

“การผ่อนปรนมาตรการ หากไม่มีการตระเตรียมการให้ดี ไม่ค่อยๆผ่อนปรนและไม่มีความเข้มแข็งในความเข้าใจของประชาชน ปัญหาก็จะกลับมามากกว่าเดิม ซึ่งในประเทศไทยประชาชนส่วนหนึ่งยังคงอยากให้สถานการณ์โรคคุมได้และยอมรับการถูกจำกัดบางสิทธิ แม้จะถามหาการผ่อนปรน แต่ก็เป็นการผ่อนในเรื่องความจำเป็นต่อชีวิตและเศรษฐกิจ แต่เกือบทั้งหมดต้องการให้มีการผ่อนปรนควบคู่กับการคุมโรคที่ดีด้วย เพราะเข้าใจว่าหากสุขภาพดี ยังมีโอกาสที่จะฟื้นฟูกิจการหรืออาชีพ แต่ถ้าเสียชีวิตหรือมีร่องรอยหลงเหลือจากความเจ็บป่วย ก็ทำให้ความสามารถในการฟื้นฟูกิจการและอาชีพทำได้ยากขึ้น”นพ.สุวรรณชัยกล่าว

 

ทั้งนี้ แม้ว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศไทย จะเป็นไปในทิศทางที่ดี จากการแถลงโดย นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เกี่ยวกับสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ประจำวันที่ 26 เม.ย. ซึ่งประเทศไทยพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 15 ราย รวมยอดสะสม 2,922 ราย ใน 68 จังหวัด เสียชีวิตรวม 51 ราย รักษาหายกลับบ้านเพิ่ม47 ราย รวม 2,594 ราย ยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 277 ราย ซึ่งเป็นวันแรกที่มีผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาลน้อยกว่า 300 คนนั้น นพ.ทวีศิลป์กล่าวยืนยันว่า ถึงแม้จำนวนผู้ติดเชื้อน้อยลง แต่ก็ยังวางใจไม่ได้

"ไม่มีใครรู้ว่าใครติดเชื้อบ้าง ถ้าทุกคนใช้ชีวิตปกติ จะมีโอกาสติดเชื้อได้ และสิ่งที่ทำมาทั้งหมดตอนนี้จะกลายเป็นศูนย์ ดังนั้น จะกลับไปใช้ชีวิตปกติได้ ต่อเมื่อมียารักษาให้หาย และต้องมีวัคซีน"

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน

“ตอนนี้หลายคนถามว่าทำไมถึงกลับไปใช้วิถีชีวิตเดิม ปกติแบบเดิมไม่ได้ ทำไมต้องเรียนรู้วิถีชีวิตใหม่ เมื่อตัวเลขผู้ติดเชื้อน้อยลง ซึ่งขอนำเรียนว่าสภาวะการของการเกิดโรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจ แพร่กระจายผ่านตัวไวรัส น้ำมูก น้ำลาย และคนที่ติดเชื้อส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงานที่ไม่ได้แสดงอาการ ไม่มีใครรู้ว่าใครติดเชื้อบ้าง ถ้าทุกคนใช้ชีวิตปกติ จะมีโอกาสติดเชื้อได้ และสิ่งที่ทำมาทั้งหมดตอนนี้จะกลายเป็นศูนย์ ดังนั้น จะกลับไปใช้ชีวิตปกติได้ ต่อเมื่อมียารักษาให้หาย และต้องมีวัคซีน ” นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าว